ฎีกาออกศึกฉบับหลัง ของ ฎีกาออกศึก

ฎีกาออกศึกฉบับหลังเขียนขึ้นในปี ค.ศ. 228 และไม่ได้บันทึกไว้ในจดหมายเหตุสามก๊กฉบับดั้งเดิมโดยตันซิ่ว เมื่อเผย์ ซงจือเขียนอรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก ได้เขียนว่าฎีกาออกศึกฉบับหลังมาจากมั่วจี้ (默記) ที่เขียนโดยจาง เหยี่ยน (張儼) ต่อมาเนื้อความของฎีกาออกศึกฉบับหลังได้รวมอยู่ในฮั่นจิ้นชุนชิว (漢晉春秋) โดยสี จั้วฉื่อ

นักวิชาการหลายคนตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการประพันธ์ของฎีกาออกศึกฉบับหลัง และเชื่อว่าไม่ได้เขียนโดยจูกัดเหลียง นักวิชาการยุคราชวงศ์ชิงชื่อ เฉียน ต้าจัว (錢大昭) แสดงข้อสงสัยของตนในหนังสือ ซันกั๋วจื่อเปี้ยนอี๋ (三國志辨疑; ข้อสงสัยต่อจดหมายเหตุสามก๊ก) ภายหลังฎีกาออกศึกฉบับหลังไม่ได้ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของรวมงานเขียนโดยจูกัดเหลียง และปรากกฏเฉพาะในมั่วจี้โดยจาง เหยี่ยนเท่านั้น นอกจากนี้ลักษณะสำนวนของฎีกาออกศึกฉบับหลังยังแตกต่างอย่างมากจากฎีกาออกศึกฉบับแรก ฎีกาออกศึกฉบับหลังมีสำนวนภาษาที่มีลักษณะบีบบังคับ ในขณะที่ฎีกาออกศึกฉบับแรกมีสำนวนภาษาที่จริงใจและถ่อมตนมากกว่า ฎีกาออกศึกฉบับหลังยังรวมถึงการอุปมาและยกตัวอย่างในประวัติศาสตร์ในย่อหน้าที่สามเพื่อกระตุ้นให้ทำสงคราม นอกจากนี้ยังมีความคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการเสียชีวิตของจูล่ง จูล่งเสียชีวิตในปี ค.ศ. 229 แต่ ฎีกาออกศึกฉบับหลังซึ่งอ้างว่าเขียนในปี ค.ศ. 228 ได้กล่าวถึงการเสียชีวิตของจูล่งแล้ว