วัฒนธรรมและภาพลักษณ์ทางการเมือง ของ ทักษิณ_ชินวัตร

เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2544 ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพล มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็น ประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 1,353 ตัวอย่าง ในหัวข้อ "ภาพลักษณ์นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ในสายตาประชาชน" ผลปรากฏว่าประชาชนมั่นใจทักษิณ ในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

มั่นใจไม่มั่นใจไม่มีความเห็น
ความสามารถในการเป็นผู้นำประเทศ90.27.22.6
ความสามารถในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ67.628.24.3
ไม่ปกป้องผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง33.348.318.4
ไม่แสวงหาผลประโยชน์จากโครงการต่าง ๆ35.138.126.8
ความสามารถในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง38.048.014.0
ความสามารถในการบริหารประเทศ85.19.25.6
ความจริงจังในการทำงานเพื่อประชาชน79.712.67.7
การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน77.610.312.0

[61]

แต่หลังจากที่มีรัฐประหารแล้ว เอแบคโพลเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,864 ตัวอย่าง ในหัวข้อ "อารมณ์และความรู้สึกเบื้องต้นของสาธารณชน ต่อพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เปรียบเทียบกับทักษิณ และภาพลักษณ์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ" ผลปรากฏว่าประชาชนส่วนใหญ่ ระบุภาพลักษณ์พลเอก สุรยุทธ์ ดีเหมือนเดิมถึงดีขึ้นในทุกตัวชี้วัด เช่นร้อยละ 65.1 ระบุความเป็นที่ไว้วางใจได้ ร้อยละ 63.2 ระบุด้านคุณธรรม เป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 60.2 ให้ความเชื่อมั่นต่อ พลเอก สุรยุทธ์[62]

ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552 เอแบคโพลเปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ และผลวิจัยเชิงคุณภาพ เรื่อง "ฐานสนับสนุนนักการเมือง กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เปรียบเทียบระหว่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ ทักษิณ ชินวัตร" กรณีศึกษาประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 27 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 4,286 ครัวเรือน ดำเนินโครงการสำรวจระหว่างวันที่ 22 - 24 ตุลาคม พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.4 ขออยู่ตรงกลาง ยังไม่สนับสนุนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ในขณะที่ ร้อยละ 25.0 สนับสนุน ทักษิณ ขณะที่ร้อยละ 21.6 สนับสนุนนายอภิสิทธิ์[63]

กลุ่มผู้สนับสนุน

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

นับตั้งแต่มีการจัดตั้งรัฐบาลสมัยที่สองเป็นต้นมา ทักษิณก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายผู้ไม่เห็นด้วย ผู้นิยมพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม และนักวิชาการที่มีแนวคิดแตกต่างกับรัฐบาล โดยทักษิณก็ตอบโต้ ด้วยการตั้งฉายาให้กลุ่มนักวิชาการ และผู้ที่วิจารณ์อยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ เช่นกลุ่มรู้ทันทักษิณ หรือธีรยุทธ บุญมี ว่าเป็น “ขาประจำ”

ต่อมา ปลายปี พ.ศ. 2548 ทักษิณมอบหมายให้ธนา เบญจาธิกุล ทนายความส่วนตัว ยื่นฟ้องสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการต่อศาลแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 1,000 ล้านบาท รวมถึงในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจในทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศ ก็ยื่นฟ้องสนธิในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย แต่หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ทักษิณ จึงมอบหมายให้ธนาดำเนินการถอนฟ้อง เพื่อรับสนองกระแสพระราชดำรัส พร้อมกันนี้ ศาลก็ได้ยกคำร้องของตำรวจไปทั้งหมด[64][65]

ค่ำวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2549 พลตำรวจเอก ประทิน สันติประภพ, คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, กล้านรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช., สนธิ ลิ้มทองกุล และพวก นำประชาชนที่มาร่วมชมรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรที่สวนลุมพินี กว่า 3,000 คน เดินเท้ามายังหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันให้ทักษิณลาออกจากตำแหน่ง อีกทั้งมีบางส่วนที่บุกรุกเข้าไปทำลายทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย และเนื่องจากรุ่งขึ้นเป็นวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งจะมีเด็กและเยาวชนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก จึงมีการสลายการชุมนุมในคืนวันนั้น[66]

จากกรณีการขายหุ้น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ทำให้บุคคลบางกลุ่มที่ต่อต้านทักษิณ และที่เห็นว่าทักษิณหลีกเลี่ยงภาษี ร่วมกันแสดงท่าทีขับไล่ทักษิณออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึงการเข้าร่วมชุมนุมประท้วง ที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลทักษิณจัดขึ้นนานมาแล้ว จนเมื่อเกิดการขายหุ้นดังกล่าว ตามที่สนธิ ลิ้มทองกุลคาดการณ์ไว้แล้ว ส่งผลให้มีผู้ร่วมชุมนุมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

เย็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ทักษิณประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 โดยกล่าวถึงเหตุผลในตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อเวลา 20.30 น. คืนวันเดียวกันว่า มีกลุ่มผู้ประท้วงที่ต่อต้านระบอบประชาธิปไตย กดดันให้ตนลาออกจากตำแหน่ง[67]

วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2549 พรรคไทยรักไทยจัดการปราศรัยใหญ่ ที่ท้องสนามหลวง โดยทักษิณ ในฐานะหัวหน้าพรรค ขึ้นปราศรัยในเวลา 20.00 น. มีผู้เดินทางมาฟังปราศรัยประมาณสองแสนคน จนเต็มท้องสนามหลวง [68][69]

วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2549 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยแกนนำทั้งห้า นำประชาชนจำนวนหนึ่งปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันทุกวิถีทาง ให้ทักษิณ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเว้นวรรคทางการเมือง อีกทั้งต้องตรวจสอบทรัพย์สินทั้งหมด แต่ทักษิณก็ยืนยันว่า ตนจะลาออกจากตำแหน่งรักษาการไม่ได้ โดยให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 215 วรรคสอง บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ จึงไม่สามารถลาออกจากตำแหน่งได้[70]

วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพรรคฝ่ายค้านสามพรรค คือพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ประกาศว่าจะไม่ส่งผู้สมัครลงรับการเลือกตั้ง และมีการกล่าวหาว่า พรรคไทยรักไทยจ้างให้พรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อมิให้ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พุทธศักราช 2542 โดยผลการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคไทยรักไทยยังได้รับคะแนนเสียงข้างมาก ซึ่งในการเลือกตั้งมีปัญหาอยู่หลายอย่างคือ มีแค่ผู้สมัครพรรคไทยรักไทยเพียงพรรคเดียวลงรับสมัครเลือกตั้ง และได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 20 และปัญหาหลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับการฉักบัตรเลือกตั้งซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และ ส.ส. มีจำนวนไม่ครบในสภา แถมยังมีการจ้างพรรคเล็ก ๆ ลงเลือกตั้ง เพื่อหลีกเลี่ยง การได้คะแนนมากกว่าร้อยละ 20 จนกระทั่งไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้

วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2549 เวลา 20.30 น. ทักษิณ ออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่า แม้พรรคไทยรักไทยจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งก็ตาม แต่ตนจะไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก แต่จำเป็นจะต้องรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อรอการสรรหาคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีที่เหมาะสม

วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย ให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน เป็นโมฆะ และหารือกับคณะรัฐมนตรีแล้วเห็นด้วยที่จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2549 และเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง 3 คน

วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2549 ทักษิณ เดินทางด้วยเครื่องบินประจำตำแหน่ง ไปยังนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ

วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลากลางคืน คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นำโดยพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ทำการยึดอำนาจการปกครอง จากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยอ้างเหตุว่า การบริหารราชการแผ่นดินโดยมิชอบธรรม และสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ในขณะที่ทักษิณยังปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ และได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการเลือกตั้งในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2549 และได้ประกาศให้อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ได้ประกาศแต่งตั้ง พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี และจัดตั้ง รัฐบาลชั่วคราว

การขับไล่ทักษิณ ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

การขับไล่ทักษิณ ให้ลาออกจากตำแหน่ง เริ่มต้นขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2548 จากการนำของสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้จัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ต่อมาเปลี่ยนสภาพเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งขยายตัวออกไปยังบุคคลหลากหลายสาขาอาชีพในเวลาต่อมา[71] [72] [73] การขับไล่ทักษิณ สิ้นสุดลงในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 หลังจากการก่อรัฐประหาร

กรณีศาลท้าวมหาพรหม

ในช่วงเช้าของวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2549 ธนกร ภักดีผล ผู้เคยมีประวัติอาการทางจิตและภาวะซึมเศร้า เข้าทำลายรูปปั้นท้าวมหาพรหม ใจกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งภายหลังถูกชาวบ้านทุบตีจนเสียชีวิต[74] จากเหตุการณ์ดังกล่าว สนธิ ลิ้มทองกุล หยิบยกมากล่าวอ้างในการชุมนุมในวันรุ่งขึ้นว่า ทักษิณบงการให้เกิดการทำลายเทวรูปดังกล่าว และแทนที่เทวรูปพระพรหมด้วย "อำนาจมืด" ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับเขา[75] สนธิยังกล่าวอ้างต่อไปว่า ทักษิณว่าจ้างให้ธนกรกระทำการดังกล่าว ผ่านทางชาแมนมนต์ดำเขมร[76] โดยสนธิอ้างว่า เนื่องจากทักษิณ "เป็นผู้หลงใหลอยู่ในความเชื่อที่ผิด" และกระทำการดังกล่าวเพื่อ "เป็นการปัดเป่าลางร้าย"[77] สายันต์ ภักดีผล บิดาผู้เสียชีวิต กล่าวว่าสนธิเป็น "คนโกหกคำโตที่สุดที่เคยเจอมา"[76] ส่วนทักษิณมองว่า การกล่าวอ้างของนายสนธิ "บ้า" และจนถึงปัจจุบัน นายสนธิก็ยังปฏิเสธจะให้ "ข้อมูลเชิงลึก" แก่สาธารณชนในเรื่องดังกล่าว

การวิจารณ์จากสื่อต่างประเทศ

วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2545 นิตยสาร "ฟาร์อิสเทิร์นอีโคโนมิกรีวิว" (Far Eastern Economic Review) ลงบทความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับ ทักษิณ โดยรัฐบาลไทยออกคำสั่งห้ามจำหน่าย นิตยสารดังกล่าว และระงับหนังสือเดินทาง ของชอวน์ คริสปิน (Shawn Crispin) กับรอดนีย์ แทสเกอร์ (Rodney Tasker) ผู้สื่อข่าวของนิตยสาร โดยให้เหตุผลว่า เป็นภัยต่อความมั่นคง[78] อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ. 2553 หลังจากที่ ทักษิณ พ้นจากตำแหน่งไป โดยรัฐประหารแล้ว พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อ้างว่า "...เจ้าฟ้าชายยังทรงรักษาสัมพันธภาพบางอย่าง กับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณเอาไว้ พระองค์ทรงพบกับทักษิณเป็นระยะ ๆ ..."[79]

นิตยสาร Foreign Policy ในเครือวอชิงตันโพสต์ ยกตัวอย่างทักษิณเป็นอดีตผู้นำของโลกคนหนึ่งที่ไม่ปฏิบัติเป็นตัวอย่างที่ดีหลังจากพ้นตำแหน่ง โดยอ้างถึงการเคลื่อนไหวทางการเมือง หลังถูกรัฐประหารด้วยข้อกล่าวหาทุจริต และละเมิดสิทธิมนุษยชน[80] ส่วนนิตยสารฟอบส์ จัดอันดับให้ทักษิณเป็นหนึ่งในบุคคลร่ำรวยที่สุดในโลกที่ใช้ชีวิตในคุกหรืออยู่ระหว่างหลบหนีคดี โดยที่ทักษิณถูกตั้งข้อหาก่อการร้ายระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ทักษิณปฏิเสธข้อกล่าวหานี้[81]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ทักษิณ_ชินวัตร http://www.212cafe.com/freewebboard/view.php?user=... http://www.alittlebuddha.com/html/Special%20Event/... http://www.alittlebuddha.com/html/Thaislang/Thaisl... http://us.asiancorrespondent.com/bangkok-pundit-bl... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics... http://www.bangkokpost.com/election2001/thaksinpro... http://www.bangkokpost.com/news/politics/143140/mo... http://www.charliethaiguide.com/mcontents/marticle... http://www.charliethaiguide.com/mcontents/marticle... http://tri333.exteen.com/