ชื่อบ้านนามเมือง ของ ตำบลน้ำขาว

บ้านนาดี

หรือบ้านนาหยาม เดิมจริงจากการสัมภาษณ์ สอบถาม ผู้เฒ่าผู้แก่จะได้คำตอบ พอสรุปได้ว่า หมู่บ้านนี้ ชื่อ นาหยาม (เน้นคำว่า หยาม มาจากภาษากลางว่าฤดู) หมายถึงต้องถึงฤดู หรือมีน้ำมาจริง ๆ จึงจะทำนาได้ จึงเรียกว่า บ้านนาหยาม แต่เมื่อทำนาไป ทำให้ผลิตดี จึงเรียกว่า บ้านนาดี จึงยังใช้บ้านนี้ทั้งสองอย่างอยู่

บ้านออกวัด

เนื่องจากสภาพบ้านตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดน้ำขาวนอกเลยเรียกหมู่บ้านนี้ว่า บ้านออกวัด

ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ผู้ใหญ่บ้านกั้น ณะนวล

บ้านออกวัดเป็นที่ตั้งของ

- ตลาดนัดวันศุกร์ (ตลาดนัดดั้งเดิม เก่าแก่มีมาแต่โบราณ)

- ตลาดนัดวันอาทิตย์

- วัดน้ำขาวนอก

- ศูนย์เด็กเล็ก อบต.น้ำขาว

- จุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนตำบลน้ำขาว FM88.5MHz

- พิพิธภัณฑ์ชุมชนน้ำขาว

บ้านเกาะแค

เนื่องจากบ้านเกาะแคเป็นหมู่บ้านตั้งอยู่ในสภาพทางภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ดอน มีนารายล้อมรอบหมู่บ้าน เมื่อถึงฤดูน้ำหลากจะดูเหมือนกับหมู่บ้านเป็นเกาะ และภายในหมู่บ้านก็อาศัยมีต้นไม้คือ ต้นแค เป็นไม้ใหญ่ในหมู่บ้าน จึงได้ชื่อว่า บ้านเกาะแค

บ้านต้นเหรียง

เนื่องจากหมู่บ้านนี้มีไม้ใหญ่ที่เป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้าน คือ ต้นเหรียง

น้ำขาวกลาง

หมู่ที่ 5 (มาจากลักษณะพื้นที่ที่อยู่จุดกลางตำบล ซึ่งมาเติมคำว่ากลางเอาทีหลังเพื่อกันความผิดพลาด) น้ำขาวกลาง หมู่ที่ 5 เป็นหมู่บ้านที่เกิดขึ้นมายาวนานในยุคบุกเบิกตำบลน้ำขาว พื้นที่เป็นที่ราบลุ่มทุ่งนา ทิศเหนือจดหมู่ที่ 5 ตำบลแค สมัยก่อนอาณาเขตคลุมไปถึงบ้านแม่เหวียนทั้งหมด ตอนหลังได้แยกออกเป็นหมู่ที่ 6 เนื่องจากในสมัยก่อน หมู่ที่ 5 เป็นป่ารกทึบเป็นทางเสื่อผ่าน เป็นจุดชุมนุมโจรในยุคนั้น ในสมัยก่อนผู้นำท้องถิ่นจะเป็นที่นับหน้าถือตาของชาวบ้านทั่วไป เป็นที่พึ่งของผู้ตกทุกข์ได้เข้ามาพึ่งพิงอาศัยโดยเฉพาะโจรลักวัว มักจะมาลงเอยกันที่หมู่ 5 เพราะมีพื้นที่เป็นเกาะกลางทุ่งนา เหมาะสมแก่การหลบซ่อนผูกวัวก่อนที่จะเข้าโรงฆ่า (งานแต่ง,งานศพ) และในประวัติศาสตร์ของ นายกลั่น นิลมณี ผู้ใหญ่บ้านคนแรกได้บันทึกไว้บางตอนว่า นาหมู่ 5 คือ ที่นาชายค่าย (ปัจจุบันมีเจ้าของซึ่งอยู่กระจายอยู่ทุกหมู่บ้าน ของตำบลน้ำขาว จึงสันนิษฐานว่าในสมัยก่อนคนน้ำขาว น่าจะแตกกอไปจากส่วนกลางของตำบลนั่นเอง) ทำไมจึงเรียกชายค่าย ในสมัยญี่ปุ่นขึ้น ทหารญี่ปุ่นจะมาตั้งฐานทัพชั่วคราว (จุดพัก) ก่อนเข้าโจมตีมาเลเซีย เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามก็เลยทิ้งร่องรอยไว้ต่อมากลายเป็นจุดพักเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ามาจับร้าย ซึ่งมักจะหลบซ่อนอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 5 เลยกลายเป็นชื่อทุ่งชายค่ายมาจนถึงทุกวันนี้... โดย: สมจิตร คงสุขแก้ว

บ้านคูตีน

จากการสอบถามมีคูที่ใช้ทดน้ำเข้านา โดยน้ำมาจากคลองคู เลียบริมบ้านเพื่อใช้น้ำจากคูนำไปใช้ทางการเกษตรเพื่อไปทำนา เดิมเป็นคูค่ายสมัยญี่ปุ่นขึ้นที่สงขลาเพื่อไปยึดพม่าซึ่งเป็นนิคมของอังกฤษ มีร่องรอยเหลืออยู่บ้างส่วนทิศเหนือหมู่บ้าน ปู ยา ตา ยาย ซึ่งเคยเล่าให้ฟัง เลยเรียกบ้านคู เนื่องจากอยู่ทางทิศเหนือภาษาถิ่นเลยเรียกว่า บ้านคูตีน หรือคนเฒ่าสมัยก่อนเรียกว่าบ้านคูค่าย

===ประเพณีของบ้านคูตีน

๑.การไหว้ทวดต้นโด

===อาชีพหลักของชาวบ้านคูตีน

๑.การทำสวนยาง

๒.การทำนา

บางส่วน ประกอบอาชีพรับราชการ งานบริษัทและประกอบธุรกิจส่วนตัว ซึ่งเป็นส่วนน้อยอย

บ้านคูหัวนอน

สภาพภูมิศาสตร์ตั้ง หมู่บ้านโดยมีคูน้ำไหลผ่าน เนื่องจากตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ ภาษาถิ่นเลยเรียก บ้านคูหัวนอน

บ้านคูย่างควาย

อยู่ในหมู่บ้านท่าคู หมู่ที่ 8 ตำบลน้ำขาว สาเหตุที่ชื่อบ้านนี้ว่าคูย่างควาย เพราะในสมัยก่อนนั้น เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นกับสัตว์เลี้ยง สัตว์เลี้ยงตายกันไปหมดทั้งบ้าน ทั้งตำบล หรือทั้งอำเภอ เพราะในสมัยนั้นไม่มียาวัคซีนที่จะป้องกันโรค และเวลาสัตว์เกิดโรคขึ้นแล้วยาบำบัดไม่มี สัตวแพทย์ไม่มีชาวบ้านคนมุสลิม บ้านท่าคู หมู่ที่ 4 มีภูมิปัญญาที่ดี เมื่อควายเกิดโรคขึ้น เนื่องจากฝนตกหนักหรือภูมิอากาศหนาวจัด เพื่อป้องกันความหนาว ใช้ไม้เรียบเข้าที่ปากคูแห้ง ๆ ต้อนฝูงควายขึ้นไปบนสะพานที่ปูด้วยไม้ แล้วสุมไฟเข้าไปในคูที่มีควายอยู่ข้างบน เพราะจะทำร้านทำแคร่ย่างควายทั้งฝูงย่อมทำไม่ได้ จึงใช้คูเรียบไม้ สำหรับย่างควาย ควายอบอุ่นตลอดฤดูหนาว โรคระบาดไม่เกิดทั้งที่ตำบลใกล้เคียง เช่น นาหมอศรี บ้านคูแค ขุนตัดหวาย ควายถูกโรคระบาดเช่นกัน... โดย: เทียบ แก้วมหากาฬ

บ้านหัวควน

เกิดจากสภาพภูมิศาสตร์ของบ้านตั้งริมควนภาษา ท้องถิ่นเลยเรียก บ้านหัวควน รู้เรื่องบ้านหัวควนโดยละเอียด ต้องสอบถาม ตาญาน ชายพรม

ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง

ตำนานเล่าขานจากขุนเขา และสายน้ำคลองคู

“ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง”... บนพื้นที่เล็ก ๆ ริมฝั่งสายน้ำคลองคู หมู่ที่ ๑๑ ต.น้ำขาว อ.จะนะ จ.สงขลา ใกล้กับทางขึ้นเจดีย์ ควนธง ของนายวิชชา ทองเพชร ในขณะที่กำลังก่อสร้างเป็นสถานที่พักคนงาน คืนหนึ่งกลางเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ นายชม ขาวทอง คนงานก่อสร้างกำลังนอนหลับ บริวารของเจ้าแม่ตะเคียนทองมาเข้าฝันและบอกว่า “เจ้าแม่ตะเคียนทองอยู่ที่นี่มานานไม่มีใครรู้ อยากกินไก่ ๓ ตัว เหล้าขาว ๒ ขวด บุหรี่ ๓ มวน” พอตื่นเช้าขึ้นมานายชม ขาวทองก็ไปทำงานเหมือนทุกวัน ไม่ได้บอกเล่าความฝันให้กับผู้ใดรับฟังเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติของความฝัน อยู่มา ๓ วัน นายชมเริ่มมีอาการเจ็บปวดในร่างกายโดยไม่มีสาเหตุ ไปหาหมอรักษาตรวจเช็คร่างกายและกินยา อาการก็ไม่ดีขึ้น ซ้ำร้ายเพื่อนคนงานก่อสร้างผู้ชายอีกหลายที่พักอยู่ด้วยกัน ก็กลับเกิดมีอาการเจ็บปวดในร่างกายเหมือนกับนายชมทุกประการ ทุกคนต่างพากันไปหาหมอและรักษาอย่างไรอาการก็ยังไม่ดีขึ้น...

ต่อมาภรรยาของนายชม ได้ติดต่อและบอกเล่าถึงอาการของสามีให้พี่สาวซึ่งเป็นร่างทรง ที่อยู่ จังหวัดนครสวรรค์ ได้เข้าทรงดู และได้บอกกลับมาว่า ณ บริเวณที่พักริมคลองคูสถานที่ทำงานมีของดีคอยรักษาอยู่ ถ้าได้นำของเซ่นไหว้ไปให้ตามคำขอ ทุกคนจะหายเป็นปกติดี....นายชมและภรรยาจึงนำเรื่องดังกล่าวไปเล่าให้นายวิชชา ทองเพชร เจ้าของที่ดินได้รับทราบในทันที...

รุ่งขึ้นอีกวันนายวิชชา ทองเพชร ได้ชวนนายเอิด นางลออ ไปให้ร่างทรงของทวดที่วัดถ้ำตลอด อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ช่วยตรวจดู ร่างทรงของทวดที่วัดถ้ำตลอดก็บอกเหมือนกันกับร่างทรงของพี่สาวภรรยานายชมจาก จ.นครสวรรค์ และได้แนะนำนายวิชชา ทองเพชร ว่า ให้นำขอนไม้ตะเคียนทองขนาดใหญ่ที่ฝังอยู่ในสายน้ำคลองคูมาเป็นเวลานานขึ้นมาบนฝั่งเสีย เพราะเจ้าแม่อยากขึ้นมาอยู่บนฝั่ง...

เมื่อกลับมาถึงบ้านนายวิชชา ได้ให้คนงานทั้งหมด นำของไปเซ่นไหว้ตามที่ขอ ตามคำบอกเล่าในความฝันของนายชม หลังจากนั้นนายชมและเพื่อนคนงานทุกคนก็หายเป็นปลิดทิ้งเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก ตกค่ำคนงานทุกคนนอนหลับฝันเห็นมีผู้หญิงแต่งกายสวมชุดไทย นำบริวารมาเยอะ มาบอกขอบคุณที่ได้นำของเซ่นไหว้มาให้ได้กินกันจนอิ่ม...

วันพฤหัสบดีขึ้น ๑๓ เดือน ๖ ตรงกับวันที่ ๓ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ นายวิชชา ทองเพชรได้ไปเชิญร่างทรงของทวดจากวัดถ้ำตลอด อ.สะบ้าย้อย มาทำพิธีอัญเชิญเจ้าแม่ตะเคียนทองที่สิงสถิตย์อยู่กับขอนไม้ตะเคียนทองขนาดใหญ่ให้ขึ้นมาจากลำคลอง และได้มาวางไว้ ณ ตรงสถานที่ที่เห็นว่าเหมาะสม ควรค่าแก่การรำลึกสักการะของผู้คนที่เคารพศรัทธาตลอดไป...

บ้านคลองแงะ

มีผู้ให้คำตอบไว้ว่ามาจากลำคลองที่แยกจากกัน โดยใช้ภาษาถิ่นเรียกว่า แงะ เช่น เรียกแงะไม้ เมื่อตั้งชื่อบ้านก็เลยเอาตามชื่อคลองที่แตกแงะจากกัน เป็น บ้านคลองแงะ [4]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ตำบลน้ำขาว http://namkhaw.blogspot.com http://www.thaitambon.com/Tambon/ttambon.asp?ID=90... http://luangpu.wordpress.com/ http://www.uthaisak.net/wikipedia.htm/ http://www.namkhaw.go.th/content/history.php/ http://school.obec.go.th/bkgschool/knk/ http://school.obec.go.th/bkgschool/knk/sknk_4.html... http://school.obec.go.th/bkgschool/knk/sknk_5.html... http://school.obec.go.th/bkgschool/knk/sknk_6.html... http://school.obec.go.th/bkgschool/knk/sknk_7.html...