ในวงการเพลง ของ ซาร์ด

ซาร์ดเริ่มเข้าวงการครั้งแรกใน พ.ศ. 2534 จากการที่ซีอีโอของเครือบีอิ้ง ไดโก นางาโตะ (เกษียณเมื่อ พ.ศ. 2550) ได้รับนางแบบ ซะจิโกะ คะมะจิ (ญี่ปุ่น: 蒲池幸子 โรมาจิKamachi Sachiko) วัย 24 ปีเข้าร่วมงาน โดยหลังจากนั้นเธอเปลี่ยนชื่อเป็น อิซุมิ ซะกะอิ (ญี่ปุ่น: 坂井泉水 โรมาจิSakai Izumi) เพื่อตัดประสบการณ์ในอดีต เธอได้ก่อตั้งวงซาร์ดขึ้นมา และได้ออกซิงเกิล กูด-บายมายโลนลีเนส (Good-bye My Loneliness) เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ในขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของสมาชิกร่วมวง เพลงนี้ได้นำไปประกอบละครโทรทัศน์ของฟูจิทีวี ที่ชื่อ เก็กกงโนะริโซโตะเก็งจิสึ (ญี่ปุ่น: 結婚の理想と現実 โรมาจิKekkon no risou to genjitsu) ที่นำแสดงโดยมิซาโอะ ทานากะ เพลงนี้ประสบความสำเร็จมากและขึ้นถึงอันดับ 9 ในชาร์ตโอริคอน

ซาร์ดทำยอดขายในสองซิงเกิลต่อมาได้ไม่ดีนัก จนมาถึงซิงเกิลที่สี่ เนะมุเรไนโยะรุโวะไดเตะ (ญี่ปุ่น: 眠れない夜を抱いて โรมาจิNemurenai Yoru wo Daite) ที่แนวเพลงเริ่มแตกต่างจากสามซิงเกิลแรก เนื่องจากการที่เพลงนี้เป็นเพลงแนวร็อก ทำให้เพลงเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ในมิวสิกวีดิโอภาพ ที่เดิมดูมืดในมิวสิกวิดีโอก่อน ๆ ก็เริ่มสว่างมากขึ้น เพลงนี้ทำยอดขายไปได้ประมาณ 440,000 ชุด และทำให้ซาร์ดปรากฏตัวทางโทรทัศน์หลายครั้ง ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งของการปรากฏตัวทางโทรทัศน์อย่างเป็นทางการของซาร์ด ล้วนมีการร้องเพลงนี้ทั้งสิ้น ในการปรากฏตัวครั้งหนึ่ง คะซุโยะชิ โมริตะ (เรียกสั้น ๆ ว่า "ทาโมริ") พิธีกรรายการมิวสิกสเตชัน ซึ่งเป็นรายการร้องเพลงสดทางโทรทัศน์ของนักร้องในประเทศญี่ปุ่น ได้ถามซะกะอิว่าเหตุใดจึงใช้เวลานานกว่าจะได้มาปรากฏตัวในรายการ เธอตอบว่าเพื่อให้ยอดขายอัลบั้มประสบผลสำเร็จ เธอจึงไม่อยากมาปรากฏตัวเพื่อโปรโมตเพลงของเธอก่อนกำหนดวางขายซิงเกิลของ ซาร์ด

จุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดในวงการเพลงของซาร์ดคือซิงเกิลใน พ.ศ. 2536 ด้วยซิงเกิล มะเกะไนเดะ (ญี่ปุ่น: 負けないで โรมาจิMakenaide) ซึ่งเพลงนี้ถูกนำไปใช้ในละครโทรทัศน์ญี่ปุ่นเรื่อง เรโกะ ฉันนั้นหรือสวย เฉียบ เนี้ยบ และเนื่องจากช่วงนั้นเป็นช่วงที่ตลาดหุ้น Nikkei 225 ตกต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี เพลงนี้จึงกลายเป็นเพลงที่ได้รับความรู้จักอย่างรวดเร็วในฐานะเพลงประจำยุค เศรษฐกิจตกต่ำ เพลงนี้ขึ้นสู่อันดับ 1 ของชาร์ตโอริคอนเป็นครั้งแรก ด้วยยอดขายกว่า 1.6 ล้านก๊อปปี้ ไม่เพียงเท่านั้น เพลงนี้ยังถูกนำไปใช้เป็นเพลงประกอบรายการพิเศษ 24 ชั่วโมงของนิปปอนเทเลวิชัน ซึ่งเป็นรายการประจำปีที่พิธีกรที่มีชื่อเสียงจะจัดรายการตลอดทั้งวัน ในปีเดียวกันซาร์ดออกซิงเกิลอีก 4 ซิงเกิลโดยมี 2 ซิงเกิลติดอันดับหนึ่งของชาร์ต คือ ยุเระรุโอะโมะอิ (ญี่ปุ่น: 揺れる想い โรมาจิYureru Omoi) และ คิตโตะวะซุเระไน (ญี่ปุ่น: きっと忘れない โรมาจิ Kitto Wasurenai) ก่อนที่เธอจะออกอัลบั้มยุเรรุโอะโมะอิ ที่มีทั้งเพลงมะเกะไนเดะและยุเระรุโอะโมะอิ อัลบั้มนี้ทำยอดขายได้ถึง 2 ล้านชุด ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ซาร์ดทำยอดขายได้ถึงล้านชุด และอัลบั้มนี้ยังเป็นอัลบั้มที่มียอดขายสูงสุดประจำปี พ.ศ. 2536 อีกด้วย

ใน พ.ศ. 2538 ซิงเกิล มายเฟรนด์ เป็นซิงเกิลที่สองของซาร์ดที่ทำยอดขายรวมได้มากกว่า 1 ล้านชุด โดยรวมแล้วตั้งแต่ซาร์ดเข้าวงการจนถึงปัจจุบัน ซาร์ดมีซิงเกิลทั้งสิ้น 11 ซิงเกิลที่ขึ้นถึงอันดับหนึ่งบนชาร์ตโอริคอน และสตูดิโออัลบั้มจำนวน 6 อัลบั้มที่ขึ้นถึงอันดับหนึ่ง นั่นคือตั้งแต่อัลบั้มยุเระรุโอะโมะอิ โอมายเลิฟ (Oh My Love) ซึ่งเป็นอัลบั้มอันดับหนึ่งลำดับที่ 500 ตั้งแต่มีการจัดอันดับชาร์ตโอริคอน จนถึงอัลบั้ม โทคิโนะสึบาสะ (ญี่ปุ่น: 時間(とき)の翼 โรมาจิToki No Tsubasa ทับศัพท์Wings of Time, ปีกแห่งเวลา) ก่อนที่จะมาร่วงในอัลบั้มที่ 10 โทมัตเตอิตา โทเคอิกาอิมาอุโกคิดาชิตา (ญี่ปุ่น: 止まっていた時計が今動き出した โรมาจิTomatteita Tokei ga Ima Ugokidashita) ซึ่งทำอันดับได้สูงสุดอันดับ 2

ซาร์ดเป็นนักแต่งคำร้องที่มีความสามารถสูง เธอเขียนเพลงรวม 150 เพลงตลอดเวลา 17 ปีที่อยู่ในวงการ ทั้งของตัวเองและของคนอื่น ยกเว้นเพลง อนนะเดะอิตะอิ (ญี่ปุ่น: 女でいたい โรมาจิOnna de Itai) และ โคอิอนนะโนะยูยุทสุ (ญี่ปุ่น: 恋女の憂鬱 โรมาจิKoionna no Yūutsu) ของซาร์ดในอัลบั้มแรก กูด-บายมายโลนลีเนส (Good-bye My Loneliness) ซึ่งแต่งโดยดาริยะ คะวะชิมะ โดยเพลงที่เธอแต่งนั้นนอกจากจะทำเป็นซิงเกิลและอัลบั้มแล้ว ยังมีหนังสือจำนวนหนึ่งที่ออกมาเกี่ยวกับเพลงที่เธอแต่งด้วยเช่นกัน ในบทบรรณาธิการของ หนังสืออาซาฮีชิมบุนกล่าวว่า ความลับที่ทำให้ซาร์ดประสบความสำเร็จอันเนื่องมาจากกระแสที่รายการเพลงทาง โทรทัศน์เริ่มน้อยลงเรื่อย ๆ ซาร์ดกลับใช้ช่วงโฆษณาในช่วงดึกเพื่อโปรโมตผลงานแทน

นอกจากซาร์ดจะแต่งเพลงสำหรับตัวเองแล้ว ซาร์ดยังแต่งเพลงสำหรับนักร้องเจป็อปอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เช่น ฟิลออฟวิว วานด์ส ดีน รวมไปถึง เติ้ง ลี่จวิน นักร้องไต้หวันอีกด้วย ตัวอย่างของเพลงที่เธอแต่งและร้องร่วมกับนักร้องคนอื่น เช่น ซิงเกิล ฮาเตชินาอิยูเมะโวะ (ญี่ปุ่น: 果てしない夢を โรมาจิHateshinai Yume o) ที่ซาร์ดร้องร่วมกับกลุ่มเจป็อปอื่น ๆ อาทิ วานด์ส ซิก เรฟ รวมไปถึงอดีตนักเบสบอลใน ตำนานของญี่ปุ่น ชิเกะโอะ นากาชิมะ เพลงที่ซาร์ดแต่งมักถูกนำไปใช้ประกอบการ์ตูนและรายการอื่น ๆ อยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเพลงที่ซาร์ดร้องเองหรือไม่ก็ตาม เช่น ดราก้อนบอล GT ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน ยอดกุ๊กแดนมังกร และสแลมดังก์ รวมถึงวิดีโอเกม โทคิเมคิเมโมเรียล 3 ตัวอย่างของเพลงในกลุ่มนี้คือเพลง ดังดัง โคะโคะโระฮิกะเระเตะกุ (ญี่ปุ่น: DAN DAN 心魅かれてく โรมาจิDan Dan Kokoro Hikareteku) ซึ่งใช้ในอะนิเมะเรื่องดราก้อนบอล GT ร้องโดยฟิลออฟวิว เป็นเพลงที่อิซุมิเป็นผู้แต่งคำร้องให้ ซึ่งซาร์ดนำมาร้องเป็นเวอร์ชันของตัวเองในอัลบั้ม ทูเดย์อีสอนาเธอร์เดย์ (Today Is Another Day)

ซาร์ดเป็นที่รู้จักเพราะความที่เป็นนักร้องที่ลึกลับคนหนึ่ง เนื่องจากต้นสังกัดของเธอไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดที่เกี่ยวกับเธอมากนัก และการที่เธอไม่ปรากฏตัวทางโทรทัศน์หรือปรากฏตัวต่อสาธารณชนมากนัก ตั้งแต่ พ.ศ. 2536 อาทิ การปรากฏตัวผ่านทางรายการเพลง ซึ่งเป็นวิธีทำตลาดในวงการเพลงญี่ปุ่น เช่น รายการมิวสิกสเตชันของทีวีอาซาฮี แต่ซาร์ดปรากฏตัวต่อสาธารณชนในรูปของการออกแสดงคอนเสิร์ตรวมทั้งสิ้น 2 ครั้งแทน ครั้งแรกจัดขึ้นบนเรือสำราญแปซิฟิกวีนัสในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2542 โดยมีการคัดเลือกผู้เข้าชมเพียง 600 คนจากผู้สมัครกว่า 2 ล้านคน ดีวีดีของการแสดงครั้งนี้วางจำหน่ายจำนวนจำกัดเพียง 300,000 ชุดในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2543 และคอนเสิร์ตเต็มรูปแบบ ว็อทอะบิวตีฟูลโมเมนต์ (What a Beautiful Moment) ในช่วงเดือนมีนาคมถึง กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งเมื่อมีคอนเสิร์ตนี้ขึ้น ซิงเกิลของเพลงที่เธอใช้ในคอนเสิร์ตก็ขายหมดเกลี้ยงเกือบทุกซิงเกิล

แม้ว่าแท้จริงแล้วซาร์ดเป็นวงดนตรี ซาร์ดมักถูกนับว่าเป็นนักร้องหญิงเดี่ยวมากกว่า ซึ่งเธอเคยเป็นประสบความสำเร็จมากวงหนึ่งของญี่ปุ่น ในช่วงปี พ.ศ. 2534-พ.ศ 2544 ซาร์ดมียอดขายสูงที่สุดในกลุ่มนักร้องหญิง และเป็นอันดับ 3 จากอันดับทั้งหมดรองลงมาจาก บีซ และ มิสเตอร์ชิลเดรน โดยซาร์ดมี 11 ซิงเกิลที่ติดอันดับ 1 ในอันดับซิงเกิลโอริกอน (Oricon Singles Charts) 42 ซิงเกิลที่ติด 1 ใน 10 อันดับแรก และ 9 อัลบั้มที่ติดอันดับหนึ่ง จากอัลบั้มทั้งหมด 17 อัลบั้ม (11 อัลบั้ม 5 อัลบั้มเพลงฮิต และ 1 อัลบั้มไลฟ์) และซิงเกิล 45 ซิงเกิล

ใกล้เคียง

ซาร์ด ซาร์ดอร์ มีร์ซาเยฟ ซาร์ดีน ซาร์ดิเนีย ซาร์ดิเนีย-พีดมอนต์ ซอร์ดอาร์ตออนไลน์ ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์แห่งบัลแกเรีย ซาร์บอมบา ซาร์ ซอร์ดอาร์ตออนไลน์ เดอะมูฟวี่ ออร์ดินอลสเกล