ภูมิศาสตร์ ของ ดงเมืองเตย

สภาพทั่วไป

ดงเมืองเตยเป็นเมืองโบราณที่ตั้งอยู่บนเนินดินรูปค่อนข้างรีไม่สม่ำเสมอ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางด้านยาวตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 650 เมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางตามแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 450 เมตร เป็นเมืองที่มีคูน้ำล้อมรอบตัวเมืองเพียงชั้นเดียว มีคันดินขนาดเล็กอยู่รายรอบตัวเมืองทั้งด้านในและนอกคูเมือง คูเมืองมีความกว้างเฉลี่ยประมาณ 100 เมตร สภาพของคูในปัจจุบันได้ตื้นเขินกลายสภาพไปเสียเป็นส่วนมาก ทางด้านทิศใต้มีคูเมืองยังคงมีน้ำขังอยู่บางส่วน เรียกว่า “หนองปู่ตา” หรือ “พุดตา” ทางด้านทิศตะวันออกมีคูเมืองเรียกว่า “หนองบัวขาว” ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้มี “หนองอีตู้” ส่วนทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีคูเมืองเรียกว่า “หนองฝักหนาม” สภาพของคูเมืองยังปรากฏให้เห็นที่หนองฝักหนาม หนองอีตู้ และหนองปู่ตา ส่วนหนองบัวขาวปัจจุบันใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าว ทั้งนี้ห่างออกไปจากเมืองโบราณประมาณ 2.5 กิโลเมตร ทั้งทางด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้ เป็นลำน้ำและหนองน้ำที่เป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำชีสายเดิม มีด้วยกันหลายชื่อ ได้แก่ น้ำหนองบอ ลำห้วยลำร่องบ่อ ลำชีหลง ห้วยกะหล่าว ลำตาเงย ลำปลาก้าม ห้วยพันหม เป็นต้น ส่วนแม่น้ำชีสายปัจจุบันไหลอยู่ห่างจากชุมชนโบราณดงเมืองเตยไปทางทิศตะวันตกประมาณ 5 กิโลเมตร บนตัวเนินดงเมืองเตยปัจจุบันเป็นป่าโปร่งและเป็นที่ตั้งสำนักสงฆ์ ไม่มีบ้านเรือนราษฎร พื้นที่รอบเนินดินเมืองโบราณเป็นพื้นที่เกษตรกรรมทำนาปลูกข้าว ห่างออกไปด้านทิศเหนือของเมืองโบราณเป็นเนินดินที่ตั้งของชุมชนปัจจุบัน คือชุมชนบ้านสงเปือย ภายในบริเวณตัวเมืองโบราณด้านทิศเหนือปรากฏมีซากโบราณสถานที่สร้างด้วยอิฐและหินทรายอยู่ในบริเวณพื้นที่ของสำนักสงฆ์ดงเมืองเตย และทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ห่างจากสำนักสงฆ์ดงเมืองเตยเคยปรากฏว่ามีการขุดพบใบเสมาด้วย

สภาพธรณีวิทยา

ลักษณะธรณีสัณฐานของเมืองโบราณดงเมืองเตย (สมเดช ลีลามโนธณรม 2538) เกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำ โดยเฉพาะลำน้ำชี และลม พัดพาเอาตะกอนมาทับถม และมีการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ที่มีระดับแตกต่างกันออกไป เช่นที่ราบน้ำท่วมถึงที่มีตะกอนที่น้ำพัดพามาทับถม ในฤดูฝนมักถูกน้ำท่วม พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ทำนาปลูกข้าว ปลูกพืชสวนครัวและพืชไร่ ดินที่พบมักมีอายุน้อย ชั้นดินไม่ชัดเจน แต่มีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นตะกอนใหม่และมีการทับถมเกือบทุกปี บริเวณลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ จะมีระดับสูงกว่าที่ราบน้ำท่วมถึงดังกล่าวข้างต้น แต่ยังมีพื้นที่ราบเรียบ การทับถมของตะกอนใหม่ไม่เกิดขึ้น ยกเว้นบางปีที่มีน้ำท่วมมาก อาจจะมีตะกอนทับถมเป็นชั้นบางๆที่ผิวดินบน เป็นสภาพธรณีที่มีสภาพคงตัวและเกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำที่มีอายุมาก ในพื้นที่นี้จึงมีลักษณะเกิดขึ้นให้เห็นอย่างชัดเจนและดินส่วนใหญ่มีสภาพการระบายน้ำค่อนข้างเลว ใช้ประโยชน์ในการทำนา

อีกพื้นที่หนึ่งคือบริเวณลานตะพักลำน้ำระดับกลางและระดับสูง มีสภาพสูงขึ้นไปจากลานตะพักลำน้ำระดับต่ำตามลำดับ และมีลักษณะเป็นรูปลูกคลื่นไม่ราบเรียบ พื้นที่ลานตะพักลำน้ำระดับกลาง ดินส่วนใหญมีสีน้ำตาล เหลือง หรือน้ำตาลปนเหลือง ส่วนพื้นที่ระดับสูง ดินมีสีแดง ระบายน้ำได้ดี พื้นที่ทั้งสองระดับนี้ล้วนเกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำ และลมพามาทับถมกันเป็นเวลานานแล้ว ดังนั้นชั้นดินที่พบบริเวณนี้จึงมีหน้าตัดดินเกิดขึ้นใหม่ให้เห็นอย่างชัดเจน การใช้ประโยชน์ของดินส่วนใหญ่ใช้ปลูกพืชไร่ พืชสวน ผลไม้ บางส่วนยังคงสภาพป่าธรรมชาติอยู่ ได้แก่ ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ดินในบริเวณดงเมืองเตย ประกอบไปด้วยดินชุดร้อยเอ็ด (Roi Et Series และ Loamy Phase) และดินชุดโคราช (Korat Series) ชุมชนโบราณดงเมืองเตย คงตั้งถิ่นฐานอยู่ในสภาพพื้นที่แบบลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ เนื่องจากระดับความสูงของพื้นที่จากแผนที่ทหาร มีความสูงประมาณ 126 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งที่ราบลานตะพักลำน้ำระดับต่ำมีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 120-150 เมตร และดินบริเวณนี้เป็นดินชุดร้อยเอ็ด (Roi Et Series) และดินชุดโคราช (Korat Series) ดินทั้งสองเป็นชุดดินที่พบในบริเวณลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ โดยดินชุดร้อยเอ็ดจัดเป็นดินโลว์ฮิวมิคเกลย์ ซึ่งมีความเหมาะสมในการเพาะปลูกข้าว