รายละเอียดของยุคสมัย ของ ดงเมืองเตย

โดยสมเดช ลีลามโนธรรม พ.ศ. 2538 มีดังนี้

  • ระยะที่ 1 อยู่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย อายุประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว ปรากฏร่องรอยกิจกรรมการถลุงและผลิตเหล็กในระดับอุตสาหกรรมในระยะแรกเริ่ม เช่นเดียวกับชุมชนร่วมสมัยต่างๆ ในลุ่มน้ำมูลและชี สภาพพื้นที่เนินดินแห่งนี้เหมาะกับตั้งเป็นชุมชน โดยเฉพาะการตั้งอยู่ใกล้ลำน้ำและแม่น้ำสายใหญ่คือแม่น้ำชี ชุมชนคงมีการเพาะปลูกข้าวตั้งแต่การอยู่อาศัยในช่วงแรกๆ พบว่ามีการใช้ฟางข้าวเป็นส่วนผสมในการทำภาชนะดินเผาอย่างแพร่หลาย ภาชนะดินเผาที่ใช้กันในสมัยนี้มีรูปทรงธรรมดาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หม้อก้นกลม ชาม อ่าง จากปริมาณเศาภาชนะดินเผาที่พบจากการขุดค้นทำให้สันนิษฐานได้ว่าระยะที่ 1 นี้น่ายังมีประชากรไม่หนาแน่นมากนัก
  • ระยะที่ 2 ชุมชนโบราณดงเมืองเตยมีการติดต่อแลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่นๆ ภายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะพบเศษภาชนะดินเผาที่มีการตกแต่งด้วยการเขียนสีขาวเป็นเส้นตั้งสั้นๆ บริเวณขอบปากด้านใน การตกแต่งภาชนะลักษณะนี้เรียกว่าภาชนะดินเผาแบบร้อยเอ็ดหรือแบบทุ่งกุลา เคยพบที่แหล่งโบราณคดีโนนยาง จ.สุรินทร์ และแหล่งโบราณคดีบ้านกระเบื้องนอก จ.นครราชสีมา ในเขตลุ่มแม่น้ำมูล มีอายุเชิงเทียบอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 1-11 กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนแห่งนี้ เช่น การเพาะปลูกข้าว การผลิตภาชนะดินเผา ส่วนใหญ่ผลิตขึ้นเองภายในชุมชน เนื่องจากภาชนะดินเผามีทั้งรูปทรงธรรมดาสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ทรงหม้อก้นกลม ทรงชาม และทรงอ่าง การตกแต่งมีลวดลายขูดขีด เชือกทาบ และเรียบ นอกจากนี้ยังมีภาชนะดินเผาจากต่างถิ่น ดังเช่นภาชนะดินเผาที่มีการเขียนสีขาว กิจกรรมเหล่านี้อาจสะท้อนให้เห็นถึงการแบ่งงานกันทำตามหน้าที่ของผู้คนในชุมชน แต่คงไม่มีสถานภาพแตกต่างกันมากนัก เนื่องจากไม่พบหลักฐานการเกิดระบบชนชั้นเหมือนกับที่พบในชุมชนร่วมสมัยเช่นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเหียน จ.มหาสารคาม นอกจากนี้ ยังพบกระบอกอัดลมแบบสองสูบที่ใช้ในการถลุงโลหะและเศษตะกรันเหล็ก แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางเทคโนโลยีด้านเหล็ก
  • ระยะที่ 3 มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ มีการถลุงและผลิตเหล็กระดับอุตสาหกรรม พบหลักฐานการนำเศษตะกรันเหล็กจำนวนมากมาถมอัดเป็นฐานรองรับน้ำหนักของตัวอาคารที่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 จากการสำรวจของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ยังพบเศษภาชนะดินเผาแบบทุ่งกุลาซึ่งเป็นภาชนะที่มีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ปะปนกับเศษตะกรัน (ศรีศักร วัลลิโภดม 2535:203) การผลิตเหล็กในชุมชนแห่งนี้ส่วนหนึ่งคงใช้เป็นสินค้าค้าขายแลกเปลี่ยนกับชุมชนภายนอก นอกจากนี้ยังพบว่านิยมใช้ภาชนะดินเผาแบบทาน้ำดินสีแดง และประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 สังคมของชุมชนในช่วงนี้เป็นสังคมเมืองอย่างชัดเจน มีชนชั้นปกครอง มีการขุดคูน้ำทำคันดิน โดยคูน้ำของเมืองถูกขนาบด้วยค้นดินทั้ง 2 ข้าง ชี้ให้เห็นว่าสร้างคูน้ำขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์สำคัญนการกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคภายในชุมชน การขุดคูน้ำจำเป็นต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก การควบคุมคนก็ต้องมีผู้นำในการควบคุมและจัดระเบียบให้งานเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการขุดคูน้ำและทำคันดินของชุมชนแห่งนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงเวลาใด อาจเป็นช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายหรือสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 แต่จากหลักฐานของโบราณสถานและจารึกที่กล่าวนามของกษัตริย์ผู้ปกครองเมือง แสดงให้เห็นถึงลักษณะของสังคมเมืองได้อย่างชัดเจนในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ว่าการขุดคูน้ำที่ดงเมืองเตยในลักษณะวงกลมหรือวงรีนั้น ชาวเมืองได้ขุดตามแอ่งยุบรอบเนินดินหรือโดมเกลือที่มีลักษณะเป็นวงกลมหรือวงรีอยู่แล้ว ลักษณะร่วมอีกประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนดงเมืองเตยกับชุมชนอื่นๆในลุ่มแม่น้ำมูล-ชี ในช่วงเวลาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย (2,500 ปีมาแล้วลงมา) อย่างหนึ่งคือประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 โดยการฝังในภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ หรือไห จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 ของพื้นที่แถบนี้สัมพันธ์กับช่วงเวลาการเริ่มต้นกิจกรรมการถลุงเหล็ก ซึ่งการฝังศพครั้งที่ 2 ที่ดงเมืองเตยนี้อยู่ในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายที่จะเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์แล้ว อาจเกิดการเผาศพขึ้น แต่ก็อาจยังปรากฏประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 อยู่ก็เป็นได้ ดังจะเห็นได้จากหลักฐานที่พบที่เมืองฟ้าแดดสงยาง จ.กาฬสินธุ์ และเมืองนครจำปาศรี จ.มหาสารคาม เป็นต้น
  • ระยะที่ 4 อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 สภาพชุมชนเป็นสังคมเมือง มีการสร้างศาสนสถาน หลักฐานจากจารึกแสดงให้เห็นถึงการมีกษัตริย์ปกครองชุมชน อาจมีการขุดคูน้ำทำคันดินในช่วงเวลานี้ จากหลักฐานด้านจารึกและโบราณสถานแสดงให้เห็นถึงการรับวัฒนธรรมเจนละเข้ามาในชุมชน เพราะอยู่ใกล้เส้นทางคมนาคมและแพร่กระจายวัฒนธรรมเขมรเข้ามาทางจังหวัดอุบลราชธานี บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ส่วนอิทธิพลด้านการเมือง ชื่อของกษัตริย์มีพระศรีมานปรเวลสนะ ซึ่งได้เป็นผู้ปกครองเมืองศังขปุระ (สันนิษฐานว่าอาจเป็นเมืองโบราณดงเมืองเตย) อาจเป็นขุนนางที่ทางอาณาจักรเจนละส่งเข้ามาปกครองหรือเป็นเจ้านายพื้นเมืองเดิมอยู่แล้วที่ได้รับการแต่งตั้งจากอาณาจักรเจนละให้ปกครองเมืองต่อไป โดยกษัตริย์ที่นับถือศาสนาฮินดู ไศวนิกาย สถานะผู้ปกครองเป็นเทพเจ้า เห็นได้จากข้อความในจารึกกล่าวถึงการสร้างศิวลึงค์และรูปแบบของโบราณสถานที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร ระยะต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 ชุมชนแห่งนี้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ เพราะพบหลักฐานการปักใบเสมาหิน พระพุทธรูป (ปางสมาธิ) หัวนาคของส่วนพระพุทธรูปปางนาคปรก (ศรีศักร วัลลิโภดม 2535:204) และอาจตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมเขมร แม้ว่าจะไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนถึงอิทธิพลกษัตริย์ขอมต่อเมืองโบราณแห่งนี้ แต่จากจารึกโนนสัง จ.ยโสธร พ.ศ.1432 ที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ากษัตริย์องค์ใดโปรดให้สร้างขึ้นระหว่างพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 (พ.ศ.1420-1432) หรือพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 (พ.ศ.1432-1443 หรือ 1453) โดยจารึกกล่าวถึงการสถาปนาและถวายสิ่งของแด่พระไตรโลกนาถ เพื่อที่จะทรงช่วยสรรพสัตว์ให้ถึงความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด (สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ 2537:13) การอยู่อาศัยของผู้คนและพัฒนาการของชุมชนแห่งนี้ดำเนินเรื่อยมา ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ปรากฏอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรอย่างชัดเจน มีการใช้ประโยชน์จากโบราณสถานที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวเป็นศูนย์กลางของเมืองต่อไป ดังได้พบประติมากรรมรูปสิงห์ 1ตัว จากการขุดแต่งบริเวณลายทางเดินด้านหน้าที่จะเข้าสู่ตัวโบราณสถานทางทิศตะวันออก ประติมากรรมรูปสิงห์ดังกล่าวมีลักษณะทางศิลปะแบบเขมรสมัยบาปวน (กลางพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 17) และจารึกขนาดเล็กที่เมืองโบราณแห่งนี้ อายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 หลักจากกลางพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา เราไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนของการอยู่อาศัยของผู้คน ณ ชุมชนแห่งนี้ มีเพียงชิ้นส่วนจารึกขนาดเล็กซึ่งมีอายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ดังที่กล่าวมาแล้ว และเครื่องถ้วยเขมรที่มีอายุค่อนข้างกว้าง อยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15-18 เท่านั้น ซึ่งก็ไม่ใช่หักฐานเด่นชัดที่จะกล่าวได้ว่าในช่วงเวลาหลังพุทธศตวรรษที่ 17 ลงมาแล้วจะมีคนอยู่อาศัยต่อมา ถ้ามีผู้คนอาศัยอยู่ต่อมา บริเวณชุมชนแห่งนี้คงได้รับอิทธิพลทางการเมืองกษัตริย์เขมร โดยเฉพาะในรัชกาลของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (พ.ศ.1656 ถึงหลัง 1688) และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724-1761?) ในรัชกาลของทั้ง 2 พระองค์ได้แพร่กระจายอำนาจครอบคลุมชุมชนต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือย่างกว้างขวาง หลังจากพุทธศตวรรษที่ 18 เมืองโบราณแห่งนี้คงถูกทิ้งร้างไปเนื่องจากไม่พบหลักฐานการอยู่อาศัยในระยะต่อมาเลยจนกระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ 20-22 คงมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์จากพื้นที่บริเวณชุมชนแห่งนี้บ้างเป็นครั้งคราว เนื่องจากได้พบหลักฐานของเครื่องถ้วยสุโขทัยและเครื่องถ้วยเวียดนาม ที่น่าจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 20-22 ในปริมาณที่ไม่มากนัก จนไม่อาจกล่าวได้ว่ามีการอยู่อาศัยที่หนาแน่นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน