ประวัติ ของ ดงเมืองเตย

จากประวัติศาสตร์บ้านสงเปือย (หน่วยศิลปากรที่ 6 นครราชสีมา 2536) กล่าวถึงดงเมืองเตยซึ่งตั้งอยู่ในเขตบ้านสงเปือยไว้ว่า ดงเมืองเตยเป็นเมืองเก่าสมัยขอมจะเป็นเมืองร้างมาแล้วนานเท่าไรไม่ทราบได้ สภาพที่เห็นมาจากปู่ย่าตาทวดหลายชั่วอายุคน ดงเมืองเตยมีป่าไม้ขึ้นสูงข้างล่างโปร่ง มีหมู่ไม้เล็กๆ ขึ้นบ้าง ต้นไม้ใหญ่ได้แก่ ไม้ยาง ไม้ตะแบก ไม้ยางเหียง เป็นป่าหนาแน่นมาก พวกพ่อแม่ปู่ย่าตายายไม่กล้าตัดต้นไม้ในดงนี้ เพราะดงเมืองเตยมีผีดุเรียกว่า ผีปู่ตา ป่าไม้จึงเป็นที่อาศัยของลิง และนกหลายจำพวก บึงรอบบริเวณดงเมืองเตยเป็นหนองน้ำขนาดลึกมีน้ำขังตลอดปี เป็นที่อาศัยและเป็นที่เพาะพันธุ์ปลาตามธรรมชาติ นอกจากนกจำพวกต่างๆ แล้วบึงนี้ได้ชื่อว่ามีเต่ามากที่สุด เหตุที่มีเต่ามากเช่นนี้ชาวบ้านนับถือผีปู่ตา ปู่ตาห้ามจับกินทำลายสัตว์พาหนะของท่าน คือ ลิงและเต่า ถ้าเกิดทำอันตรายขึ้นมา จะต้องมีอันเป็นไป ต่อมาเมื่อประมาณ 90 ปีมาแล้ว ชาวบ้านสงเปือยมีหมอร่ำเรียนวิชาอาคมมาทำพิธีปราบผีดงเมืองเตยได้ หมอผู้มีวิชาอาคมผู้นี้ชื่อ ผู้ใหญ่สุวอ เหตุการณ์นี้ตรงกับสมัยพ่อใหญ่อัครฮาด เป็นตาแสง เมื่อชาวบ้านใกล้ไกลได้ยินข่าวพ่อใหญ่สุวอข่มผีดงเมืองเตยได้แล้ว ก็พากันหลั่งไหลมาจับเต่าปลาดงเมืองเตยไปเป็นอาหารจนเกือบเกลี้ยงบึง เต่าจึงเกือบสูญพันธุ์มาจนบัดนี้ พ่อใหญ่สุวอได้แบ่งปันที่บึงออกเป็นที่นาให้พี่น้องญาติมิตรทำนามาจนทุกวันนี้ ส่วนบริเวณดงเมืองเตยได้แบ่งบันทำไร่ สวน ปลูกพืชทำกินมาเท่าทุกวันนี้ อันนี้เป็นเรื่องจริง ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอายุครบ 90 ปี เช่น พ่อใหญ่อ่อน หอมกลิ่น พ่อใหญ่บู กกเปือย ยังมีชีวิตเป็นพยานอยู่ จากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอายุประมาณ 90 ปี ของบ้านสงเปือยเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของดงเมืองเตยกล่าวว่า เห็นสภาพของดงเมืองเตยตั้งแต่เยาว์วัยก็คงสภาพที่เป็นในปัจจุบัน คือเป็นเนินดินขนาดใหญ่ที่มีคันดินและคูน้ำล้อมรอบ เหตุที่ได้ชื่อว่าดงเมืองเตย เนื่องจากบริเวณโดยรอบดงเมืองเตยมีต้นเตยซึ่งมีผลกลมเป็นเครือขึ้นอยู่โดยรอบนั่นเอง

จากการศึกษาของนักโบราณคดีกรมศิลปากรและนักวิชาการต่างๆ (สมเดช ลีลามโนธรรม 2538) พบว่าชุมชนโบราณดงเมืองเตยปรากฏการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่เมื่อประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว ตั้งถิ่นฐานอยู่บนเนินใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ บริเวณลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ คงดำรงชีพด้วยการเพาะปลูกข้าวในช่วงระยะเวลานี้ มีการติดต่อกับชุมชนอื่นๆที่อยู่ห่างไกลภายในภูมิภาค มีการถลุงและผลิตเหล็ก (ก่อนพุทธศตวรรษที่ 12) คงมีการส่งเหล็กเป็นสินค้าออกส่วนหนึ่ง เพราะได้พบปริมาณเศษตะกรันเหล็กเป็นจำนวนมากภายในชุมชน การอยู่อาศัยมีพัฒนาการทางสังคมที่ซับซ้อน ประชากรของชุมชนมีเพิ่มมากขึ้น มีการติดต่อค้าขายกับชุมชนอื่น เกิดอาชีพต่างๆขึ้น ชุมชนคงมีการขยายตัว เกิดผู้นำชุมชน และต่อมาจึงมีการขุดคูน้ำและทำคันดินขึ้น อาจแสดงให้เห็นถึงการมีระบบชนชั้นขึ้นแล้ว

สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ชุมชนโบราณดงเมืองเตยเกิดผู้นำชุมชนอย่างเด่นชัด มีระบบการปกครองในระบบกษัตริย์ มีพัฒนาการเข้าสู่สังคมเมือง ชุมชนได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร เหตุที่อิทธิพลเขมรเข้ามาครอบคลุมตั้งแต่ช่วงต้นประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าเพราะชุมชนแห่งนี้อยู่ใกล้กับเส้นทางที่วัฒนธรรมเขมรแพร่เข้ามาสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตาม ชุมชนแห่งนี้ได้รับอิทธิพลทวารวดีด้วย พัฒนาการชุมชนโบราณแห่งนี้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-16 ได้รับอิทธิพลทั้งวัฒนธรรมทวารวดีและวัฒนธรรมเขมร หลังจากนั้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 หรือ 18 ชุมชนได้รับวัฒนธรรมเขมรเพียงอย่างเดียว เป็นที่น่าสังเกตว่าชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนขนาดเล็ก มีศาสนสถานเป็นศูนย์กลางทางศาสนาเพียงแห่งเดียว ประชากรของเมืองคงมีจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากไม่มีการขยายขนาดของชุมชนออกไป การอยู่อาศัยแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการนับถือศาสนาบ้าง เช่น เปลี่ยนจากศาสตรพราหมณืเป็นศาสนาพุทธ แต่ก็ยังคงใช้ศาสนสถานหลังเดิมเป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนา สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องของชุมชนได้เป็นอย่างดี ภายหลังชุมชนโบราณดงเมืองเตยร้างไป อาจจะในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 18 และได้มีผู้คนเข้ามาใช้พื้นที่อีกครั้งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-22[1]