เกร็ดน่ารู้ ของ ชี่นโล่น

สนามชี่นโล่น

ชี่นโล่นในภาษาพม่าแปลว่า "ตะกร้ากลม" ลูกชี่นโล่นสานจากหวายจากธรรมชาติ เมื่อถูกกระทบด้วยส่วนต่าง ๆ ของร่างกายถือเป็นเสน่ห์งดงามอย่างหนึ่งของชี่นโล่น

นักชี่นโล่นส่วนใหญ่เล่นด้วยเท้าเปล่า แม้ในระยะหลังจะมีรองเท้าชี่นโล่นโดยเฉพาะ (ทำด้วยผ้าหรือหนังที่บางเบาและยืดหยุ่นโค้งงอได้ดี สำหรับเล่นท่าทางได้หลากหลายมากกว่ารองเท้ากีฬาทั่วไป) แต่ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก โดยเฉพาะนักชี่นโล่นฝีเท้าเลิศยังลังเลใจที่จะใช้รองเท้า เนื่องจากทำให้ศักยภาพการเล่นด้อยลงไป

สนามขนาดวงมาตรฐานมีความเส้นผ่าศูนย์กลาง 6.7 เมตร (22 ฟุต) พื้นผิวที่ดีที่สุดสำหรับการเล่นชี่นโล่นคือพื้นดินเหนียวนุ่มและแห้ง แต่โดยปกติแล้วสามารถเล่นบนพื้นใด ๆ ก็ได้ที่มีความราบเรียบเพียงพอ

ชาวพม่านิยมจัดให้มีการเล่นชี่นโล่นในเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งจะมีวงชี่นโล่นเข้าร่วมมากมาย มีโฆษกคอยพากย์ชื่อท่าที่เล่นและให้ความบันเทิงผู้ชมด้วยถ้อยคำหยอกล้อสนุกสนาน มีดนตรีปี่พาทย์หรือวงมโหรีบรรเลงประกอบทำให้เกิดความเร้าใจแก่ผู้เล่นและผู้ชม

ทั้งผู้ชายผู้หญิง เด็กและผู้ใหญ่ มักจะเล่นชี่นโล่นวงเดียวกันได้เป็นปกติ แต่นอกเหนือจากการเล่นแบบวง ซึ่งเรียกว่า "เวนกะ" (wein kat) แล้วยังมีการแสดงเดี่ยวโดยไม่มีวงประกอบ เรียกว่า "ตะปานไดง์" (tapandaing) ที่ตามธรรมเนียมแล้วแสดงโดยผู้หญิงเท่านั้น

การจะเล่นชี่นโล่นวงได้ดีนั้นสมาชิกในวงทั้งหมดต้องจดจ่ออยู่กับปัจจุบันขณะนั้น จิตใจไม่อาจวอกแวกไปไหนไม่เช่นนั้นลูกชี่นโล่นจะตก ประสบการณ์สงบนิ่งและเข้มข้นของจิตใจเช่นนี้ บางคนเปรียบเทียบว่าคล้ายกับการได้สมาธิในทางพุทธศาสนา

ชี่นโล่นเป็นการละเล่นหนึ่งในตระกูลเกมบอลซึ่งเล่นกันทั่วโลก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเกมที่คล้ายคลึงกัน เช่น ตะกร้อวงในไทย เซปักรากาในมาเลเซีย ซีปาในฟิลิปปินส์ กะต้อในลาว เป็นต้น

ใกล้เคียง