รสชาติและกลิ่น ของ ทุเรียน

ป้ายห้ามนำทุเรียนขึ้นรถบนรถไฟฟ้าของสิงคโปร์

รสชาติและกลิ่นที่ไม่ธรรมดาของทุเรียนทำให้หลาย ๆ คนแสดงปฏิกิริยาที่ต่างกัน จากชอบมากจนถึงรังเกียจอย่างรุนแรง ในปี พ.ศ. 2399 นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษที่ชื่ออัลเฟรด รัสเซล วอลเลซได้เขียนพรรณนาถึงรสชาติของทุเรียนไว้ดังนี้

มี 5 โพรงสีขาวอยู่ภายใน แต่ละโพรงบรรจุไปด้วยเนื้อผลไม้สีครีมที่มีเมล็ดประมาณ 3 เมล็ดในแต่ละชิ้น เนื้อในสามารถรับประทานได้และมีรสชาติเหนือจะบรรยาย เนื้อที่เหมือนคัสตาร์ดมันย่อง มีรสชาติกลมกล่อมคล้ายอาลมอนด์ให้ความรู้สึกดี แต่บางทีรสชาตินี้ทำให้นึกถึงครีมชีส, ซอสหัวหอม, ไวน์เชร์รี และอาหารอื่น ๆ ที่ไม่เข้ากันเลย แล้วยังมีความเรียบเหนียวในเนื้อที่ไม่มีใครเทียบแต่กับเพิ่มความอร่อยให้กับทุเรียน ทุเรียนไม่เปรี้ยว ไม่หวาน ไม่ฉ่ำ ทุเรียนไม่ต้องการสิ่งเหล่านี้มันก็สมบูรณ์แบบด้วยตัวของมันเอง เมื่อรับประทานไม่มีอาการคลื่นไส้หรือผลกระทบที่เลวร้ายอื่น ๆ และเมื่อรับประทานเพิ่มขึ้น ๆ คุณจะรู้สึกว่ายากที่จะหยุดได้ ในข้อเท็จจริง การรับประทานทุเรียนเป็นการเดินทางที่คุ้มค่าให้ความรู้สึกใหม่ ๆ ในประสบการณ์ทางดินแดนตะวันออก...[33]

ขณะเดียวกันวอลเลซก็เตือนว่า "กลิ่นของผลไม้ที่สุกงอมนี้ร้ายกาจเลยทีเดียว" นอกจากวอลเลซแล้วยังมีชาวตะวันตกบรรยายถึงรสชาติและกลิ่นของทุเรียนไว้อีกมากมาย แอนโทนี เบอร์เกสส์ (Anthony Burgess) นักประพันธ์ชาวอังกฤษเขียนไว้ว่า การรับประทานทุเรียน "เหมือนรับประทานขนมหวานเย็นเหมือนเยลลี่ราสเบอร์รีหวานในห้องส้วม"[34] แอนดริว ซิมเมอน์ (Andrew Zimmern) พ่อครัวได้เปรียบรสชาติของทุเรียนเป็น "ของเน่า, หัวหอมใหญ่เหลว"[35] แอนโทนี บอร์เดน (Anthony Bourdain) ผู้รักในทุเรียน บรรยายการเผชิญหน้ากับทุเรียนไว้ดังนี้: "รสชาติของมันพูดได้อย่างเดียวว่า... สุดจะพรรณนา เป็นสิ่งที่คุณจะทั้งรักทั้งชัง... กินเข้าไปแล้วกลิ่นปากเหมือนกับไปจูบศพยายมา"[36] ริชาร์ด สเตอร์ลิง (Richard Sterling) นักเขียนเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและอาหารกล่าวว่า:

... สิ่งที่บรรยายได้ดีที่สุดเกี่ยวกับกลิ่นของทุเรียนคือขี้หมู น้ำมันสน และหัวหอมใหญ่ ตกแต่งด้วยถุงเท้าเน่า ๆ มันส่งกลิ่นได้ไกลหลายหลา แม้จะเป็นที่นิยมในหมู่ประชากรในพื้นที่แต่ผลไม้ที่ยังไม่ได้แปรรูปเป็นสิ่งต้องห้ามในบางสถานที่ เช่น โรงแรม รถไฟใต้ดิน และสนามบิน รวมถึงระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[37]

ไฮโดรเจนซัลไฟด์ หนึ่งในองค์ประกอบทางเคมีที่เป็นต้นเหตุให้ทุเรียนมีกลิ่นเฉพาะตัว

นอกจากนี้ยังมีการเปรียบเทียบกลิ่นทุเรียนกับชะมด น้ำเน่า อ้วกเก่า กลิ่นสกังก์ และฟองน้ำใช้แล้ว[38] การบรรยายถึงกลิ่นทุเรียนที่หลากหลายนี้บ่งบอกถึงความแปรผันของกลิ่นทุเรียนเองที่มีมากมาย ทุเรียนที่ต่างชนิดหรือต่างสายพันธุ์กันมีกลิ่นเฉพาะตัวที่ต่างกัน เช่น ทุเรียนแดง (D. dulcis) มีรสชาติคล้ายคาราเมลเข้มข้น มีกลิ่นคล้ายน้ำมันสนขณะที่ทุเรียนแดงเลือดนก (D. graveolens) มีกลิ่นหอมเหมือนอาลมอนด์คั่ว[39] ในทุเรียนชนิด D. zibethinus, ทุเรียนจากประเทศไทยมีรสชาติหวานกว่าและมีกลิ่นน้อยกว่าทุเรียนจากประเทศมาเลเซีย[10] อัตราความสุกงอมมีผลต่อรสชาติด้วย[10] การวิเคราะห์กลิ่นของทุเรียนทางวิทยาศาสตร์สามครั้งในปี พ.ศ. 2515, 2523 และ 2538 พบส่วนผสมของสารระเหยที่ประกอบไปด้วย เอสเทอร์, คีโทน และสารประกอบกำมะถันที่ต่างกัน สารเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุของกลิ่นเฉพาะตัวของทุเรียน แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับ[10]

ความสุกงอมและการเลือกซื้อ

ผู้บริโภคในประเทศมาเลเซียดมทุเรียนก่อนซื้อ

ตามหนังสือ Larousse Gastronomique (สารานุกรมการปรุงอาหาร) ทุเรียนพร้อมรับประทานได้เมื่อเปลือกเริ่มแตก[40] อย่างไรก็ตามระยะความสุกงอมที่เหมาะสมนั้นมีความชอบหลากหลายต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และชนิดของทุเรียน ทุเรียนบางชนิดมีลำต้นที่สูงมากทำให้เราสามารถเก็บผลของมันได้ก็ต่อเมื่อตกลงพื้นแล้ว ส่วนสายพันธุ์ของ D. zibethinus นั้นจะตัดผลจากต้นเมื่อใกล้สุกและปล่อยให้สุกขณะที่รอขาย ประชากรบางส่วนในภาคใต้ของประเทศไทยชอบทุเรียนที่ยังห่ามเนื้อสดกรอบและมีรสที่จืดนุ่ม ในภาคเหนือของประเทศไทยชอบเนื้อนิ่มและมีกลิ่นแรง ในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ชอบทุเรียนที่ค่อนข้างจะสุกงอมและอาจจะถึงกับให้รอให้สุกมากขึ้นหลังจากเปลือกทุเรียนแตกแล้ว ในกรณีนี้ เนื้อจะกลายเป็นเหลวกลายเป็นครีม มีแอลกอฮอล์เล็กน้อย[38] กลิ่นและรสชาตินั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก

ความชอบของผู้บริโภคที่แตกต่างกันในความสุกของทุเรียนทำให้ยากที่จะบอกถึงการเลือกทุเรียนที่ดีได้ ทุเรียนที่ตกลงมาจากต้นจะสุกงอมในสองถึงสี่วัน แต่หลังจากห้าถึงหกวันจะสุกมากเกินไปและมีรสปร่า[41] คำแนะนำทั่วไปสำหรับผู้บริโภคทุเรียนในการเลือกผลไม้นี้ในตลาด คือให้พิจารณาก้านทุเรียนที่แห้งตามอายุของมัน มีขนาดใหญ่ ก้านที่แข็งบอกถึงความสดของทุเรียน[42] มีรายงานถึงการคดโกงของผู้ขายด้วยการห่อ ทาสี หรือนำก้านออกไป คำแนะนำที่พบบ่อย ๆ อีกอย่าง คือเขย่าทุเรียนและฟังเสียงเมล็ดที่เคลื่อนไหวอยู่ภายในซึ่งแสดงถึงว่าทุเรียนสุกมากเพราะเนื้อฝ่อลงเล็กน้อย[42]

ในหนังสือสารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน เล่ม 28 กล่าวถึงวิธีดูทุเรียนสุกไว้ดังนี้[16]:

  1. สังเกตก้านผล ก้านผลจะแข็งและมีสีเข้มขึ้น เมื่อลูบจะรู้สึกสากมือ เมื่อจับก้านผลแล้วแกว่งผลทุเรียน จะรู้สึกว่าก้านผลทุเรียนยืดหยุ่นมากขึ้น ก้านผลบริเวณปากปลิงจะบวมโต เห็นรอยต่อชัดเจน
  2. สังเกตหนาม ปลายหนามแห้ง มีสีน้ำตาลเข้ม เปราะและหักง่าย ดังนั้น เมื่อมองจากด้านบนของผลจะเห็นหนามเป็นสีเข้ม หนามมีลักษณะกว้างออก ร่องหนามห่าง เวลาบีบปลายหนามเข้าหากันจะรู้สึกว่ายืดหยุ่น
  3. สังเกตรอยแยกระหว่างพู ผลทุเรียนที่แก่จัดจะสังเกตเห็นรอยแยกบนพูได้อย่างชัดเจน ยกเว้นบางพันธุ์ที่ปรากฏไม่เด่นชัด เช่น พันธุ์ก้านยาว
  4. การชิมปลิง ผลทุเรียนที่แก่จัด เมื่อตัดขั้วผลหรือปลิงออก จะพบน้ำใสซึ่งไม่ข้นเหนียวเหมือนในทุเรียนอ่อน และเมื่อใช้ลิ้นแตะชิมดูจะมีรสหวาน
  5. การเคาะเปลือกหรือกรีดหนาม เมื่อเคาะเปลือก ผลทุเรียนที่แก่จัดจะมีเสียงดังหลวม ๆ เนื่องจากมีช่องว่างระหว่างเปลือกและ เนื้อภายในผล เสียงหนักหรือเบาแตกต่าง กันไป ขึ้นอยู่กับพันธุ์และอายุของต้นทุเรียน
  6. การปล่อยให้ทุเรียนร่วง ปกติดอกทุเรียนแต่ละรุ่นในแต่ละต้นจะบานไม่พร้อมกัน และมีช่วงต่างกันไม่เกิน 10 วัน ดังนั้น เมื่อมีผลทุเรียนในต้นเริ่มแก่ สุก และร่วง ก็เป็นสัญญาณเตือนว่า ผลทุเรียนที่เหลือในรุ่นนั้นแก่แล้วสามารถเก็บเกี่ยวได้
  7. การนับอายุ โดยนับอายุผลเป็นจำนวนวันหลังดอกบาน เช่น พันธุ์ชะนี ใช้เวลา 100 - 105 วัน เป็นต้น การนับวันหรืออายุของผลจะแตกต่างกันเล็กน้อยในแต่ละปี และในแต่ละท้องถิ่น ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ เช่น ถ้าปีใดมีอุณหภูมิเฉลี่ยค่อนข้างสูง ผลทุเรียนจะแก่เร็วกว่าปีที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า

แหล่งที่มา

WikiPedia: ทุเรียน http://202.129.0.133/plant/durion/1.html http://www.proscitech.com.au/trop/d.htm http://etext.library.adelaide.edu.au/b/banfield/ej... http://www.bigfootencounters.com/creatures/mawas.h... http://www.durianpalace.com/ http://www.foodmarketexchange.com/datacenter/produ... http://www.jambiexplorer.com/content/orangpendek.h... http://kullastree.com/site/index.php?option=com_co... http://www.lanna-hospital.com/lnh/index.php?option... http://www.montosogardens.com/durio_zibethinus.htm