แนวคิด ของ ทักษาเวียงเชียงใหม่

ภาพแสดงทักษาเมืองและวัดที่ประจำตามทักษาเมือง

สำหรับแนวคิดในเรื่องวัดทักษาเมืองนั้นเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช ด้วยในสมัยนั้นทางอาณาจักรล้านนากับอาณาจักรอยุธยาได้ทำศึกสงครามเพื่อแย่งชิงเมืองเชลียง ทางกรุงศรีอยุธยาได้ส่งพระเถระมังลุงหลวง ชาวพุกาม มาทำลายล้างเวียงเชียงใหม่ พระเถระมังลุงหลวงได้ออกอุบายลวงพระเจ้าติโลกราชว่า ถ้าหากพระองค์มีพระประสงค์จะมีพระบรมเดชานุภาพปราบไปทั้งชมพูทวีป พระองค์ควรตัดต้นไม้ศรีเมืองและสร้างพระราชฐานบริเวณศรีเมืองนั้น เมื่อพระเจ้าติโลกราชทรงทำตามคำยุ ตัดต้นไม้นิโครธ (ต้นไทร) อันเป็นไม้ศรีเมืองทิ้ง ก็เกิดอาเพทเหตุอุบาทว์ต่าง ๆ นานากับเวียงเชียงใหม่ นอกจากนี้ทางกรุงศรีอยุธยาได้ส่งพวกผาสี (ชาวจีนอิสลาม) มาทำคุณไสยฝังสิ่งอัปมงคลต่าง ๆ ภายในทักษาเวียงเชียงใหม่ เมื่อพระเจ้าติโลกราชทรงทราบความจริงจึงทำการฆ่าพระเถระมังลุงหลวงและพวกผาสีทิ้ง ด้วยความเชื่อที่ว่าบ้านเมืองถูกกระทำคุณไสย ทำให้เป็นที่สร้างความวิตกกังวลในหมู่ชาวเมืองและพระเจ้าติโลกราช ดังนั้นพรเจ้าติโลกราชได้รับสั่งให้เหล่านักปราชญ์ราชบัณฑิต พระเถระชั้นผู้ใหญ่ กระทำพิธีแก้ขึด โดยการย้ายและสร้างศูนย์กลางเมืองมาที่ใหม่คือ พระธาตุเจดีย์หลวง โดยการเปลี่ยนฐานะจากกู่ (สถูป) บรรจุอัฐิพระเจ้ากือนามาเป็นเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมทั้งสถาปนาวัดเจดีย์หลวงเป็นเกตุเมือง และทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่องค์พระเจดีย์ อีกทั้งให้หมื่นด้ำพร้าคต (สีหโคตเสนาบดี) เสริมสร้างความใหญ่โตและแข็งแรงให้แก่องค์พระเจดีย์เพื่อให้เป็นมิ่งขวัญเมือง พร้อมทั้งสถาปนาวัด 8 วัด ซ้อนทักษาเมืองเดิมที่ถูกทำลายไป (โดยเฉพาะศรีเมือง) และนี่ก็คือที่มาของวัดทักษาเมืองทั้ง 8 ทิศของเวียงเชียงใหม่ ซึ่งประกอบด้วย

  1. ศูนย์กลางเมือง หรือเกตุเมือง - วัดเจดีย์หลวง (โชติการาม)
  2. มูลเมือง - วัดบุพพาราม (อารามทิศตะวันออก)
  3. อุตสาหะเมือง - วัดชัยมงคล
  4. มนตรีเมือง - วัดนันทาราม
  5. กาลกิณีเมือง - วัดร่ำเปิง (ตโปธาราม)
  6. บริวารเมือง - วัดบุปผาราม (วัดสวนดอก)
  7. อายุเมือง - วัดเจ็ดยอด (โพธารามมหาวิหาร)
  8. เดชเมือง - วัดเชียงยืน (ทีฆวัสสาราม)
  9. ศรีเมือง - วัดชัยศรีภูมิ