ชีวิตส่วนตัวและบทบาททางสังคม ของ ชิน_โสภณพนิช

ชีวิตส่วนตัว นายชินสมรส 2 ครั้ง ครั้งแรกกับนางเล่ากุ่ยเอ็ง (劉桂英) ชาวจีน มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 2 คน คือ

  1. นายระบิล โสภณพนิช (Robin Chan: ตั้งอู๋เข่ง : 陳有慶) ปัจจุบันถือสัญชาติฮ่องกง และพำนักอยู่ที่เขตปกครองตนเองพิเศษฮ่องกง สมรสกับนางซิ่ม ซี้ฮุง (沈時芬) มีบุตรคือ
    • นายสตีเฟน ตัน (Stephen Tan: ตั้งตี่บุ๊ง: 陳智文)
    • นายชาญวุฒิ โสภณพนิช (Bernard Chan: ตั้งตี่ซือ: 陳智思) สมาชิกสภาบริหารงานของฮ่องกง ปัจจุบันถือสัญชาติฮ่องกง
  2. นายชาตรี โสภณพนิช เสียชีวิต วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2561 (ตั้งอู๋ฮั้ง: 陳有漢) มีบุตรชายคือ

นายชินสมรสครั้งที่ 2 กับนางบุญศรี โสภณพนิช (เอี๊ยบุ่งลี้: 姚文莉) มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 7 คน อาทิ

  1. นายโชติ โสภณพนิช (ตั้งย่งเกี๋ยง: 陳永建) สมรสกับ คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช (เล้งอ้วงฮง: 龍宛虹)
  2. นายหมวดตรีชัย โสภณพนิช (ตั้งย่งเต็ก: 陳永德)
  3. คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช (ตั้งหงเล้ง: 陳鳳翎)
  4. นายเชิดชู โสภณพานิช

ชีวิตของนายชิน เป็นที่รับรู้และยอมรับจากสังคมทั่วไปว่า เป็นผู้สร้างฐานะตนเองจากเสื่อผืนหมอนใบ จนเป็นตำนานของนักธุรกิจในประเทศไทยเป็นที่กล่าวขานกันมาจนปัจจุบัน

ซึ่งนายชินมีแซ่ตั้ง มีชื่อเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วว่า "ตั้งเพียกชิ้ง" (อักษรจีน: 陳弼臣) ซึ่งคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนไม่น้อยนิยมเรียกนายชินในชื่อนี้

ในทางสังคม ได้ก่อตั้ง มูลนิธิชิน โสภณพนิช ขึ้น รวมทั้งได้อนุเคราะห์หลายองค์การ หลายกิจการในสังคมด้วย อาทิ เช่น มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ซึ่งเจ้าของโรงเรียนเซนต์จอห์น เคยกล่าวว่า ถ้าไม่มีนายชิน ก็คงไม่มีเซนต์จอห์นในวันนี้ ในปี พ.ศ. 2523 นายชิน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)

นอกจากนี้แล้วในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา นายชินยังได้เข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทยด้วย โดยสังกัดอยู่ในสายของ พล.ต.หลวงสังวรยุทธกิจ มีหน้าที่จัดส่งเสบียงและให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ จนถูกทหารญี่ปุ่นจับขังคุกมาแล้ว[1]

นายชิน โสภณพนิช เริ่มผ่องถ่ายกิจการให้แก่นายชาตรี บุตรชายคนที่ 2 ในปี พ.ศ. 2520 และถึงแก่กรรมในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2531 ด้วยโรคหัวใจและโรคไต ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานโกศแปดเหลี่ยม ฉัตรเบญจา ตั้งประดับเกียรติยศ ปี่ กลองชนะ ประโคมเวลาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเวลากลางคืน กำหนด 3 คืน รวมทั้งได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2531[2]