ชื่อตำบล ของ ตำบลคุ้งตะเภา

คุ้งตะเภา มีความหมายว่า "คุ้งเรือสำเภา"[6] มาจากศัพท์ "คุ้ง" ส่วนเว้าโค้งเข้าไปของฝั่งน้ำฯ [7] และ "ตะเภา" แผลงมาจากศัพท์เดิมคือ "สำเภา" (เรือชนิดหนึ่ง)

ความเป็นมาชื่อตำบล

ชื่อ "คุ้งตะเภา" เป็นนามพระราชทาน เมื่อครั้งที่สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 เสด็จขึ้นมาปราบชุมนุมเจ้าพระฝางประทับจัดการคณะสงฆ์หัวเมืองเหนือ พร้อมสถาปนาวัดคุ้งตะเภาขึ้น ในปี พ.ศ. 2313 หลังเสียกรุงศรีอยุธยาได้เพียง 3 ปี

ความเป็นมาชื่อคุ้งตะเภา มีที่มาจากคำบอกเล่าที่กล่าวกันมาว่า เคยมีเรือสำเภาล่ม[8]บริเวณโค้งแม่น้ำน่านหน้าวัด (วัดคุ้งตะเภา) ชาวสวนที่อาศัยทำไร่นาอยู่แถบนั้นจึงเรียกบริเวณนั้นว่า โค้งสำเภาล่ม ต่อมามีคนมาอาศัยอยู่มากขึ้นและเพื่อความสะดวกปาก จึงกลายเป็น คุ้งสำเภา มาตลอดสมัยอยุธยาตอนปลาย

โค้งสำเภาล่ม หลังวัดคุ้งตะเภาในปัจจุบัน เป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านคุ้งตะเภา

ต่อมา เมื่อปีขาล โทศก จุลศักราช 1132 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์เสด็จขึ้นมาปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรี และประทับชำระคณะสงฆ์จัดการหัวเมืองฝ่ายเหนือใหม่ตลอดฤดูน้ำ ดังปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ระหว่างจลาจล[9] พระองค์ได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้คนในแถบคุ้งสำเภาที่อพยพลี้ภัยสงคราม ได้ย้ายกลับมาตั้งครัวเรือนเหมือนดังเดิม ทรงสร้างวัดและศาลาการเปรียญขึ้นใหม่ ณ ริมคุ้งสำเภาล่ม พร้อมทั้งตรัสเรียกชื่อวัดที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ว่า "วัดคุ้งตะเภา"[10][11][12] ปัจจุบันทางราชการได้นำชื่อวัดคุ้งตะเภาไปใช้ตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านและชื่อตำบลคุ้งตะเภาสืบมาจนปัจจุบัน

จากข้อมูลคำประพันธ์ในขุนช้างขุนแผน พบหลักฐานว่า คนทั่วไปยอมรับนามวัด ที่ได้รับพระราชทานเมื่อคราวตั้งวัดคุ้งตะเภา เมื่อ จุลศักราช 1132 มาเรียกหมู่บ้านนี้ว่า คุ้งตะเภา มาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว[6] ดังปรากฏในเสภาตอนหนึ่ง[13]ใน ขุนช้าง–ขุนแผน ดังนี้

"...อ้ายมอญมือด่างบางโฉลง     เมียชื่ออีโด่งเป็นชาวเหนือ
ลักถ้วนลักถี่ทั้งตีเรือ     ครกกระบากสากกะเบือไล่เก็บครบ
ถัดไปอ้ายทองอยู่หนอกฟูก     เมียชื่ออีดูกลูกตาจบ
กลางวันปิดเรือนเหมือนชะมบ     แต่พอพลบคนเดียวเที่ยวย่องเบา
อ้ายมากสากเหล็กเจ๊กกือ     เมียมันตาปรือชื่ออีเสา
ถัดไปอ้ายกุ้ง "คุ้งตะเภา"     ..."

ซึ่งตอนนี้เป็นตอนที่สมเด็จพระพันวษา พระราชทานนักโทษฉกาจให้แก่ขุนแผนเพื่อนำร่วมทัพไปรบกับเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมี "อ้ายกุ้ง (ชาว) คุ้งตะเภา" ปรากฏตัวในรายชื่อ 35 นักโทษด้วย และเนื่องจากข้อความในขุนช้างขุนแผนดังกล่าว เป็นวรรณคดีที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้แต่งขึ้นในสมัยของพระองค์ โดยมีเค้าโครงเรื่องเดิมจากสมัยอยุธยา

ภูมิประเทศด้านทิศเหนือของตำบล (วัดหนองปล้อง)

เขตตำบลที่ตั้งของแถบคุ้งตะเภานั้นตั้งอยู่ทิศตะวันออกของแม่น้ำน่าน ตรงข้ามกับตำบลท่าเสา อันเป็นย่านชุมชนการค้าขนาดใหญ่ที่สำคัญของภาคเหนือ แต่ในฝั่งคุ้งตะเภานั้นนับว่ายังไม่มีความเจริญนัก เพราะที่ริมฝั่งแม่น้ำน่านจะมีสภาพเป็นเป็นที่ราบลุ่มมีน้ำท่วมในช่วงน้ำหลากเสมอ ประกอบกับแถบนี้ยังมีป่าไม้เป็นส่วนใหญ่ และมีเพียงหมู่บ้านขนาดเล็กเป็นกลุ่มย่อม ๆ เรียงกันไปตามฝั่งแม่น้ำน่านทิศตะวันออก โดยในแถบหมู่บ้านตรงข้ามบ้านท่าเสาเมื่อวัดจากเส้นทางคมนาคมทางน้ำระหว่างหมู่บ้านที่ตั้งอยู่แถบริมฝั่งแม่น้ำน่านทิศตะวันออกในเขตตำบลท่าเสาในสมัยนั้น จะมีทุ่งบ้านคุ้งตะเภา ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางในแถบตำบลนี้และหมู่บ้านคุ้งตะเภานับเป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่ที่สุดที่ตั้งมาตั้งแต่สมัยอยุธยาและมีประชากรมากที่สุดกว่าบ้านอื่นที่ตั้งอยู่ในแถบแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกในอดีต

และด้วยเหตุที่หมู่บ้านคุ้งตะเภาตั้งมานานกว่า ประกอบกับในสมัยก่อนยังไม่มีหมู่บ้านอื่นในแถบนี้ คนทั่วไปจึงได้ใช้ชื่อคุ้งตะเภาเรียกขานย่านบริเวณตำบลแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกว่าย่านตำบลคุ้งตะเภามาตั้งแต่อดีต ดังปรากฏหลักฐานว่ามีการเรียกแถบตำบลนี้ว่า "ตำบลคุ้งตะเภา" มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว โดยในสมัยนั้นตำบลคุ้งตะเภา อยู่ในเขตการปกครองของอำเภออุตรดิฐ แขวงเมืองพิชัย มณฑลพิษณุโลก[14]

จนต่อมาช่วงหลัง ทางการได้รวมเขตปกครองตำบลคุ้งตะเภาเข้ากับตำบลท่าเสา อำเภอบางโพ อำเภออุตตรดิตถ์ เป็นระยะเวลาหนึ่ง เพราะเดิมหมู่บ้านในแถบนี้ยังไม่เจริญนัก และตำบลท่าเสานั้นนับเป็นย่านการค้าและชุมชนที่มีความเจริญมาตั้งแต่โบราณเหมาะแก่การเป็นศูนย์กลางในการดูแลหมู่บ้านในเขตปกครอง จนมาในปี พ.ศ. 2490 ทางกระทรวงมหาดไทยจึงได้แบ่งเขตการปกครองในแถบนี้แยกออกจากตำบลท่าเสากลับมาตั้งเป็นตำบลคุ้งตะเภาเหมือนเดิม และได้ใช้ชื่อ คุ้งตะเภา มาตั้งเป็นชื่อตำบลเช่นเดิมสืบมาจนปัจจุบัน[15]


ดูเพิ่มได้ที่ หมู่บ้านคุ้งตะเภา

แหล่งที่มา

WikiPedia: ตำบลคุ้งตะเภา http://watkungtaphao.6.forumer.com/index.php http://maps.google.com/maps?ll=17.65679,100.14849&... http://tevaprapas.googlepages.com/conservation_her... http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=17.6567... http://www.tambol.com/tambol/search_show.asp?itemn... http://www.terraserver.com/imagery/image_gx.asp?cp... http://www.thaitambon.com/tambon/ttambon.asp?ID=53... http://www.globalguide.org?lat=17.65679&long=100.1... http://www.wikimapia.org/maps?ll=17.65679,100.1484... http://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E...