ประวัติ ของ ท่านหญิงนิโจ

ชีวิตในราชสำนัก

ท่านหญิงนิโจเกิดในตระกูลโคงะ ซึ่งเป็นสาขาของตระกูลมินาโมโตะ ซึ่งสืบเชื้อสายจากเจ้าชายโทโมฮิระ พระราชโอรสลำดับที่เจ็ดของจักรพรรดิมูรากามิ[1] ซึ่งจักรพรรดิโกะ-ซันโจทรงให้มินาโมโตะ โนะ โมโรฟูซะ พระโอรสของเจ้าชายโทโมฮิโระ เข้ารับราชการในราชสำนัก[1] ทั้งพ่อและปู่ของท่านหญิงนิโจล้วนดำรงตำแหน่งเป็นขุนนางชั้นสูงในราชสำนัก และเครือญาติของเธอหลายคนก็เป็นผู้มีชื่อเสียงด้านวรรณกรรม ชื่อจริงของท่านหญิงนิโจไม่เป็นที่ปรากฏ เพราะชื่อ "นิโจ" เป็นชื่อที่เรียกกันในราชสำนักที่กำหนดชื่อนางในเป็นชื่อถนนเพื่อบ่งฐานานุศักดิ์ของแต่ละคน โดย "นิโจ" แปลว่า "ถนนสายที่สอง" ถือเป็นตำแหน่งชั้นสูง เพราะใกล้ชิดกับ "ถนนสายที่หนึ่ง" อันเป็นที่ตั้งของราชมนเทียร[2]

ใน โทวาซูงาตาริ ระบุว่าจักรพรรดิโกะ-ฟูกากูซะทรงมีจิตประดิพัทธ์กับซูเกได มารดาของท่านหญิงนิโจ แต่ไม่นานหลังจากนั้น นางให้กำเนิดท่านหญิงนิโจ และก็ถึงแก่กรรมให้กำเนิดบุตรสาวไม่นานนัก จักรพรรดิโกะ-ฟูกากูซะทรงเปลี่ยนพระทัยไปรักท่านหญิงนิโจแทน ท่านหญิงนิโจถูกขึ้นถวายตัวเมื่ออายุสี่ขวบ และได้รับการเลี้ยงดูอย่างกุลสตรีชาววัง ครั้น ค.ศ. 1271 ขณะท่านมีอายุ 14 ปี บิดาได้ถวายท่านหญิงขึ้นเป็นบาทบริจาริกาในจักรพรรดิโกะ-ฟูกากูซะ[3] แต่ไม่มีหลักฐานว่าท่านหญิงนิโจได้รับการแต่งตั้งเป็นบาทบริจาริกาอย่างเป็นทางการ (เซไซ) หรือเป็นบาทบริจาริกาลับ (เมชูโดะ)[4]

ชีวิตในราชสำนักของท่านหญิงเต็มไปด้วยอุปสรรค เพราะเมื่อท่านอายุได้ 15 ปี บิดาก็ถึงแก่กรรม ทำให้ท่านหญิงขาดผู้สนับสนุนในราชสำนัก[5] ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างท่านหญิงนิโจกับองค์จักรพรรดิก็เต็มไปด้วยความตึงเครียด เพราะท่านหญิงคบชู้กับชายหลายคนมานานหลายปี มีคนหนึ่งรู้จักกันมาก่อนที่ท่านจะถวายตัวเป็นบาทบริจาริกา ท่านหญิงนิโจให้ประสูติการพระราชโอรสที่เกิดกับองค์จักรพรรดิใน ค.ศ. 1273 แต่ก็สิ้นพระชนม์ในปีถัดมา ส่วนบุตรอีกสามคนไม่ได้เกิดจากความสัมพันธ์กับองค์จักรพรรดิ โดยเกิดจากไซอนจิ ซาเนกาเนะ เป็นหญิงคนหนึ่ง (เกิดใน ค.ศ. 1275) และเกิดจากเจ้าชายโชโจะ เป็นพระโอรสองค์ใหญ่ (ประสูติ ค.ศ. 1281) และโอรสองค์เล็ก (ประสูติ ค.ศ. 1282)[6] ทว่าการคบชู้ของท่านหญิงนิโจสร้างความไม่พอพระทัยกับจักรพรรดินีคิมิโกะ ซึ่งเป็นอัครมเหสีเป็นอย่างมาก ท้ายที่สุดท่านหญิงนิโจจึงถูกขับออกจากราชสำนักใน ค.ศ. 1283[6]

สู่ร่มกาสาวพัสตร์

โทวาซูงาตาริ เล่ม 4 และ 5 กล่าวถึงชีวิตหลังถูกขับออกจากราชสำนัก ว่าต้องพบกับชีวิตเลวร้ายเช่นเดียวกับสตรีญี่ปุ่นยุคนั้นต้องพบเจอ ท่านหญิงนิโจออกบวชเป็นนางภิกษุณีในศาสนาพุทธ จาริกแสวงบุญตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสถานที่ทางประวัติศาสตร์ตามรอยไซเงียว กวีและนักบวชนามอุโฆษ[6] ท่านหญิงอ้างว่าท่านได้เดินทางกลับไปราชธานีบ่อย ๆ แต่คิมูระ ซาเอโกะตั้งข้อสังเกตว่า การเดินทางบางส่วนไม่เกิดขึ้นจริง บางเรื่องก็ถูกสมมุติขึ้นมาเท่านั้น[4] โทวาซูงาตาริ เล่ม 4 เนื้อหาถูกข้ามมาใน ค.ศ. 1289 (นักวิชาการสันนิษฐานว่าเนื้อหาบางส่วนขาดหายไป) ในเล่ม 5 เนื้อหาก็ถูกข้ามไปอีกหลายปี มาปรากฏอีกครั้งในบทโศก ท่านหญิงนิโจกำสรวลเศร้าเนื่องจากการเสด็จสวรรคตของจักรพรรดิโกะ-ฟูกากูซะใน ค.ศ. 1304 และ โทวาซูงาตาริ สิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1306 ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับท่านหญิงนิโจ เข้าใจว่าท่านหญิงนิโจคงถึงแก่กรรมหลังจากนั้น

ใกล้เคียง

ท่านหญิงไซหนับ ท่านหญิงคาซูงะ ท่านหญิงนิโจ ท่านหญิงอิเซะ ท่านหญิงคอดีญะหฺ ท่านหญิงโดตะ ท่านหญิงวุฒิเฉลิม วุฒิชัย ท่านหญิงเริงจิตร์แจรง อาภากร ท่านหญิงมาลินีมงคล อมาตยกุล ท่านหญิงปัทมนรังษี เสนาณรงค์