ความเป็นมาของจั้งซอและซอถ้อง ของ ซอ_(การร้อง)

“คู่ถ้อง” คำว่าถองนั้นหมายถึง การตอบโต้ ถามไถ่ หรือสนทนาแลกเปลี่ยนคำพูดกันระหว่างชายหญิง ส่วน“จั้งซอ” คือผู้ที่มีความชำนาญในการขับซอ

ธรรมเนียมของคนล้านนานั้น หากว่าเป็นลูกผู้หญิง เมื่อลูกหลานเรียนจบชั้นประถม เมื่อไม่ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านหรือดูแลน้อง ๆ แล้ว พ่อแม่ก็อาจจะนำไปฝากฝังกับครูซอที่ชอบพอกัน เพื่อให้ลูกหลานของตนเองนั้นร่ำเรียนวิชาซอ ผู้จะเป็นจั้งซอ จะต้องไปเรียนวิชาซอที่เรียกกันว่า “ไปตั้งขันเฮียนซอ” จากจั้งซอที่มีชื่อเสียง หรือจั้งซอที่ตนเองนิยมชมชอบนั้นเอง โดยมากในสมัยก่อนจำต้องไปอาศัยอยู่กับครูซอเสียเลย ไปปรนนิบัติวัฏฐาก ตั้งแต่ ตักน้ำ ซักผ้า ถูเรือน หุงข้าว ทำอาหาร ตามประเพณีอันเป็นธรรมเนียมระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์ เมื่ออาจารย์ถ่ายทอดวิชาให้ ก็จะต้องหมั่นฝึกฝนท่องจำ และเมื่อพอมีความสามารถในเชิงซอบ้างพอสมควร ก็จะต้องติดตามครูไปทุกหนทุกแห่งที่ครูไปลงผามซอ ซึ้งจะต้องคอยไปดูลีลาท่าทางของครู เพื่อที่จะได้นำมาใช้กับตนเองเมื่อยามที่เจนจบวิชาซอ และออกผามในโอกาสต่อไป อีกทั้งการที่ได้ออกไปสัมผัสผามซอนั้น ช่วยให้เกิดความเคยชินจะได้ไม่เกิดความประหม่าเมื่ออกผามใหม่ ๆ