กำเนิด ของ ซนโนโจอิ

คำขวัญ "ซนโนโจอิ" (ในรูปอักษรคันจิเขียน 尊王攘夷 หรือ 尊皇攘夷 เสียงภาษาจีนกลางคือ ซุนหวังหรั่งอี้ zūnwáng rǎngyí) มีจุดกำเนิดในจีนสมัยโบราณจากฉีหวนกง ผู้ปกครองแคว้นฉีในยุคชุนชิว ในสมัยนั้นราชวงศ์โจวได้สูญเสียอำนาจการควบคุมแว่นแคว้นศักดินาหลายแห่งและเผชิญกับการรุกรานของชนต่างชาติบ่อยครั้ง ฉีหวนกงได้เริ่มใช้คำขวัญดังกล่าวอย่างเปิดเผยเพื่อเรียกร้องให้บรรดาเจ้าแคว้นศักดินาอื่นๆ เคารพยำเกรงต่อราชวงศ์โจว ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้วฉีหวนกงเองก็เคยใช้อำนาจของตนครอบงำแคว้นศักดินาอื่นและเมินเฉยต่ออำนาจสูงสุดของราชสำนักโจวก็ตาม

ในประเทศญี่ปุ่น ปรัชญาดังกล่าวสามารถสืบหาร่องรอยได้จากงานเขียนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ของยะมะซะกิ อันไซ และยะมะงะ โซะโก บัณฑิตในลัทธิขงจื้อ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของราชวงศ์จักรพรรดิญี่ปุ่นและฐานะอันสูงส่งของราชวงศ์ในการปกครองชนชาติอื่น แนวคิดดังกล่าวได้รับการขยายโดยโมะโตะโอะริ โนะรินะกะ บัณฑิตแห่งสำนักคิด "โคะคุกะคุ" (國學/国学; "การศึกษาเกี่ยวกับชาติ") และพบได้ในทฤษฎี "ซนโนรง" (尊皇論 sonnōron) ของทะเกะโนะอุชิ ชิคิบุ ซึ่งว่าด้วยความจงรักภักดีอย่างสูงสุดต่อจักรพรรดิ ซึ่งบอกเป็นนัยว่าผู้ที่มีความจงรักภักดีน้อยนั้นควรยกให้รัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะเป็นผู้ปกครอง

ไอสะวะ เซชิไซ บัณฑิตชาวแคว้นมิโตะ ได้เริ่มนำวลี "ซนโนโจอิ" เข้ามาใช้ในญี่ปุ่นสมัยใหม่ผ่านงานเขียนของตนชื่อ "ชินรง" ในปี ค.ศ. 1825 โดยที่คำว่า "ซนโน" หมายถึง แสดงออกต่อความเคารพนับถือของรัฐบาลโชกุนที่มีต่อองค์จักรพรรดิ และ "โจอิ" หมายถึงการประณามต่อต้านศาสนาคริสต์