ถั่วดาวอินคา
ถั่วดาวอินคา

ถั่วดาวอินคา

ถั่วดาวอินคา, ถั่วอินคา หรือ ซาจาอินจี (เกชัว: sach'a inchi; แปลว่า ถั่วป่า) เป็นพืชหลายปีชนิดหนึ่งในวงศ์ยางพารา (ไม่ใช่วงศ์ถั่ว) ลำต้นมีความสูงได้ถึงประมาณ 2 เมตร ใบเป็นรูปหัวใจ มีขนเล็ก ๆ บนใบ ฝักเป็นรูปดาวมี 4–7 แฉก สีเขียว เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ถั่วดาวอินคามีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้ (โบลิเวีย เปรู เอกวาดอร์ โคลอมเบีย เวเนซุเอลา ซูรินาม และภาคตะวันตกเฉียงเหนือของบราซิล) รวมทั้งในพื้นที่บางส่วนของหมู่เกาะวินด์เวิร์ดในภูมิภาคแคริบเบียน[2] ชนพื้นเมืองในป่าดิบชื้นแอมะซอนในเปรูรู้จักการเพาะปลูกพืชชนิดนี้มาช้านาน ปัจจุบันมีการเพาะปลูกเชิงพาณิชย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไทยเมล็ดถั่วดาวอินคามีปริมาณโปรตีนและน้ำมันสูง (ร้อยละ 27 และร้อยละ 35–60 ตามลำดับ) น้ำมันจากเมล็ดอุดมไปด้วยกรดไขมันจำเป็นอย่างกรดลิโนเลนิกในกลุ่มโอเมกา 3 (ร้อยละ 45–53 ของปริมาณไขมันทั้งหมด) และกรดลิโนเลอิกในกลุ่มโอเมกา-6 (ร้อยละ 34–39 ของปริมาณไขมันทั้งหมด) และกรดไขมันไม่จำเป็นในกลุ่มโอเมกา-9 (ร้อยละ 6–10 ของปริมาณไขมันทั้งหมด)[3][4] แม้ว่าเมล็ดสดและใบสดของถั่วดาวอินคาจะมีสารชีวพิษ แต่เมื่อผ่านกระบวนการให้ความร้อนก็จะปลอดภัยสำหรับการบริโภค[5] โดยเมล็ดที่คั่วแล้วอาจนำมาบริโภคเป็นของขบเคี้ยวอย่างถั่วทั่วไป ส่วนใบที่คั่วแล้วอาจนำมาเคี้ยวหรือชงเป็นเครื่องดื่ม[5]