ซาซิท็อกซิน
ซาซิท็อกซิน

ซาซิท็อกซิน

ซาซิท็อกซิน (อังกฤษ: saxitoxin, ย่อ STX) เป็นสารแอลคาลอยด์ที่มีสูตรเคมีคือ C10H17N7O4 มีมวลโมเลกุล 299.29 ละลายในน้ำ เมทานอลและเอทานอล แต่ไม่ละลายในตัวทำละลายอินทรีย์ ตรวจพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1957 และสกัดได้ครั้งแรกจากหอยสกุล Saxidomus ซึ่งอยู่ในชั้นไบวาลเวียหรือหอยสองฝา[1]ซาซิท็อกซินเป็นสารพิษต่อระบบประสาทที่พบในไดโนแฟลกเจลเลตน้ำเค็ม (สกุล Alexandrium, Gymnodinium, Pyrodinium) และไซยาโนแบคทีเรียน้ำจืด (สกุล Anabaena, Aphanizomenon, Cylindrospermopsis)[2][3] เมื่อสัตว์น้ำ เช่น ปลาปักเป้าหรือปลาทิลาเพียกินสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เข้าไปจะสะสมพิษในตัว และเมื่อมนุษย์รับประทานปลาที่มีพิษจะก่อให้เกิดอาการที่เรียกว่า พิษอัมพาตจากปลาปักเป้า (paralytic shellfish poisoning) ซาซิท็อกซินส่งผลต่อระบบประสาทเช่นเดียวกับเตโตรโดท็อกซินคือ ยับยั้งการส่งผ่านไอออนโซเดียมผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ ทำให้ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ชาที่ใบหน้าและลำคอ กลืนลำบาก พูดจาติดขัด ในรายที่มีอาการร้ายแรงอาจเป็นอัมพาตและเสียชีวิตจากภาวะระบบหายใจล้มเหลวใน 2-12 ชั่วโมง[4] ซาซิท็อกซินเป็นสารพิษที่มีแอลดี 50 ในหนู (ทางปาก) 263 ไมโครกรัม/กิโลกรัม[5] มีพิษร้ายแรงกว่าไซยาไนด์ นอกจากนี้ยังทนต่อความร้อนและยังไม่มียาต้านพิษ[6]เนื่องจากเป็นสารพิษร้ายแรง จึงความพยายามในการนำซาซิท็อกซินมาใช้เป็นอาวุธชีวภาพ ในปี ค.ศ. 1943 กองทัพสหรัฐจัดตั้งโครงการพัฒนาสารพิษหลายชนิด เช่น ซาซิท็อกซิน, ชีวพิษโบทูลินัม และแอนแทรกซ์เป็นอาวุธชีวภาพ[7] แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1969 ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันประกาศยกเลิกโครงการและสั่งทำลายอาุวธทั้งหมด[8] อย่างไรก็ตาม มีการเปิดเผยภายหลังว่ากองทัพสหรัฐไม่ได้ทำลายอาวุธชีวภาพซาซิท็อกซินทั้งหมด[9] ซาซิท็อกซินมีชื่อเรียกทางทหารว่า Agent TZ และเป็นอาวุธเคมีประเภท 1 ตามอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมี[10]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ซาซิท็อกซิน http://www.chemspider.com/34106 http://citeseerx.ist.psu.edu/viewdoc/download?doi=... http://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/summary/summary.cg... //www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/10485519 http://www.genome.ad.jp/dbget-bin/www_bget?cpd:C13... http://www.aarclibrary.org/publib/church/reports/v... //doi.org/10.1080%2F20026491051695 http://archive.rubicon-foundation.org/2314 http://www.ebi.ac.uk/chebi/searchId.do?chebiId=CHE... https://www.labor-spiez.ch/pdf/en/dok/fas/fact_she...