นักธุรกิจ ของ ชิน_โสภณพนิช

นายชิน เริ่มต้นอาชีพครั้งแรกด้วยการเป็นลูกจ้างในเรือโยงบรรทุกสินค้าทางการเกษตร ขึ้นล่องระหว่าง กรุงเทพ - อยุธยา จากนั้นจึงได้เปลี่ยนเป็นเสมียนของโรงไม้แห่งหนึ่งซึ่งเจ้าของก็คือนายเจียม ชัยเกียรติ ด้วยความที่นายชินเป็นคนเอาการเอางาน เรียนรู้ได้เร็ว ประกอบกับเป็นคนมีอัธยาศรัยดี นายเจียมจึงสอนการทำบัญชีให้แก่นายชิน รวมทั้งให้เป็นคนติดต่อลูกค้าให้ด้วย นายชินทำงานอยู่ที่นี่เป็นเวลา 3 ปี เมื่ออายุได้ 20 ปี นายเจียมได้ขยายกิจการ โดยไปเปิดร้านใหม่ จึงยกสาขาเดิมนี้ให้แก่นายชิน โดยยกตำแหน่งผู้จัดการให้แก่นายชินแต่หลังจากนี้กิจการของนายชินประสบปัญหา และเกิดไฟไหม้ ทำให้ต้องปิดกิจการลง

หลังจากนี้ นายชินได้เดินทางกลับสู่ประเทศจีนอีกครั้ง และได้ร่วมทำกิจการการเดินเรือระหว่างซัวเถากับเซี่ยงไฮ้ กับนักธุรกิจท้องถิ่น ซึ่งก็ไม่ประสบความสำเร็จอีก ต่อมา นายชินได้กลับสู่ประเทศไทย จะได้รับการชักชวนจากนายแต้เก๋ง ฮุ้ง เจ้าของบริษัท เซียม เฮง ล้ง ซึ่งเป็นธุรกิจค้าขายวัสดุก่อสร้าง นายชินจึงตัดสินใจเข้าทำงานที่นี่ในปี พ.ศ. 2482 ซึ่งธุรกิจค้าขายวัสดุก่อสร้างนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากกล่าวกันว่าในครั้งนั้น ใครจะก่อสร้างอะไรทั้งภาครัฐและเอกชนก็ต้องมาซื้อของที่ เซียม เฮง ล้ง 

จากนั้น นายชินจึงตัดสินใจเก็บรวบรวมเงินทั้งหมด เปิดร้านขายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างของตัวเอง แถวโรงภาพยนตร์พัฒนาการ ถนนเจริญกรุง และประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่นาน จึงจดทะเบียนเป็นบริษัท เอเซีย จำกัด สินค้าที่ขายส่วนใหญ่เป็นเหล็ก ด้วยอายุเพียง 29 ปี ซึ่งสถานการในขณะนั้น รัฐบาลมีนโนบายส่งเสริมการค้าขายของคนไทย บริษัทของนายชินประสบความสำเร็จอย่างดี จึงขยายกิจการออกไปอีก 2 บริษัท เป็นบริษัทค้าขายเครื่องเขียน และขายเครื่องกระป๋อง

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ต้องมีการก่อสร้างซ่อมแซมสถานที่ต่าง ๆ ที่ปรักหักพัง นายชินจึงชักชวนเพื่อนพ่อค้าอีก 15 คน ร่วมหุ้นก่อตั้งบริษัท มหกิจ ขึ้นในปี พ.ศ. 2488 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โดยที่นายชินเป็นหนึ่งในสามของผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก จากนั้นนายชินจึงได้เริ่มทำกิจการใหม่ ๆ หลายอย่าง เช่น ค้าทองคำ ค้าข้าว และธุรกิจห้างสรรพสินค้า

ในปี พ.ศ. 2487 นายชิน ขณะที่มีอายุเพียง 34 ปี ได้รับการชักชวนจากเพื่อนฝูง 15 คน ร่วมหุ้นก่อตั้งธนาคารกรุงเทพขึ้น ในเดือนธันวาคม ธนาคารกรุงเทพสาขาแรกเป็นเพียงห้องแถวคูหาเล็ก ๆ 2 คูหา 2 ชั้น เลขที่ 235-237 ถนนราชวงศ์ ย่านสำเพ็ง โดยมีนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธานในพิธีเปิด ในเวลาบ่าย 2 โมง มีพนักงานในระยะแรก 23 คน มีพ่อค้าวานิชต่าง ๆ ให้ความไว้วางใจนำเงินมาฝากในวันแรกที่เปิดกิจการถึง 9 ล้านบาท ซึ่งนับว่าสูงมาก นายชินเริ่มงานที่ธนาคารกรุงเทพด้วยการเป็นคอมประโดร์ (นายหน้า) หาลูกค้า และพิจารณาการออกเงินกู้ ซึ่งการทำหน้าที่ของนายชินสามารถทำกำไรให้แก่ธนาคารอย่างมาก โดยในกลางปี พ.ศ. 2488 ยอดเงินฝากของธนาคารกรุงเทพ มีจำนวนทั้งสิ้น 10.2 ล้านบาท แต่เมื่อนายชินเข้ามาทำหน้าที่นี้ยอดเงินเพิ่มขึ้นเป็น 18.5 ล้านบาท ในปลายปี [1]จากนั้น กิจการธนาคารกรุงเทพได้เจริญเติบโตเป็นลำดับ และเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทยที่มีสาขาเปิดในต่างประเทศ ในปี พ.ศ. 2495 นายชินได้ขึ้นผู้จัดการธนาคารและครอบครองตำแหน่งได้นานที่สุดถึง 25 ปี ในระหว่างปี พ.ศ. 2495 - พ.ศ. 2520 และเป็นที่รู้จักอย่างมากในแวดวงธุรกิจและสังคม และได้ร่วมงานกับนักธุรกิจชั้นแนวหน้ามากมายในประเทศไทย เช่น นายบุญชู โรจนเสถียร, นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์, เป็นต้น