สถานที่ที่น่าสนใจในเขตตำบลคุ้งตะเภา ของ ตำบลคุ้งตะเภา

หลวงพ่อสุวรรณเภตรา วัดคุ้งตะเภา

ดูบทความหลักที่: หลวงพ่อสุวรรณเภตรา
หลวงพ่อสุวรรณเภตรา​ประดิษฐานในอุโบสถวัดคุ้งตะเภา

หลวงพ่อสุวรรณเภตรา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พุทธลักษณะสมัยสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ ณ อุโบสถวัดคุ้งตะเภา มีพุทธลักษณะงดงามยิ่ง สร้างโดยหลวงพ่อพระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม) เกจิอาจารย์รูปสำคัญของเมืองอุตรดิตถ์ (ยุคก่อนหลวงปู่ทองดำ) ในปี พ.ศ. 2489 ชาวบ้านคุ้งตะเภานับถือกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก

หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์ วัดคุ้งตะเภา

ดูบทความหลักที่: หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์

หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์บริสุทธิ์ สร้างในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สกุลช่างสุโขทัยยุคต้น-เชียงแสนปลาย มีอายุประมาณ 800 ปี เป็น 1 ใน 9 พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญแห่งเมืองอุตรดิตถ์

สวนสาธารณะหาดน้ำน่าน

สวนสาธารณะหาดน้ำน่าน เทศบาลตำบลคุ้งตะเภา

สวนสาธารณะหาดน้ำน่าน ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านคุ้งตะเภาริมแม่น้ำน่านทางด้านเหนือสุดของตำบล ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 เดิมบริเวณที่แห่งนี้เป็นหาดแม่น้ำกว้างสวยงาม เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 ในปี พ.ศ. 2545 องค์การบริหารส่วนตำบลคุ้งตะเภา โดยการนำของนายเอกสิทธิ์ พรหมน้อย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคุ้งตะเภา ได้ขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในการปรับปรุงภูมิทัศน์และก่อสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ มีการจัดระเบียบร้านค้า จัดสร้างกำแพงกั้นและมีการจัดเก็บเงินค้าบำรุงสำหรับประชาชนที่มาพักผ่อนในช่วงเทศกาลสำคัญ[ต้องการอ้างอิง] รวมทั้งมีการฟื้นฟูกิจกรรมประเพณีต่าง ๆ เช่น ประเพณีลอยกระทง ประเพณีสงกรานต์ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ประเพณีเทศน์มหาชาติ เป็นต้น [20]

ด้วยความสวยงามของภูมิทัศน์และความสะดวกสะบายในการเดินทาง ปัจจุบัน สวนสาธารณะหาดน้ำน่านได้รับความสนใจจากประชาชนมาพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ ต่าง ๆ เช่น เทศกาลสงกรานต์ เทศกาลลอยกระทง

สภาวัฒนธรรมตำบลคุ้งตะเภา วัดใหม่เจริญธรรม

สภาวัฒนธรรมตำบลคุ้งตะเภา

สภาวัฒนธรรมตำบลคุ้งตะเภา ตั้งอยู่ที่ วัดใหม่เจริญธรรม เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์สร้างใหม่ แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2549 โดยการนำของพระปลัดสมพงษ์ สมจิตฺโต เจ้าอาวาสวัดใหม่เจริญธรรม เจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภารูปปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางของการรักษาอนุรักษ์ศิลปะประเพณีและวัฒนธรรมของตำบลคุ้งตะเภา และสำนักงานสภาวัฒนธรรมประจำตำบล ตัวอาคารจัดสร้างโดยการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชาวหมู่บ้านป่าขนุนและใกล้เคียง

ในทุกปี วัดใหม่เจริญธรรมจะมีงานส่งเสริมวัฒนธรรมการสืบทอดไหว้ครูมวยไทยสายพระยาพิชัยดาบหัก โดยมีอาคารสภาวัฒนธรรมตำบลคุ้งตะเภาเป็นศูนย์กลาง[21] ปัจจุบัน อาคารสภาวัฒนธรรมตำบลคุ้งตะเภา ไม่ได้มีการจัดแสดงโบราณวัตถุหรือจัดแสดงนิทรรศการด้านกิจกรรมการอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรม แต่คงใช้เป็นศูนย์กลางของการปกครองคณะสงฆ์ของตำบลคุ้งตะเภา โดยใช้เป็นกุฏิสงฆ์และกุฏิเจ้าอาวาสวัดใหม่เจริญธรรม และสำนักงานวัดใหม่เจริญธรรม รวมถึงเป็นสำนักเรียนนักธรรมประจำวัดใหม่เจริญธรรมอีกด้วย

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา

เอกสารโบราณที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคุ้งตะเภา

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา หรือ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคุ้งตะเภา ตั้งอยู่ที่ กุฏิปั้นหยา วัดคุ้งตะเภา เป็นสถานที่จัดแสดงเอกสารและวัตถุโบราณของชุมชนคนบ้านคุ้งตะเภา เพื่อให้คนในท้องถิ่นได้ศึกษาขนบวัฒนธรรมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในอดีตของบรรพบุรุษ และเพื่อให้คนในท้องถิ่นได้รับรู้และเกิดความภาคภูมิใจในมรดกและความเป็นมาของชุมชนบ้านคุ้งตะเภาที่มีอายุความเป็นมายาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

เนื่องจากในปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภาไม่มีงบประมาณในการจัดห้องแสดงในขณะที่โบราณวัตถุของวัดคุ้งตะเภามีจำนวนมาก ทำให้สิ่งของที่นำมาจัดแสดงมีจำนวนไม่มากนัก โดยโบราณวัตถุส่วนใหญ่ทางวัดเก็บรักษาไว้โดยไม่ได้นำออกแสดง ในอนาคตวัดคุ้งตะเภามีโครงการย้ายการจัดแสดงไปบนอาคารศาลาการเปรียญของวัดที่กำลังสร้างเสร็จ โดยจะนำโบราณวัตถุทั้งหมดมาจัดแสดง และจะจัดห้องแสดงเป็นสัดส่วนตามหลักการจัดการพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนบ้านคุ้งตะเภาที่สำคัญต่อไป

แหล่งเรียนรู้สมุนไพรไทย วัดคุ้งตะเภา

(ส่วนสมุนไพรไม้ยืนต้น ด้านหลังวัดคุ้งตะเภา)

แหล่งเรียนรู้สมุนไพรไทยวัดคุ้งตะเภา เป็นศูนย์ศึกษาสมุนไพรในวัดประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ และแหล่งเรียนรู้ชุมชนด้านสมุนไพรไทยที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัด ตั้งอยู่ที่วัดคุ้งตะเภา โดยมีพื้นที่ปลูกสมุนไพรยืนต้นกว่า 15 ไร่ ครอบคลุมอาณาบริเวณวัดคุ้งตะเภาทั้งหมด โดยความริเริ่มของพระครูประดิษฐ์ธรรมธัช (ธง ฐิติธมฺโม), พระอาจารย์อู๋ ปญฺญาวชิโร (ปราชญ์ชุมชนตำบลคุ้งตะเภา) และพระสมุห์สมชาย จีรปญฺโญ ที่ได้ดำริให้จัดพื้นที่ในบริเวณวัดสำหรับปลูกสมุนไพรที่รวบรวมมาได้จากที่ต่าง ๆ ทั้งชนิดยืนต้นและชนิดไม้ลงหัว ไปจนกระทั่งไม้เลื้อยขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รวบรวมพืชสมุนไพรไทยที่หาชมได้ยากนำมาปลูกในเขตพื้นที่บริเวณวัดหลายร้อยชนิด โดยเริ่มทำการจัดหาสมุนไพรมาอนุรักษ์เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2535 จากเดิมที่วัดคุ้งตะเภาเป็นพื้นที่เปิดโล่ง กลายมาเป็นวัดสวนป่าสมุนไพรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดอุตรดิตถ์

สวนป่าสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา ในปัจจุบันยังคงปล่อยให้เป็นบรรยากาศธรรมชาติอันร่มรื่นเหมาะแก่การเจริญเติบโตของสมุนไพร ซ่อนเร้นสมุนไพรไทยหายากอันมีคุณประโยชน์ยิ่งในบริเวณป่า จากพื้นที่โล่งร้อนกลายเป็นพื้นที่ป่าปลูกที่เงียบสงบเย็นเหมาะแก่การเจริญจิตตภาวนา และจากความริเริ่มของพระอาจารย์อู๋ ที่ไม่ให้ติดป้ายชื่อกำกับต้นไม้สมุนไพรทุกชนิดเหมือนสถานที่อื่น ทำให้วัดคุ้งตะเภาสามารถอนุรักษ์สมุนไพรบางชนิดที่หายากมากเอาไว้ได้โดยไม่ต้องคอยเฝ้าดูแล และเมื่อมีผู้สนใจมาศึกษาสมุนไพรทั้งจากภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ จะต้องให้พระอาจารย์อู๋มานำเดินชมด้วยตนเอง ทำให้ผู้สนใจได้รับความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านผู้ทรงภูมิปัญญาได้โดยตรง[22]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ตำบลคุ้งตะเภา http://watkungtaphao.6.forumer.com/index.php http://maps.google.com/maps?ll=17.65679,100.14849&... http://tevaprapas.googlepages.com/conservation_her... http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=17.6567... http://www.tambol.com/tambol/search_show.asp?itemn... http://www.terraserver.com/imagery/image_gx.asp?cp... http://www.thaitambon.com/tambon/ttambon.asp?ID=53... http://www.globalguide.org?lat=17.65679&long=100.1... http://www.wikimapia.org/maps?ll=17.65679,100.1484... http://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E...