การเพาะปลูกและการค้า ของ ทุเรียน

แผงขายทุเรียนในสิงคโปร์

ทุเรียนเป็นพืชพื้นเมืองของอินโดนีเซีย, มาเลเซีย และบรูไน แต่สำหรับแนวคิดที่ว่า ทุเรียนเป็นพืชพื้นเมืองของฟิลิปปินส์ด้วยหรือไม่นั้นยังคงเป็นที่โต้แย้งกันอยู่[10] ทุเรียนนั้นขึ้นได้ดีในดินร่วนซุยหรือดินร่วนปนทราย ชอบแสงแดด ชอบน้ำปานกลาง สามารถเจริญเติบโตในพื้นที่ๆมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น และจะชะงักหยุดเจริญเติบโตเมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า 22 °C (72 °F)[11] ทุเรียนจะให้ผลผลิตหลังการปลูก 5-6 ปี ช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูงประมาณ 10 ปีขึ้นไป

ศูนย์กลางความหลากหลายทางระบบนิเวศของทุเรียนนั้นอยู่ที่เกาะบอร์เนียว ซึ่งมีทุเรียนรับประทานได้อย่าง D. zibethinus, D. dulcis, D. graveolens, D. kutejensis, D. oxleyanus และ D. testudinarum ซึ่งมีขายเฉพาะในตลาดท้องถิ่นเท่านั้น ในบรูไน ทุเรียนชนิด D. zibethinus ไม่มีการปลูกเชิงการค้า เพราะผู้บริโภคนิยมรับประทานทุเรียนชนิดอื่นมากกว่า อย่างชนิด D. graveolens, D. kutejensis และ D. oxleyanus ชนิดเหล่านี้มีการกระจายพันธุ์ทั่วบรูไนร่วมกับชนิดอื่น ๆ อย่าง D. testudinarum และ D. dulcis ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางระบบนิเวศที่สูงมาก[26]

ทุเรียนในถุงตาข่ายโดยไม่แช่เย็น ซึ่งขายอยู่ที่ตลาดในรัฐแคลิฟอร์เนีย

ถึงแม้ว่าทุเรียนจะไม่มีถิ่นกำเนิดในไทยแต่ก็สามารถปลูกได้ในทุกพื้นที่ของประเทศ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกหลักในการส่งออกทุเรียน จากผลผลิต 781,000 ตันที่ผลิตได้ในประเทศไทย จากผลผลิตรวมทั่วโลก 1,400,000 ตัน และในปี พ.ศ. 2542 มีการส่งออกถึง 111,000 ตัน[27] ประเทศมาเลเซียและประเทศอินโดนีเซียเป็นอันดับรองลงมา แต่ละประเทศมีผลผลิตประมาณ 265,000 ตัน ซึ่งในจำนวนนี้ มาเลเซียส่งออกผลผลิต 35,000 ตัน[27] ในประเทศไทย จังหวัดจันทบุรีมีการจัดงานมหกรรมทุเรียนโลกในต้นเดือนพฤษภาคมทุกปี แค่เพียงจันทบุรีจังหวัดเดียวก็มีผลผลิตถึงครึ่งหนึ่งของผลผลิตรวมในประเทศไทย[28][29] ในประเทศฟิลิปปินส์ ศูนย์กลางการปลูกทุเรียนอยู่ที่จังหวัดดาเวา เทศกาลคาดายาวัน (Kadayawan) เป็นการเฉลิมฉลองประจำปีในเมืองดาเวาที่มีสิ่งที่เป็นลักษณะเด่นของเมืองอย่างทุเรียนรวมอยู่ด้วย สถานที่อื่นที่มีการปลูกทุเรียนก็มี กัมพูชา, ลาว, เวียดนาม, พม่า, อินเดีย, ศรีลังกา, แคริบเบียน, รัฐฟลอริดา, รัฐฮาวาย, ปาปัวนิวกินี, โพลินีเซีย, มาดากัสการ์, ตอนใต้ของจีน (เกาะไหหลำ), ตอนเหนือของออสเตรเลีย, และสิงคโปร์

มีการนำทุเรียนเข้าสู่ออสเตรเลียในตอนต้นของช่วงปี พ.ศ. 2503 และมีการนำเข้าต้นพันธุ์ (ขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ) ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2518 มีการนำทุเรียนชนิด D. zibethinus มากกว่า 30 พันธุ์และทุเรียน 6 ชนิดเข้ามาในประเทศออสเตรเลียหลังจากนั้น[30] ประเทศจีนเป็นประเทศผู้นำเข้าหลัก มีการซื้อถึง 65,000 ตันในปี พ.ศ. 2542 ตามมาด้วยประเทศสิงคโปร์ 40,000 ตัน และประเทศไต้หวัน 5,000 ตันในปีเดียวกัน สหรัฐอเมริกามีการนำเข้าทุเรียน 2,000 ตัน ส่วนมากอยู่ในรูปแบบแช่เย็น และประชาคมยุโรปมีการนำเข้า 500 ตัน[27]

เนื้อทุเรียนบรรจุห่อสำหรับขาย

ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีผลผลิตเป็นฤดูกาล ไม่เหมือนผลไม้เมืองร้อนอื่น ๆ อย่างเช่น มะละกอ ซึ่งหาทานได้ตลอดปี ในมาเลเซียตะวันตกและสิงคโปร์ ปกติแล้วฤดูกาลของทุเรียนจะอยู่เดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ซึ่งตรงกับมังคุด[10] ในไทยฤดูกาลของทุเรียนในภาคตะวันออก คือ เดือนเมษายนถึงมิถุนายน และภาคใต้คือเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ทุเรียนจะมีราคาสูงกว่าเมื่อเทียบกับผลไม้ชนิดอื่น เช่น ในสิงคโปร์ ซึ่งมีความต้องการในทุเรียนสายพันธุ์ที่มีคุณภาพสูง เช่น D24 เป็นต้น มีผลให้ราคาทั่วไปอยู่ที่ S$8 ถึง S$15 (192-360 ฿) ต่อกิโลกรัม เมื่อชั่งทั้งผล[22] หรือเมื่อเฉลี่ยน้ำหนักประมาณ 1.5 กก. ผลทุเรียนหนึ่งผลจะมีราคา S$12 ถึง S$22 (288-528฿)[22] ส่วนที่รับประทานได้ของทุเรียนนั้นคือเยื่อหุ้มเมล็ดหรือที่เรียกกันว่า "เนื้อ" หรือ "พู" ซึ่งมีน้ำหนักเพียง 15-30% ของน้ำหนักรวมของผล[10] แต่ถึงกระนั้น ผู้บริโภคจำนวนมากในสิงคโปร์ก็ยังเต็มใจที่จะจ่ายเงินราว ๆ S$75 (1,800฿) ในการซื้อทุเรียนหนึ่งครั้งจำนวนครึ่งโหลเพื่อไปแบ่งกันทานในครอบครัว[22]

ในฤดูกาลของทุเรียนนั้นสามารถพบทุเรียนได้ในซูเปอร์มาร์เก็ตของชาวญี่ปุ่นเป็นหลัก ขณะที่ทางตะวันตกส่วนมากจะขายในตลาดของชาวเอเชีย

พืชสงวน

ทุเรียนเป็นหนึ่งในพืชสงวน 11 ชนิดตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ในมาตรา 30 กำหนดไว้ว่าห้ามมิให้ผู้ใดส่งออกซึ่งพืชสงวน เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรี และเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทดลอง หรือวิจัยในทางวิชาการเท่านั้น ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[31] ทั้งนี้เนื่องมาจากเกรงว่าหากพันธุ์พืชที่ดีเหล่านี้ถูกนำไปปลูกในต่างประเทศแล้ว ก็จะกลับมาเป็นคู่แข่งทางการค้าได้[32]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ทุเรียน http://202.129.0.133/plant/durion/1.html http://www.proscitech.com.au/trop/d.htm http://etext.library.adelaide.edu.au/b/banfield/ej... http://www.bigfootencounters.com/creatures/mawas.h... http://www.durianpalace.com/ http://www.foodmarketexchange.com/datacenter/produ... http://www.jambiexplorer.com/content/orangpendek.h... http://kullastree.com/site/index.php?option=com_co... http://www.lanna-hospital.com/lnh/index.php?option... http://www.montosogardens.com/durio_zibethinus.htm