ชื่อแบบดั้งเดิมและชื่อแบบตะวันตก ของ ชื่อบุคคลพม่า

ชื่อภาษาพม่าแบบดั้งเดิมนั้นมักมีพยางค์เดียว เช่น อู้นุ, อู้ตั่น (คำว่า "อู้" เป็นคำนำหน้าชื่อ) แต่เมื่อถึงช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ชาวพม่าจำนวนมากเริ่มใช้ชื่อแบบ 2 พยางค์ แม้ว่าจะปราศจากรูปแบบและโครงสร้างของชื่อที่แน่นอนนัก ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1890 นักปราชญ์ชาวบริเตนสังเกตพบว่า ชาวยะไข่นิยมใช้ชื่อแบบ 3 พยางค์ ในขณะที่ชาวพม่ายังคงใช้ชื่อพยางค์เดียว หรืออย่างมากที่สุดก็เพียง 2 พยางค์เท่านั้น[2] เมื่อชาวพม่ามีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมแบบตะวันตกมากขึ้น พวกเขาก็ค่อย ๆ เพิ่มจำนวนพยางค์ลงในชื่อลูกหลานของตนเองโดยใช้โครงสร้างคำหลากหลายแบบ ปัจจุบันนี้ ชื่อจำนวนสี่พยางค์นั้นเป็นที่นิยมในหมู่บุรุษชาวพม่า สำหรับสตรีชาวพม่านั้น จำนวนพยางค์ชื่ออาจมีได้มากถึง 5 พยางด์

นักปราชญ์จำนวนมาก เช่น ตั่นมหยิ่นอู้ ได้แสดงความเห็นคัดค้านว่า การที่ชื่อของชาวพม่ามีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการล่มสลายของระบอบราชาธิปไตยของพม่า ซึ่งนำไปสู่การสิ้นสุดของระบบการตั้งชื่อแบบภาษาบาลี-พม่า ทำให้ชาวพม่าส่วนมากใช้ชื่อเพียงพยางค์เดียว[3] ชื่อตำแหน่งต่าง ๆ ในอดีต เช่นคำว่า มี่น (မင်း; "กษัตริย์, ผู้นำ") ได้ถูกนำมาปรับใช้ให้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อตัวโดยตรงแทน[3]

กรณีตัวอย่างของระบบการตั้งชื่อของชาวพม่าในที่นี้ได้แก่ อองซาน นักชาตินิยมชาวพม่า มีบิดาชื่อ "พา" (ဖာ) มารดาซื่อ "ซู" (စု) ทั้งสองคนล้วนใช้ชื่อเพียงพยางค์เดียว ชื่อเมื่อแรกเกิดของอองซานคือ "เทนลี่น" (ထိန်လင်း) ภายหลังจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "อองซาน" (အောင်ဆန်း) ธิดาเพียงคนเดียวของเขาชื่อ อองซานซูจี (အောင်ဆန်းစုကြည်) คำว่า "อองซาน" ในตอนต้นของชื่อนั้นมาจากชื่อบิดาของเธอในตอนที่เธอเกิด "ซู" มาจากชื่อของย่า "จี" มาจากชื่อ "คีนจี" (ခင်ကြည်) ผู้เป็นมารดาของเธอ การแทรกชื่อของบิดาหรือมารดาลงในชื่อตัวนั้นสามารถพบได้บ่อยครั้งในปัจจุบัน แม้นั่นจะไม่ได้แสดงถึงพัฒนาการในการใช้นามสกุลก็ตาม นอกจากนี้ ก็ยังมีการใช้ระบบการตั้งชื่อแบบอื่น ๆ อยู่ด้วยเช่นกัน

ชื่อของบุคคลชนชาติพม่าโดยทั่วไปแล้วมักจะปรากฏคำที่มาจากภาษาบาลีผสมกับคำพื้นถิ่นภาษาพม่า เช่น:

  • บุรุษ:
    • ตูระ (သူရ) "กล้าหาญ, องอาจ" มาจากคำว่า สูร (สุระ)
    • ตีฮะ (သီဟ) "ราชสีห์", มาจากคำว่า สีห (สีหะ)
    • เซยะ (ဇေယျာ) "ชัยชนะ", มาจากคำว่า เชยฺย (ไชยยะ)
    • วูนนะ (ဝဏ္ဏ) "ทองคำ", มาจากคำว่า วณฺณ (วัณณะ, วรรณะ)
  • สตรี:
    • ซานดา (စန္ဒာ) "ดวงจันทร์", มาจากคำว่า จนฺท (จันทะ)
    • ตานดา (သန္တာ) "หินปะการัง", มาจากคำว่า สนฺตา (สันตา)
    • ตีริ (သီရိ) "ความดีงาม", มาจากคำว่า สิริ
    • เฮมา (ဟေမာ) "ป่า", มาจากคำว่า เหมา (/เห-มา/) เป็นการเปรียบเทียบกับความงามของป่าหิมพานต์หรือภูเขาหิมาลัย

ชาวพม่าที่แต่งงานกับชาวต่างชาติหรือย้ายไปอาศัยในประเทศที่การใช้นามสกุล อาจใช้ชื่อตัวเพียงส่วนหนึ่งแทนนามสกุลตามแบบธรรมเนียมตะวันตก เช่น ภรรยาของบุรุษชื่อ "ตูน-มหยิ่น" (Tun Myint) ได้เปลี่ยนนามสกุลเดิมของตนเองเป็น "มหยิ่น" แต่ความจริงแล้วคำว่า "มหยิ่น" เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชื่อตัวของสามี