ประวัติและงานศิลปะ ของ ช่วง_มูลพินิจ

ช่วง มูลพินิจ เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงชาวไทย เกิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2483 ที่อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ปัจจุบัน ช่วง มูลพินิจ พำนักอยู่ที่ย่านบางกะปิ ชีวิตครอบครัวสมรสกับ จินดารัตน์ ผู้เป็นภริยา มีบุตรสาวด้วยกันทั้งหมดหนึ่งคน และมีหอศิลป์ที่แสดงผลงานเป็นของตนเองชื่อ "หอศิลป์ช่วง มูลพินิจ" ที่บ้านของตนเอง [1]

การศึกษา

จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดบางน้อย ชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดกลางเหนือ สากลวิสุทธิ์ ด้วยความที่เป็นเด็กโรงเรียนวัด จึงทำให้มีความชื่นชอบในศิลปะแนวประติมากรรม จึงเข้ามาศึกษาด้านศิลปะที่กรุงเทพมหานคร ที่โรงเรียนศิลปศึกษา และเข้าศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ขณะเรียนก็ทำงานรับจ้างทำฉากภาพยนตร์ เขียนภาพฝาผนัง และงานศิลป์ต่างๆ จนจบอนุปริญญา [2]

งานศิลปะ

งานของช่วงในระยะแรกเริ่มเป็นภาพลายเส้น ที่ประยุกต์ความอ่อนช้อยของลายไทย เข้ากับรูปทรงแบบเหมือนจริงได้อย่างกลมกลืน ต่อมาจึงได้พัฒนามาใช้เทคนิคสีน้ำและสีน้ำมัน ส่วนใหญ่แสดงถึงเรื่องราวของดอกไม้ แมลง สัตว์ มนุษย์ ทั้งในแง่อีโรติก จนกระทั่งถึงนัยการมองเห็นในวัฏสงสารของชีวิต เป็นการผนึกเรื่องราวทางอุดมคติกับธรรมชาติเข้าไว้ด้วยกันอย่างงดงาม แนบเนียน ลงตัว

นอกจากนั้น ยังมีผลงานออกแบบและปั้นเกี่ยวกับศาสนาอีกหลายชิ้น เช่น ออกแบบและปั้นพระพุทธรูปยืนลีลาห้ามญาติ "พระพุทธอภัยมงคลสมังคี" ที่สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช ทรงสร้างถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อนำไปพระราชทานแก่ทุกจังหวัดในวโรกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ได้ออกแบบ และควบคุมการตกแต่งพระมหาเจดีย์ วัดธรรมมงคล ที่ซอยสุขุมวิท 101 และวาดภาพสีน้ำมันขนาดใหญ่ 8 ภาพเป็นภาพปริศนาธรรมภายในวัด เป็นต้น[3]

ผลงานที่รู้จักกันดีอีกอย่างหนึ่งคือ การออกแบบตัวหนังสือชื่อเรื่องและโปสเตอร์ภาพยนตร์ไทยในแนววรรณคดีหรือนิทานพื้นบ้านของไทย เช่น แผลเก่า, เลือดสุพรรณ, เพื่อน-แพง, ไกรทอง, กากี ซึ่งภาพโปสเตอร์เรื่อง เพื่อน-แพง ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในโปสเตอร์ที่งามที่สุดในโลกในการส่งเข้าประกวด ที่สถาบันโรงภาพยนตร์แห่งชาติ กรุงลอนดอน เมื่อปี พ.ศ. 2526

การทำงาน

เริ่มต้นทำงานที่ศูนย์ออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ตำแหน่งออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องเขิน ระหว่างการทำงานอยู่ ที่นี่ได้รับการชักชวนจากสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ให้มาเขียนภาพลายเส้นประกอบ หนังสือสยามสมัย ต่อมาได้เขียนภาพประดับในหนังสือและนิตยสารต่าง ๆ เช่น ช่อฟ้า, ชาวกรุง, เฟื่องนคร และสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ จนเริ่มเป็นที่รู้จักด้วยผลงานเขียนลายเส้นแบบฟรีแฮนด์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมถึงได้เขียนลายเส้นที่หน้าปกหนังสือ เสเพลบอยชาวไร่ ของ’รงค์ วงษ์สวรรค์ และหน้าปกหนังสือ กามนิต วาสิฏฐี ด้วย

จากนั้นได้ลาออกจากกระทรวงอุตสาหกรรมหลังจากทำอยู่ 9 ปี เพื่อเริ่มงานใหม่ ที่บริษัทโฆษณาอีก 3 ปี และหลังจากนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นศิลปินอิสระแบบเต็มตัว


ใกล้เคียง

ช่วง ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม ช่วงอายุไพลสโตซีนตอนปลาย ช่วงเวลาในมักกะฮ์ ช่วงช่วง ช่วง มูลพินิจ ช่วงอายุชิบาเนียน ช่วงอายุปีอาเซนเซียน ช่วงอายุเมฆาลายัน ช่วงอายุซานเคลียน