การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของการศึกษา ของ ต้นสมัยกลาง

เมื่อจักรวรรดิโรมันตะวันตกสิ้นสุดลง ศูนย์กลางของเมืองต่างๆ ก็อยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมตามลงไปเป็นอันมาก สถิติของผู้มีการศึกษา และสถานศึกษาทางตะวันตกก็ลดจำนวนลง การศึกษากลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอารามและอาสนวิหาร “ยุคทอง” ของการศึกษาคลาสสิกมาฟื้นตัวขึ้นอยู่ชั่วระยะหนึ่งในสมัยจักรวรรดิการอแล็งเฌียงในคริสต์ศตวรรษที่ 8 แต่ในจักรวรรดิโรมันตะวันออกการศึกษายังคงได้รับการรักษาไว้ให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าทางตะวันตก ไกลออกไปทางตะวันออกอิสลามก็สามารถพิชิตเขตอัครบิดรต่าง ๆ ได้หลายเขต และมีความก้าวหน้ามากกว่าการศึกษาของคริสเตียนในด้านวิทยาศาสตร์ ปรัชญา และอื่นๆ ในสมัยที่เรียกว่าเป็น “ยุคทอง” ของการศึกษา

การศึกษาคลาสสิก

ระบบการศึกษาคลาสสิกที่ทำกันต่อมาอีกหลายร้อยปีเน้นการเรียนไวยากรณ์ ละติน กรีก และ วาทศาสตร์ ผู้ศึกษาก็จะอ่านงานคลาสสิกซ้ำแล้วซ้ำเล่าและเขียนบทเขียนที่เลียนแบบลักษณการเขียนแบบคลาสสิก เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 4 ระบบการศึกษานี้ก็ถูกทำให้เป็นคริสเตียน (Christianized) ในบทเขียน De Doctrina Christiana หรือ ปรัชญาของคริสเตียน โดย นักบุญออกัสตินแห่งฮิปโป ที่เขียนระหว่างปี ค.ศ. 396 ถึงปี ค.ศ. 426 นักบุญออกัสตินให้คำอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาคลาสสิกกับปรัชญาของคริสเตียน ที่ว่าคริสต์ศาสนาเป็นศาสนาของตำราฉะนั้นผู้เป็นคริสต์ศาสนิกชนต้องเป็นผู้มีการศึกษา และการที่จะเทศนาได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต้องมาจากการศึกษาและความเข้าใจในรากฐานของวาทศาสตร์คลาสสิกเช่นในการใช้อุปมานิทัศน์ในการที่จะเพิ่มความเข้าใจในพระคัมภีร์มากขึ้น

แต่เทอร์ทุลเลียน นักประพันธ์และคริสต์ศาสนิกชนชาวเบอร์เบอร์ไม่มีความมั่นใจในคุณค่าระบบการศึกษาคลาสสิกและตั้งคำถามว่า “เอเธนส์จะมีเกี่ยวอะไรกับเยรูซาเลม?” แต่กระนั้นเทอร์ทุลเลียนก็มิได้หยุดยั้งคริสตชนที่เข้าศึกษาในสถานศึกษาคลาสสิก

ความเสื่อมโทรมทางตะวันตก

ในต้นสมัยกลางวัฒนธรรมจำกัดอยู่ในอาราม

การยุบเมืองต่าง ๆ ทำให้ระบบการศึกษามีจำนวนจำกัดลงและเมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 6 การสอนและการศึกษาก็ย้ายเข้าไปทำกันในอารามและอาสนวิหารโดยมีคัมภีร์ไบเบิลเป็นหัวใจและตำราหลักของการศึกษา[29] การศึกษาของฆราวาสยังคงหลงเหลืออยู่บ้างในอิตาลี สเปน และทางตอนใต้ของกอลที่อิทธิพลของโรมันยังคงมีอยู่นานกว่าในบริเวณอื่น เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 7 ระบบการศึกษาก็เริ่มขึ้นในไอร์แลนด์และดินแดนของเค้ลท์ที่ภาษาละตินเป็นภาษาต่างประเทศ และการสอนและการศึกษาเล่าเรียนเป็นภาษาละตินก็เป็นที่นิยมกันทั่วไป[30]

วิทยาศาสตร์

ในโลกยุคโบราณกรีกเป็นภาษาหลักของการศึกษาวิทยาศาสตร์ การสอนและการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ทำกันในบริเวณกรีกของจักรวรรดิโรมันด้วยภาษากรีก ในตอนปลายโรมันพยายามแปลงานกรีกเป็นภาษาละตินแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก[31] เมื่อความรู้ภาษากรีกลดถอยลง จักรวรรดิละตินทางตะวันตกก็ถูกตัดออกจากความรู้ทางปรัชญาและวิทยาศาสตร์ของกรีก เมื่อผู้พูดภาษาละตินต้องการจะศึกษาวิทยาศาสตร์ก็จะมีหนังสือให้ศึกษาเพียงสองสามเล่มโดยโบเธียสที่สรุปตำรากรีกที่เขียนโดยนิโคมาคัสแห่งเจราซา (Nicomachus of Gerasa) และสารานุกรมละตินที่รวบรวมโดยนักบุญอีซีโดโรแห่งเซบิยาในปี ค.ศ. 630

นักการศึกษาผู้นำในต้นคริสต์ศตวรรษก็เป็นนักบวชผู้ไม่มีความสนใจในการศึกษาด้านธรรมชาติวิทยาเท่าใดนัก การศึกษาด้านธรรมชาติวิทยาเป็นการศึกษาเพราะความจำเป็นมากกว่าที่จะเป็นความต้องการในการแสวงหาความรู้อย่างบริสุทธิ์ เช่นในความจำเป็นที่จะต้องรักษาผู้เจ็บป่วยนำไปสู่การศึกษาทางแพทย์จากตำราโบราณที่เกี่ยวกับเภสัชศาสตร์[32] หรือความจำเป็นของนักบวชที่จะต้องกำหนดเวลาที่จะต้องสวดมนต์ที่ทำให้หันไปหาความรู้เกี่ยวกับดาราศาสตร์[33] หรือการที่จะต้องคำนวณวันอีสเตอร์ทำให้ต้องไปศึกษาและสอนการคำนวณพื้นฐานและการโคจรของพระอาทิตย์และพระจันทร์[34] นักอ่านสมัยใหม่อาจจะพบว่าตำราที่มาจากยุคนี้มีความแปลกตรงที่บางครั้งในงานชิ้นเดียวกันผู้เขียนอาจจะให้คำอธิบายถึงธรรมชาติที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็กล่าวถึงความสำคัญทางสัญลักษณ์ของสิ่งที่เกิดขึ้นไปพร้อมกันด้วย[35]

สมัยตั้งแต่จักรวรรดิโรมันล่มไปจนถึงราว ค.ศ. 800 ที่มักจะเรียกกันผิดๆ ว่า “ยุคมืด” อันที่จริงแล้วเป็นสมัยที่มีการวางรากฐานของความก้าวหน้าที่จะมาเกิดขึ้นในสมัยกลางและสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาต่อมา[36]

สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการอแล็งเฌียง

ราวปี ค.ศ. 800 ยุโรปตะวันตกก็เริ่มหันกลับมีความสนใจกับการศึกษาคลาสสิกที่เป็นส่วนหนึ่งของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาคาโรแล็งเชียงขึ้น โดยชาร์เลอมาญทรงเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการปฏิรูปทางด้านการศึกษา ทางอังกฤษนักบวชอัลคิวอินแห่งยอร์ก (Alcuin) ก็เริ่มโครงการฟื้นฟูความรู้ด้านคลาสสิกโดยการก่อตั้งโครงการศึกษาที่มีพื้นฐานมาจากศิลปศาสตร์เจ็ดสาขาที่รวมทั้ง “ไตรศาสตร์” (“trivium”) หรือการศึกษาวรรณศิลป์สามอย่างที่ประกอบด้วย ไวยากรณ์, วาทศาสตร์ และ ตรรกศาสตร์ และ “จตุรศิลปศาสตร์” (“quadrivium”) หรือการศึกษาวิทยาศาสตร์สี่อย่างที่ประกอบด้วย คณิตศาสตร์, เรขาคณิต, ดาราศาสตร์ และ คีตศาสตร์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 787 เป็นต้นมาก็มีการเวียนประกาศไปทั่วจักรวรรดิให้มีการฟื้นฟูสถานศึกษาเดิมและก่อตั้งสถานศึกษาใหม่ ทางด้านสถาบันสถานศึกษาเหล่านี้บ้างก็อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักสงฆ์และมหาวิหาร บ้างก็อยู่ในความรับผิดชอบของราชสำนักหรือสำนักขุนนาง การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มาเห็นผลได้อย่างชัดเจนในหลายร้อยปีต่อมา การศึกษาในด้านตรรกศาสตร์มีส่วนทำให้เกิดการฟื้นฟูความสนใจในการตั้งปัญหาที่ประจวบกับธรรมเนียมการศึกษาด้านเทววิทยาศาสนาคริสต์ ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 และ 13 สถานศึกษาหลายแห่งที่ก่อตั้งขึ้นก็กลายมาเป็นมหาวิทยาลัยต่อมา

ไบแซนไทน์และยุคทอง

จุลจิตรกรรมจากหนังสือเพลงสวดสดุดีปารีสแสดงถึงการฟื้นฟูทางวัฒนธรรมของจักรวรรดิไบแซนไทน์ในคริสต์ศตวรรษที่ 10

ความรุ่งเรืองทางความรู้และการศึกษาของจักรวรรดิไบแซนไทน์มาจาก “ประมวลกฎหมายแพ่ง” (“Corpus Juris Civilis”) ซึ่งเป็นงานประมวลกฎหมายชิ้นใหญ่ที่มีพื้นฐานมาจากกฎหมายโรมันที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของจักรพรรดิจัสติเนียนมหาราช (ปกครอง ค.ศ. 528-ค.ศ. 565) งานนี้รวมทั้งส่วนที่เรียกว่า “ประมวลกฎหมายฉบับย่อ” (Pandects) ห้าสิบสองเล่ม ซึ่งเป็นฉบับที่สรุปหลักการของกฎหมายโรมันที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกสถานะการณ์โดยทั่วไป

ความสามารถในการอ่านและเขียนของฝ่ายไบแซนไทน์โดยทั่วไปมีระดับสูงกว่าทางโรมันตะวันตก ระบบการศึกษาเบื้องต้นมีอยู่โดยทั่วไปและบางครั้งแม้แต่ในชนบท ในระดับสูงขึ้นไปก็มีการสอน “อีเลียด” และตำราคลาสสิกต่างๆ แต่ระดับสูงกว่านั้นสถาบันเพลโตใหม่ (Neoplatonic Academy) ใน เอเธนส์ถูกปิดไปในปี ค.ศ. 526 โดยเพกัน แต่สถานศึกษาในอะเล็กซานเดรียในอียิปต์ยังคงเปิดสอนอยู่จนกระทั่งมาถูกปิดเมื่ออเล็กซานเดรียถูกพิชิตโดยอาหรับในปี ค.ศ. 640 มหาวิทยาลัยคอนสแตนติโนเปิลเดิมก่อตั้งโดยจักรพรรดิธีโอโดเซียสที่ 2 ในปี ค.ศ. 425 ก็อาจจะมาถูกยุบในช่วงเวลาเดียวกันนี้ด้วย แต่มาได้รับการก่อตั้งใหม่โดยจักรพรรดิมิคาเอลที่ 3 อีกครั้งในปี ค.ศ. 849 การศึกษาระดับสูงในยุคนี้เน้นการศึกษาทางวาทศาสตร์แต่ก็มีการศึกษาตรรกศาสตร์ของอริสโตเติลขั้นพื้นฐานอยู่บ้าง ระหว่างรัชสมัยของราชวงศ์มาเซโดเนียระหว่างปี ค.ศ. 867 ถึงปี ค.ศ. 1025) ไบแซนไทน์ก็อยู่ในสมัยยุคทองของการฟื้นฟูการศึกษาคลาสสิก งานค้นคว้าเดิมจากยุคนี้มีเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยแต่ที่มีคือศัพทานุกรม, ประชุมบทนิพนธ์, สารานุกรม และบทความเห็นที่เกี่ยวกับงานสมัยนี้

อิทธิพลของอิลสาม

ภายใต้การปกครองของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ระหว่างปี ค.ศ. 661 ถึงปี ค.ศ. 750 ผู้คงแก่เรียนอิสลามเน้นการศึกษาที่เกี่ยวกับอัลกุรอาน แต่ราชวงศ์อับบาซียะฮ์ที่ตามมาสนับสนุนการศึกษาของกรีกและมนุษย์วิทยาตามแนวคิดของตระกูลปรัชญามุอ์ตะซีลี (Mu'tazili) ของอิสลาม ตระกูลความคิดนี้ก่อตั้งขึ้นในบาสราโดยวะศีล อิบุน อะฏอ (واصل بن عطاء‎ - Wasil ibn Ata) (ค.ศ. 700ค.ศ. 748) ที่อยู่บนพื้นฐานที่ว่าอัลกุรอานมาจากอัลลอฮ์และอัลลอฮฺมีพระประสงค์อย่างเดียวคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ ปรัชญานี้ไม่เป็นที่ยอมรับกันโดยตระกูลปรัชญาอัชชาริยยะห์ (الأشاعرة - Ash'ariyyah) และ อาษาริยยะห์ (Athariyyah) ซึ่งเป็นตระกูลปรัชญาของซุนนีย์

ดังนั้น “ประตูแห่งอิญฏีหะ” (Gates of Ijtihad (اجتهاد) ) จึงเปิดขึ้นที่ทำให้เกิดการโต้แย้งกันภายในแวดวงระหว่างความคิดของปรัชญาตระกูลต่างๆ ของอิสลาม ที่เชื่อกันว่ามีด้วยกันถึง 135 ตระกูล ในปี ค.ศ. 800 แบกแดดเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก—และเป็นเมืองแรกที่มีประชากรถึงกว่าหนึ่งล้านคน แบกแดดเป็นที่ตั้งของ “หอสมุดแห่งปัญญา” (بيت الحكمة‎ - House of Wisdom) หรือ “บัยต อัล หิกมะห์” ที่เป็นศูนย์กลางของการศึกษาการปรัชญาของโลกมุสลิม นักปรัชญาเช่นอัล กินดี (أبو يوسف يعقوب إبن إسحاق الكندي - al-Kindī) (ค.ศ. 801ค.ศ. 873) และ อัล ฟารอบี (أبو نصر محمد الفارابي - al-Fārābī) (ค.ศ. 870ค.ศ. 950) แปลงานของอริสโตเติลและประยุกต์ปรัชญาให้สอดคล้องกับปรัชญาของศาสนาอิสลาม อัล เคาะวาริสมี (محمد بن موسی خوارزمی - Al-Khwārizmī) (ค.ศ. 780[37][38][39]-ค.ศ. 850) เขียน “ประชุมบทนิพนธ์เกี่ยวกับการคำนวณโดย Completion and Balancing” (The Compendious Book on Calculation by Completion and Balancing) ซึ่งเป็นงานพีชคณิตชิ้นแรก (คำว่า “Algebra” มาจากชื่อหนังสือที่เป็นภาษาอาหรับ คำว่า “Algorithm” แผลงมาจากชื่อผู้ประพันธ์ “Al-Khwārizmī”) นอกจากนั้นอัล เคาะวาริสมีก็ยังเขียน “ภาพของโลก” (The Image of the Earth) ซึ่งเป็นหนังสือฉบับปรับปรุงที่มีพื้นฐานมาจากหนังสือ “ภูมิศาสตร์” โดยทอเลมี และเข้าร่วมในโครงการวัดเส้นรอบวงองโลกโดยการวัดความยาวของดีกรีของเมอริเดียนบนที่ราบของอิรัก

จิตรกรรมหนังสือวิจิตรจากหนังสือสวดมนต์ชตุทการ์ท

แต่เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 10 ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความรุ่งเรืองทางความคิดทางปรัชญาต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็เริ่มปิด “ประตูแห่งอิญฏีหะ” การโต้แย้งในเรื่องมนุษย์วิทยาและปรัชญาต่างๆ คงยังดำเนินอยู่ต่อไปแต่ก็จำกัดลงมากขึ้นทุกขณะ โดยทั่วไปแล้วระบบการศึกษาของมุสลิมที่ขึ้นอยู่กับอารมณ์และความประสงค์ของผู้อุปถัมภ์และประมุขของอิสลาม ที่มิได้วิวัฒนาการขึ้นเป็นระบบมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่ถาวรเพื่อเป็นการสนับสนุนการศึกษานอกไปจากอัลกุรอาน

ในคริสต์ศตวรรษที่ 11 ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ชองอิสลามก็เผยแพร่เข้ามายังยุโรปตะวันตก อุปกรณ์ แอสโตรเลบ (astrolabe) ที่ใช้ในการคำนวณทางดาราศาสตร์ที่ค้นพบในสมัยคลาสสิกก็ได้รับการนำกลับมาฟื้นฟูขึ้นใช้ในยุโรปอีกครั้งหนึ่ง งานของยุคลิด และ อาร์คิมิดีสที่หายไปจากทางตะวันตกได้รับการแปลจากภาษาอาหรับกลับมาเป็นภาษาละตินในสเปน ตัวเลขฮินดู-เลขอารบิกสมัยใหม่รวมทั้งเลข “ศูนย์” ก็ได้รับการวิวัฒนาการขึ้นโดยนักคณิตศาสตร์ฮินดูในคริสต์ศตวรรษที่ 5 และ 6 นักคณิตศาสตร์อิสลามเรียนสิ่งต่างๆ เหล่านี้ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 และมาเพิ่มการใช้เศษส่วนทศนิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 9 และ 10 ราวปี ค.ศ. 1000 แกร์แบร์ตแห่งออริลแยค (ต่อมาเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาซิลเวสเตอร์ที่ 2) สร้างลูกคิดที่ตัวนับสลักเป็นเลขฮินดู-อาหรับ ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 วิทยานิพนธ์ที่เขียนโดยอัล เคาะวาริสมีเกี่ยวกับการคำนวณโดยใช้ตัวเลขเหล่านี้ก็ได้รับการแปลเป็นภาษาละตินในสเปน

ใกล้เคียง

ต้นสมัยกลาง ต้นสมอไทย ต้นไม้ตัดสินใจ ต้นไม้ของพ่อ ต้นไม้แบบที ต้นไม้แห่งการรู้ถึงความดีและความชั่ว ต้นไม้ (ทฤษฎีกราฟ) ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ต้นไม้ (โครงสร้างข้อมูล) ต้นไม้แดงดำ

แหล่งที่มา

WikiPedia: ต้นสมัยกลาง http://home.vicnet.net.au/~ozideas/poprus.htm http://calendar.dir.bg/inner.php?d=16&month=2&year... http://www.programata.bg/?p=62&c=1&id=51493&l=2 http://geography.about.com/library/weekly/aa011201... http://www.absoluteastronomy.com/topics/Rome http://www.britannica.com/eb/article-9239 http://www.britannica.com/ebi/article-207743 http://www.livescience.com/history/080623-hs-small... http://www.speedylook.com/Bulgaria.html http://www.unrv.com/empire/roman-population.php