เข้าวงการบันเทิง ของ ธงไชย_แมคอินไตย์

ระหว่างที่ธงไชยทำงานอยู่แผนกต่างประเทศของธนาคารกสิกรไทย สาขาท่าพระ ธงไชยยังทำงานอื่น ๆ เพื่อหารายได้พิเศษเพื่อช่วยเหลือครอบครัว อาทิ ถ่ายแบบ ถ่ายโฆษณา รวมถึงเป็นพนักงานเปิดประตูในดิสโก้เธคชื่อ ฟามิงโก ในโรงแรมแอมบาสเดอร์[18] ที่นั่นเองทำให้ธงไชยได้รู้จักกับผู้จัดละคร วรายุฑ มิลินทจินดา ซึ่งเป็นแขกของโรงแรม ธงไชยร่วมร้องเต้นสร้างความบันเทิงให้กับแขกจนวรายุฑชักชวนธงไชยให้มาเล่นละครเรื่อง น้ำตาลไหม้ (พ.ศ. 2526) โดยมีอดุลย์ ดุลยรัตน์เป็นผู้ช่วยสอน ละครเรื่องนี้เป็นละครเรื่องแรกของธงไชย ซึ่งเขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยมรางวัลเมขลา ส่งผลให้ธงไชยเป็นที่รู้จักและมีการกล่าวขานในฐานะนักแสดงหน้าใหม่ที่มีความสามารถ ต่อมาเขาได้ร่วมงานละครเวทีกับภัทราวดี มีชูธน หนึ่งในนั้นคือคอนเสิร์ตคืนหนึ่งกับภัทราวดี (พ.ศ. 2527) และในส่วนของงานในวงการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาคือ บ้านสีดอกรัก (พ.ศ. 2527)[18] ในระหว่างถ่ายทำเขาประสบอุบัติเหตุโดยได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ

คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช(คนซ้าย) อดีตประธานสยามกลการ และธงไชย

ธงไชยมีความสามารถด้านการร้องเพลง เขาได้รับทาบทามให้ไปร้องเพลงในรายการสดของนันทวัน เมฆใหญ่ ขณะเดียวกันธงไชยลองสมัครประกวดร้องเพลงเวทีสยามกลการในปี พ.ศ. 2527 เป็นจุดเริ่มต้นด้านเพลงที่สำคัญ[24] การประกวดครั้งนั้นธงไชยได้รับรางวัลในการประกวด 3 รางวัล โดยเฉพาะรางวัลนักร้องดีเด่นประเภทเพลงไทยสากลจากเพลง "ชีวิตละคร" ระหว่างการประกวด ธงไชยได้พบกับเรวัต พุทธินันทน์ ซึ่งเห็นพรสวรรค์ในตัวของเขา จึงชักชวนธงไชย แต่ผลการประกวดธงไชยได้รางวัลทำให้ต้องเซ็นสัญญากับสยามกลการ เรวัต พุทธินันทน์จึงเข้าพบกับคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดชเพื่อเจรจาขอธงไชยมาเป็นศิลปินของแกรมมี่ คุณหญิงพรทิพย์ได้ตัดสินใจฉีกสัญญาและให้โอกาสธงไชยไปทำงานอย่างอิสระ ทำให้ธงไชยก้าวสู่การเป็นนักร้องอย่างเต็มตัวในสังกัดจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่[18]

ระหว่างที่รออัลบั้มเสร็จต้องใช้เวลา 2 ปี ธงไชยยังหารายได้พิเศษต่อเนื่องจากการแสดงละครและภาพยนตร์ ธงไชยรับบทพระเอกภาพยนตร์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2528 เรื่อง ด้วยรักคือรัก คู่กับอัญชลี จงคดีกิจ และกำกับโดย หม่อมเจ้าทิพยฉัตร ฉัตรชัย ซึ่งเป็นอีกบุคคลสำคัญที่ทำให้เขาได้แจ้งเกิด[25][26] โดยภาพยนตร์ดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างสูง และสร้างปรากฏการณ์สำคัญในคริสต์ทศวรรษ 1980 กลายเป็นคู่ขวัญทางจอเงินระดับคลาสสิกอีกคู่หนึ่งของวงการหนังไทย[27][28][29] และในปีเดียวกัน ยังร่วมแสดงในละครเรื่อง บ้านสอยดาว และ พลับพลึงสีชมพู เป็นต้น

ในปี พ.ศ. 2529 ธงไชยได้รับเกียรติให้เป็นพิธีกรบนเวทีการประกวดนางสาวไทย รอบตัดสิน ปี 2529–2530 และเขายังเป็นพิธีกรคู่แรกในรายการถ่ายทอดสด 7 สีคอนเสิร์ต คู่กับมยุรา ธนะบุตร ซึ่งกลายเป็นพิธีกรคู่ขวัญจากความเป็นธรรมชาติ สนุกสนานของทั้งคู่[30] ทำให้เขาได้รับรางวัลผู้ดำเนินรายการดีเด่นชาย รางวัลเมขลา ประจำปี พ.ศ. 2529 "[31] และในปีเดียวกันธงไชยมีอัลบั้มแรก หาดทราย สายลม สองเรา โดยเพลง "ผ่านมา ผ่านไป" เป็นซิงเกิลแรกที่เขาเข้าบันทึกเสียง[18] สำหรับเพลงที่เป็นซิงเกิลแรกที่เผยแพร่ผ่านสื่อ และแจ้งเกิดเขาในวงการเพลงคือ เพลง "ด้วยรักและผูกพัน" "ฝากฟ้าทะเลฝัน"[32] "บันทึกหน้าสุดท้าย" เป็นต้น ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง จากความสำเร็จของอัลบั้มดังกล่าวได้มีการนำเพลงดังในอัลบั้มไปใช้ประกอบในภาพยนตร์ ด้วยรักและผูกพัน ที่ถ่ายทำในต่างประเทศ ธงไชยจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำและก้าวสู่วงการบันเทิงอย่างเต็มตัว โดยมีพรพิชิต พัฒนถาบุตรเป็นผู้จัดการส่วนตัว[33] นอกจากนี้ ธงไชยมีคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มแรกชื่อว่า "คอนเสิร์ต สุดชีวิต ธงไชย" และในปีนั้นยังมีการจัดคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 1 ถือเป็นการบุกเบิกทำคอนเสิร์ตครั้งแรกในประเทศไทยของแกรมมี่[18]

ปี พ.ศ. 2530 - 2539

อัลบั้ม สบาย สบาย

ในปี พ.ศ. 2530 ธงไชยมีอัลบั้มดังชื่อ สบาย สบาย ซึ่งต้นสังกัดจัดให้เป็นอัลบั้มที่ดีที่สุดแห่งปี[34] โดยมีเพลงเด่น เช่น เพลง "สบาย สบาย" "เหมือนเป็นคนอื่น" และ "ฝากใจไว้" โดยเพลง "สบาย สบาย" ที่ทำให้เขาดังข้ามประเทศ[35] มีการนำลิขสิทธิ์เพลงไปแปลงหลายภาษาเช่น ภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศส[36] เป็นต้น และในปีดังกล่าวเขาได้รับรางวัลศิลปินดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (สยช.) จากความสำเร็จของเพลง "สบาย สบาย" ถูกนำไปใช้ในภาพยนตร์ หลังคาแดง ซึ่งธงไชยเป็นนักแสดงนำ โดยรับบทเป็นคนบ้า[37] คู่กับจินตรา สุขพัฒน์ โดยเพลง "สบาย สบาย" ได้รับรางวัลเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากงานประกาศรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ ครั้งที่ 7 จากความสำเร็จของอัลบั้มดังกล่าวและความสำเร็จของคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดครั้งแรก ทำให้ธงไชยมีคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 2 ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จัดที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และปลายปี พ.ศ. 2530 ธงไชยออกอัลบั้ม รับขวัญวันใหม่ โดยมีเพลงเด่นคือ "หมั่นคอยดูแลและรักษาดวงใจ" และ "ขอบใจจริง ๆ" เป็นต้น

ธงไชยมีคอนเสิร์ตใหญ่สองครั้งในช่วงต้นปีถัดมา คือ คอนเสิร์ตเกาเหลาธงไชย (ไม่งอก) และคอนเสิร์ต เบิร์ด เปิ๊ด-สะ-ก๊าด และออกอัลบั้มพิเศษ พ.ศ. 2501 และอัลบั้ม ส.ค.ส. โดยมีเพลงเด่น เช่น เพลง "จับมือกันไว้" ซึ่งต่อมากลายเป็นเพลงหลักที่นำไปประกอบในการแสดงคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์อีกหลายครั้งจนปัจจุบัน เพลงเด่นอื่น ๆ เช่น "เสียงกระซิบ" "นางนวล" และ "ส.ค.ส." เป็นต้น และธงไชยมีคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 3 ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2532

ละครคู่กรรม และอัลบั้มบูมเมอแรง

ธงไชย และกมลชนก โกมลฐิติ สองนักแสดงนำจากละครคู่กรรม

ในปี พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นยุคที่เกิดกระแสเบิร์ดฟีเวอร์[38][39] ธงไชยรับบทโกโบริในละคร คู่กรรม คู่กับกมลชนก โกมลฐิติ ซึ่งรับบทอังศุมาลิน ถือเป็นละครฉบับที่ประสบความสำเร็จสูงสุดอันดับ 1 ของไทยตลอดกาล ด้วยเรตติง 40[40][41] ละครเรื่องนี้ทำให้ธงไชยได้รับรางวัลใหญ่สองรางวัล คือ รางวัลนักแสดงนำชายดีเด่น จากงานประกาศผลรางวัลเมขลา ครั้งที่ 10 และรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากงานประกาศผลรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 5

ในปีเดียวกันธงไชยได้ออกอัลบั้ม บูมเมอแรง ซึ่งต้นสังกัดจัดให้เป็นอัลบั้มที่ดีที่สุดแห่งปี[42] และเป็นลำดับ 3 ของอัลบั้มที่ดีที่สุดของทศวรรษ โดยเป็นศิลปินคนแรกของแกรมมี่ที่มียอดจำหน่ายมากกว่า 2 ล้านตลับ [43][9] และเขามีการจัดคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มมนุษย์บูมเมอแรง ต่อด้วยการทัวร์คอนเสิร์ตที่ใช้ชื่อว่ามนุษย์บูมเมอแรง และมีคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 4 ในปี พ.ศ. 2533 มีหัทยา เกษสังข์ ดีเจชื่อดัง มาแสดงเป็นนางเอกมิวสิกซีรีส์เพลงคู่กัดคู่กับธงไชย ความสำเร็จจากอัลบั้มดังกล่าว ทำให้ธงไชยได้รับประกาศเกียรติคุณจำนวนมาก เช่น ได้รับรางวัลพิเศษอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จสูงสุด มอบโดยบริษัทไทยน้ำทิพย์ ผู้ผลิตเครื่องดื่มโค้ก ประเทศไทย[44] และหนังสือพิมพ์ เอกชน ยกให้เป็นศิลปินที่ได้รับประกาศเกียรติคุณมากที่สุด[20]

และถือเป็นเกียรติประวัติของธงไชย ในคอนเสิร์ตสายใจไทย ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป่าทรัมเป็ตเพลง "คู่กัด" โดยมีธงไชย เป็นผู้ร่วมขับร้อง[45]

อัลบั้มพริกขี้หนู และละครวันนี้ที่รอคอย

ในปี พ.ศ. 2534 ธงไชยประสบความสำเร็จต่อเนื่องมาถึงอัลบั้มชุดที่ 6 อัลบั้มพริกขี้หนู มียอดจำหน่าย 3 ล้านตลับ[46] เป็นยอดจำหน่ายสูงสุดอีกอัลบั้มของธงไชย โดยสื่อบันเทิงได้ยกให้เป็นปรากฏการณ์ "เบิร์ดฟีเวอร์" อีกครั้งของเขา[18][39] และถูกจัดให้เป็นอัลบั้มที่ดีที่สุด "อัลบั้มแห่งทศวรรษ"[47][9] ซึ่งเป็นความสำเร็จ และความนิยมอย่างสูงในผลงานของเขา โดยมีเพลงเด่นคือ "พริกขี้หนู" "ขออุ้มหน่อย" "ไม่อาจหยั่งรู้" "ฝากไว้" เป็นต้น ในปีเดียวกันเขายังมีคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 5 โดยใช้ชื่อตอน ความสุข ความทรงจำ ไม่มีที่สิ้นสุด จำนวน 29 รอบ จำนวนผู้ชม 58,000 คน ซึ่งมีจำนวนรอบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย[48] ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตสุดท้ายก่อนขอพักงานอย่างไม่มีกำหนด โดยเรวัต พุทธินันทน์ แต่งเพลง "ความสุข ความทรงจำ ไม่มีที่สิ้นสุด" สำหรับคอนเสิร์ตครั้งนั้น[18]

ปลายปี พ.ศ. 2536 ธงไชยกลับมาแสดงละครวันนี้ที่รอคอย รับบท เจ้าซัน และเจ้าชายศิขรนโรดม คู่กับสิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์ ซึ่งเป็นละครที่ประสบความสำเร็จอีกเรื่องของเขา[49] ธงไชยได้รับรางวัลดารานำชายดีเด่น จากประกาศผลรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 8

ต้นปี พ.ศ. 2537 ธงไชยออกอัลบั้ม ธ ธง โดยมีเพลงเด่นคือ "เธอผู้ไม่แพ้" "เหนื่อยไหม" เป็นต้น เพลง "เหนื่อยไหม" ได้รางวัลประพันธ์คำร้องยอดเยี่ยมจากงานประกาศผลรางวัลพระพิฆเนศทอง ธงไชยจัดคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้ม "คอนเสิร์ต ธ.ธง กับ เธอ (นั่นแหละ)" และคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 6 โดยใช้ชื่อตอนว่าอยากเห็นท้องฟ้าเป็นอย่างในฝัน

ในปี พ.ศ. 2538 ธงไชยกลับมารับบทบาท โกโบริ อีกครั้งในภาพยนตร์คู่กรรม ภาพยนตร์นั้นสร้างสถิติภาพยนตร์ที่มีผู้เข้าชมสูงสุดใน 3 วันแรกของการเปิดตัวในยุคนั้น[50] โดยธงไชยได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากงานประกาศผลรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ประจำปี พ.ศ. 2538 และในปีเดียวกันธงไชยได้รับเลือกให้ร้องเพลง "Golden Stars" ในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 18 ปี พ.ศ. 2538 จัดที่สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี

ปี พ.ศ. 2540 - 2549

การบวช และการสูญเสียมารดา

ในปี พ.ศ. 2540 ธงไชยได้เป็นศิลปินคนแรกของทวีปเอเชียที่ได้รับรางวัลนักร้องยอดนิยมจากการประกาศรางวัล Billboard Viewer's Choice Awards 1997 แต่ธงไชยไม่ได้ไปรับรางวัลเนื่องจากมารดารับการรักษาอยู่ในหน่วยอภิบาล

พระธงไชยและอุดม แมคอินไตย์ มารดา ในพิธีอุปสมบท 8 ธันวาคม พ.ศ. 2540

ปลายปีหลังจากถ่ายทำละคร นิรมิต แล้วเสร็จ ธงไชยอุปสมบทในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2540 เป็นการบวชทดแทนคุณ ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร และได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ประทานผ้าไตร และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีประทานเครื่องอัตถบริขาร โดยธงไชยได้รับฉายาว่า "อภิชโย" แปลว่า "ผู้มีชัยชนะอันยิ่งใหญ่"[51] และจำวัด ณ จังหวัดเชียงใหม่[52]

หลังจากนั้นในปี 2541–2544 ธงไชยมีผลงานเพลงต่อเนื่องอีก 4 อัลบั้มที่ทำยอดขายเกินล้านชุด[53] ได้แก่ ธงไชย เซอร์วิส (2541) มีเพลงเด่นคือ "ซ่อมได้" "บอกว่าอย่าน่ารัก" "ก็เลิกกันแล้ว" "ถ่านไฟเก่า" เป็นต้น พร้อมกับอัลบั้มพิเศษ ธงไชย เซอร์วิสพิเศษ และละคร ความทรงจำใหม่ หัวใจเดิม และมีคอนเสิร์ต อัลบั้มตู้เพลงสามัญประจำบ้าน (2542) มีเพลงเด่นคือ "ลองซิจ๊ะ" "กลับไม่ได้ไปไม่ถึง" "ผิดตรงไหน" "ทำไมต้องเธอ" เป็นต้น และปี พ.ศ. 2543 มีคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 7, อัลบั้มพิเศษ 100 เพลงรักไม่รู้จบ

วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2544 อุดม แมคอินไตย์ มารดา เสียชีวิตที่จังหวัดเชียงราย มีพิธีพระราชทานเพลิงศพวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยเจ้านาย 3 พระองค์ พระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ[54]

ปลายปี พ.ศ. 2544 ธงไชยอัดอัลบั้มสไมล์คลับ ซึ่งต้นสังกัดจัดให้เป็นอัลบั้มที่ดีที่สุดแห่งปี[55] มีเพลงเด่นคือ "เล่าสู่กันฟัง" "คนไม่มีแฟน" และ "คู่แท้" เป็นต้น โดยเพลง "เล่าสู่กันฟัง" ได้รับรางวัลจากหลายสถาบัน เช่น รางวัลเพลงยอดเยี่ยม จากงานประกาศผลรางวัลสีสันอะวอร์ดส์ ครั้งที่ 14 รางวัลมิวสิกวิดีโอศิลปินชายยอดนิยม จากงานประกาศผลรางวัลแชนแนลวีไทยแลนด์มิวสิกวิดีโออวอร์ดส ครั้งที่ 1 เป็นต้น พร้อมกับการจัดคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มเบิร์ดสไมล์คลับ และจากผลสำรวจสุดยอดแห่งความประทับใจ ปี พ.ศ. 2544 ของเอแบคโพล[56] และผลสำรวจที่สุดแห่งปีของสวนดุสิตโพล พบว่าเขาอยู่ในลำดับแรกของนักร้องชายไทยที่ประทับใจที่สุด[57]

ปริญญากิตติมศักดิ์ และอัลบั้ม ชุดรับแขก

ธงไชย ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ปี พ.ศ. 2545

ในปี พ.ศ. 2545 ธงไชยได้รับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์[23] คณะนาฏศิลป์และดุริยางค์ จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล สำหรับผู้สร้างสรรค์ผลงานด้านดนตรีสากล และประสบความสำเร็จในอาชีพ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ช่วงปลายปี พ.ศ. 2545 ถึงปี พ.ศ. 2546 ธงไชยออกอัลบั้มชุดรับแขก ซึ่งสร้างสถิติยอดจำหน่ายเทปสูงสุดของไทยกว่า 5 ล้านตลับ เป็นนักร้องคนแรกและคนเดียวที่สร้างสถิตินี้[9][10] นอกจากนั้นวีซีดีมียอดจำหน่าย 3 ล้านชุด[44] อัลบั้มดังกล่าวสร้างประวัติการณ์ BREAK RECORD สู่ 3 ล้านชุด ในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน นับจากวันวางจำหน่าย 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 โดยมีเพลงเด่นคือ "แฟนจ๋า" ซึ่งแต่งโดยโจอี้ บอย และ "มาทำไม" ร่วมร้องกับจินตหรา พูนลาภ เป็นต้น จากการสำรวจความนิยมของคนกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2545 ของกรุงเทพโพลล์ พบว่าเพลงยอดนิยม คือ เพลง "แฟนจ๋า" รองลงมาคือเพลง "มาทำไม"[58] จากความสำเร็จทำให้ธงไชยมีอัลบั้มพิเศษ แฟนจ๋า..สนิทกันแล้วจ้ะ และมีคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้ม ฟ.แฟน และฟ.แฟน FUN FAIR ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตที่ทำรายได้สูงสุดแห่งปี จากสรุปผลประกอบการแกรมมี่ ต่อด้วยทัวร์คอนเสิร์ต 3 ภาค และในปีดังกล่าวยังมีคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 8 โดยเขาได้รับหลายรางวัล เช่น รางวัลอัลบั้มเพลงป๊อบยอดเยี่ยม จากงานประกาศผลรางวัลแฮมเบอร์เกอร์อวอร์ดส์ ครั้งที่ 1 รางวัลนักร้องชายยอดเยี่ยม จากงานประกาศผลรางวัล ท็อปอวอร์ด ครั้งที่ 3 รางวัลมิวสิกวิดีโอศิลปินชายยอดนิยม และรางวัลมิวสิกวิดีโอลำดับภาพยอดเยี่ยม เพลง "แฟนจ๋า" จากงานประกาศผลรางวัลแชนแนลวีไทยแลนด์มิวสิกวิดีโออะวอดส์ ครั้งที่ 2 เป็นต้น และจากผลสำรวจประจำปี พ.ศ. 2546 ที่เกี่ยวข้องกับงาน เช่น นักร้องชายดีเด่น จากผลสำรวจ 5 บุคคลดีเด่นแห่งปี ของกรุงเทพโพลล์ นักร้องชายยอดนิยม จากผลสำรวจที่สุดของข่าว บุคคล และบันเทิง ของเอแบคโพล และนักร้องเพลงไทยสากลชาย ที่ประชาชนชอบมากที่สุด จากผลสำรวจที่สุดแห่งปีของสวนดุสิตโพลเป็นต้น ในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งสืบเนื่องมาจากความสำเร็จของอัลบั้มชุดรับแขก ธงไชยได้รับคัดเลือกให้ไปโชว์เพลงแฟนจ๋าที่งานประกาศผลรางวัลที่ต่างประเทศ พร้อมได้รางวัลศิลปินยอดนิยมประเทศไทย (Favorite Artist Thailand) จากงาน เอ็มทีวี เอเชีย อวอร์ดส ครั้งที่ 3 ณ ประเทศสิงคโปร์[59]

คอนเสิร์ต เบิร์ดซน เบิร์ด-เสก ปี 2547

อัลบั้ม เบิร์ด-เสก และ วอลุม วัน

ในปี พ.ศ. 2547 ธงไชยออกอัลบั้มพิเศษ เบิร์ด-เสก เฉลิมฉลองวาระจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ครบรอบ 20 ปี โดยมียอดจำหน่ายสูงสุดแห่งปีมากกว่า 2 ล้านชุด ต้นสังกัดจัดให้เป็น “อัลบั้มพิเศษที่ดีที่สุดแห่งยุค”[60] โดยมีเพลงดัง คือ "อมพระมาพูด" ซึ่งร่วมร้องกับนักร้องแนวร็อก เสกสรรค์ ศุขพิมาย[61] จากผลสำรวจที่สุดของวงการบันเทิงและกีฬา ปี พ.ศ. 2547 ของเอแบคโพล และผลสำรวจที่สุดแห่งปีของสวนดุสิตโพลพบว่าเขาอยู่ในลำดับแรกของนักร้องชายที่ประชาชนชื่นชอบที่สุด และเป็นนักร้องนักแสดงที่ชื่นชอบและยึดเป็นแบบอย่างมากที่สุด จากผลสำรวจของกรุงเทพโพลล์[62]

ในปี พ.ศ. 2548 มีอัลบั้มวอลุม วัน ซึ่งมีเพลงดังคือเพลง "โอ้ละหนอ...My Love" และเพลง "ไม่แข่งยิ่งแพ้" เขาได้รับรางวัลนักร้องยอดเยี่ยม จากงานประกาศผลรางวัล ท็อปอวอร์ด ครั้งที่ 5 รางวัลนักร้องชายยอดนิยม จากงานประกาศผลรางวัล Oops! Awards รางวัลศิลปินไทยแห่งปี จากการประกาศผลรางวัลเฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 3 นอกจากนั้นมิวสิกวิดีโอเพลง "โอ้ละหนอ...My Love" ได้รับรางวัลมิวสิกวีดีโอยอดเยี่ยมแห่งปีจากงานประกาศผลรางวัล FAT award 2006 และรางวัลมิวสิกวิดีโอยอดนิยม จากงานประกาศผลรางวัลแชนแนลวีไทยแลนด์มิวสิกวิดีโออวอร์ดส ครั้งที่ 5[63] และจากผลสำรวจเอแบคโพล เพลงโอ้ละหนอ...My Love เป็นเพลงยอดเยี่ยมแห่งปี[64] ธงไชยมีคอนเสิร์ตใหญ่ Volume 1 คอนเสิร์ต โอ้ละหนอ...My Love และธงไชยได้รับฉายาจากสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทยว่า ดาวค้างกรุ หมายความว่า นักร้องเก่าที่ยังเชิดหน้าชูตาให้วงการบันเทิง[14] และจากผลสำรวจที่สุดของวงการบันเทิงและกีฬาปี พ.ศ. 2548 ของเอแบคโพล และผลสำรวจที่สุดแห่งปีของสวนดุสิตโพลพบว่าเขาอยู่ในลำดับแรกของนักร้องชายที่ประชาชนชื่นชอบที่สุด[64]

ในปี พ.ศ. 2549 ออกอัลบั้มธงไชย วิลเลจ ซึ่งมีเพลงเด่นคือ "เถียงกันทำไม" อัลบั้มพิเศษเบิร์ดเปิดฟลอร์ 3 อัลบั้ม ปีนั้น หนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น ยกให้ธงไชยเป็นหนึ่งในคนไทย 35 คนที่มีอิทธิพลมากที่สุดในรอบ 35 ปี[65] อีกทั้งหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ยกให้ธงไชยเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลของไทย ปี พ.ศ. 2549 โดยเป็นอันดับ 26 จากทุกสาขาอาชีพ และเป็นอันดับ 1 ประเภทนักร้องนักแสดง[66] ธงไชยได้รางวัลพิเศษศิลปินสร้างสรรค์ Inspiration Award จากงานประกาศผลรางวัลเอ็มทีวี เอเชีย อวอร์ดส ครั้งที่ 5 และรางวัลศิลปินที่ประสบความสำเร็จที่สุดแห่งปี จากงานประกาศผลรางวัล Virgin Hitz Awards 2006 และเกียรติบัตรศิลปินชายยอดนิยมแห่งปี จากการประกาศผล Thailand Top Chart 2006[67]

ปี พ.ศ. 2550 - 2559

ด้านคอนเสิร์ต และอัลบั้ม อาสาสนุก

ในปี พ.ศ. 2550 มีจัดคอนเสิร์ตเบิร์ดเปิดฟลอร์ และปลายปีมีอัลบั้ม ซิมพลีย์ เบิร์ด ซึ่งมีเพลงเด่นคือ "ช่วยรับที" "มีแต่คิดถึง" และเพลง "น้ำตา" เป็นต้น เพลง "น้ำตา" แต่งโดย อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข ได้รางวัลเพลงยอดเยี่ยม จากงานประกาศผลรางวัลสีสันอะวอร์ดส์ ครั้งที่ 20 ขณะที่เพลง "มีแต่คิดถึง" ซึ่งแต่งโดยนิติพงษ์ ห่อนาค ได้รางวัลชมเชยการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย และในปีดังกล่าวธงไชยยังได้รับฉายาจากสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทยว่า "ป๋าพันปี" หมายความว่า "ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าใด ก็ยังคงดังเช่นเดิม"[15]

งานแถลงข่าวคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 9

ในปี พ.ศ. 2551 ธงไชยแสดงคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 9 ตอน MAGIC MEMORIES อัศจรรย์แห่งความทรงจำ สิ่งเหล่านี้คือความเป็นเรา...ตลอดไป เมื่อรวมรอบอังกอร์พลัสแล้ว สร้างสถิติสูงสุดของ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ด้วยจำนวนผู้ชม 120,000 คน จาก 12 รอบการแสดง[48]

ในปี พ.ศ. 2552 ธงไชยได้รับเลือกเป็นพรีเซ็นเตอร์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) "โครงการเที่ยวไทยครึกครื้นเศรษฐกิจไทยคึกคัก" โดยถ่ายทำสามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี และได้รับเลือกเป็นพรีเซ็นเตอร์ ททท. อีกครั้งในช่วงปลายปี "โครงการ 12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน" ถ่ายทำที่มอหินขาว จังหวัดชัยภูมิ โดยเขาขับร้องเพลง "ไปเที่ยวกัน" ประกอบโฆษณาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมีซิงเกิลพิเศษ "จะได้ไม่ลืมกัน" ประกอบภาพยนตร์ ความจำสั้น แต่รักฉันยาว และในปีดังกล่าวเขามีคอนเสิร์ต ธงไชย แฟนซี แฟนซน...ร้อง เต้น เล่น แต่งตัว จำนวน 4 รอบการแสดง

ในปี พ.ศ. 2553 ธงไชยออกอัลบั้มอาสาสนุก ซึ่งเป็นอัลบั้มใหม่ในรอบ 3 ปี มียอดจำหน่ายและยอดดาวน์โหลดสูงที่สุด[68][69] โดยมีเพลงเด่นคือ "อยู่คนเดียว" "อย่าทำอย่างนี้ไม่ว่ากับใคร...เข้าใจไหม" "ทูมัชโซมัชเวรีมัช" และ "เรามาซิง" โดยสองเพลงหลังมีการซื้อลิขสิทธิเพลงดังกล่าวไปแปลงเป็นภาษาญี่ปุ่นขับร้องใหม่โดยนักร้องญี่ปุ่น[70] และต่อเนื่องในปี พ.ศ. 2554 ธงไชยยังมีคอนเสิร์ตใหญ่คอนเสิร์ตเบิร์ดอาสาสนุกที่จัดขึ้นที่อิมแพ็ค เมืองทองธานีเป็นหนึ่งในคอนเสิร์ตสุดร้อนแรงแห่งปี[71] และหนึ่งในคอนเสิร์ตที่ได้รับการตอบรับสูงสุดแห่งปี[72] นอกจากนั้นเพลง "ร้องไห้ทำไม" ซึ่งอยู่ในอัลบั้ม ยังได้รับคัดเลือกให้ทำคำร้องใหม่เป็นภาษาจีนแมนดารินขับร้องใหม่โดยธงไชย เพื่อนำไปประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทย โดยเผยแพร่ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2554[73]

งานแถลงข่าวการ์ตูนเบิร์ดแลนด์ แดนมหัศจรรย์ ปี 2553

ปีนั้นธงไชยยังได้รับเลือกเป็นต้นแบบตัวละครการ์ตูนแอนิเมชัน เรื่อง เบิร์ดแลนด์ แดนมหัศจรรย์ และเขายังเป็นผู้พากย์เสียง "พี่เบิร์ด" และร้องเพลงประกอบเพลงเบิร์ดแลนด์แดนมหัศจรรย์ นอกจากนั้นบทเพลงของเขาถูกนำใส่ในการ์ตูน ได้แก่ เพลง "ทูมัชโซมัชเวรีมัช" "แก้วตา แก้วโตว" และ "ตามรอยพระราชา" ซึ่งบทเพลง "ตามรอยพระราชา" ถูกใช้ประกอบในตอนพิเศษ "ตามรอยพระราชา" เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 โดยการนำเสนอพระราชกรณียกิจของพระองค์ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้[74] และในปีเดียวกันเขาได้รับเลือกให้ร้องเพลงพิเศษ เพลง "Thai for Japan" ภาษาญี่ปุ่น ให้แก่ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮะกุ พ.ศ. 2554[75]

ในปี พ.ศ. 2555 ธงไชยแสดงคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 10 ตอน วันของเรา Young อยู่ ฉลองครบรอบ 25 ปีเบิร์ดเบิร์ดโชว์ จำหน่ายบัตรต่อเนื่องในคราวเดียว กว่า 100,000 คน[76][77] ในปี พ.ศ. 2556 มีคอนเสิร์ตขนนกกับดอกไม้ ครั้งที่ 2 ตอน Secret Garden

สานสัมพันธ์ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเพื่อนบ้าน

ในปี พ.ศ. 2556 ธงไชยได้รับเชิญเป็น "ทูตมิตรภาพ" (International Friendship Ambassador) จากประเทศไทยไปร่วมงานเทศกาล "Sapporo Snow Festival ครั้งที่ 64" ณ เมืองซับโปโร เกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ภายในงานมีรูปปั้นหิมะขนาดเท่าตัวจริงของเขา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพที่ดีของทั้งสองประเทศ และจากการรวบรวมข้อมูลในญี่ปุ่น พบว่านอกเหนือจากสถานที่ท่องเที่ยวที่ชาวญี่ปุ่นชื่นชอบแล้ว ศิลปินซึ่งเป็นที่รู้จักของชาวญี่ปุ่นมากที่สุดคือเบิร์ด[78] และในปีเดียวกัน ธงไชยได้รับเชิญร่วมงานเทศกาลดนตรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Music Fair) ในโอกาสครบรอบ 40 ปีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศสมาชิกอาเซียน ณ กรุงโตเกียว จากการโหวตความนิยมศิลปินใน 10 ประเทศอาเซียน ธงไชยเป็นศิลปินไทยซึ่งชาวญี่ปุ่นชื่นชอบมากที่สุด[79][80] นอกจากนี้องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่น ได้เชิญธงไชยไปถ่ายแบบที่โอกินาวา โยโกฮามา และฟุคุโอกะ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่น[81][82] ในปี พ.ศ. 2557 ธงไชยได้รับรางวัล Special Award from JNTO จากงานมอบรางวัล Japan Tourism Award in Thailand 2013 สำหรับบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวญี่ปุ่น[83][84] และปีดังกล่าวเขาถ่ายทำละครกลกิโมโน[85][86]

ในปี พ.ศ. 2558 มีคอนเสิร์ตขนนกกับดอกไม้ ครั้งที่ 3 ตอน The Original Returns[87] ซึ่งจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ได้จัดกิจกรรม FUN&FRIENDSHIP EXPERIENCE[88] เป็นโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและสานสัมพันธ์ไทยพม่า ซึ่งเขาได้รับการต้อนรับจากชาวพม่าจำนวนมาก[89] และในปี พ.ศ. 2559 ธงไชยมีคอนเสิร์ต รวมวง THONGCHAI concert และมีโครงการพิเศษภาพยนตร์สั้น รักคำเดียว ภารกิจคลุกฝุ่น ซึ่งถ่ายทำบนที่ราบสูงบ่อละเวน ประเทศลาว[90][91]

ปี พ.ศ. 2560 - ปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2560 ธงไชยเว้นจากการมีผลงานเพลง และผลงานคอนเสิร์ตของเขา เพื่อแสดงความอาลัยถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เขาร่วมเป็นดารารับเชิญในละครพิเศษ “เราเกิดในรัชกาลที่ 9 เดอะซีรีส์” โดยรับบทแพทย์อาสา[92] และเป็นนักร้องรับเชิญในงานแสดงดนตรี “แผ่นดินของเรา” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และเผยแพร่พระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และขับกล่อมให้แก่ประชาชนที่มาถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[93] และในวันที่ 26 ตุลาคม ปีนั้น ธงไชยก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณสูงสุด เมื่อได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ สถานที่จริง ที่พระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยได้ขึ้นถวายพระเพลิงในฐานะพลเรือนผู้มีตำแหน่งเฝ้าฯ นับเป็นศิลปินเพียงไม่กี่คนที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเช่นนี้[94]

โปรเจกต์พิเศษ และคอนเสิร์ต

ในปี พ.ศ. 2561 ต้นปีธงไชยมีโปรเจ็กต์พิเศษ ชื่อว่า เบิร์ดมินิมาราธอน[95] โดยทำงานร่วมกับ 8 ศิลปินรุ่นใหม่[96] และในปีดังกล่าวเขาได้รับรางวัลเกียรติยศแห่งปี สำหรับศิลปินที่เป็นที่สุดตลอดกาล รางวัล Joox Icon Award จากงาน JOOX Thailand Music Awards พ.ศ. 2561[97] และเพลง "ชีวิตเดี่ยว" ได้ถูกเสนอเข้าชิงสาขาเพลงยอดเยี่ยมของรางวัลสีสันอะวอร์ดส์ ครั้งที่ 30 ประจำปี พ.ศ. 2561[98]

ธงไชย งานในสวนฝัน ผสานใจภักดิ์จงรักนฤบดี ปี พ.ศ. 2562

ในปี พ.ศ. 2562 เขามีคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 11 ในตอน "DREAM JOURNEY" (ดรีม เจอร์นี่ย์) ณ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ซึ่งจัดต่อเนื่องจากปี 2561[99][100]รวมแล้วจำนวน 7 รอบ[101] และในปีเดียวกันมีคอนเสิร์ต Singing Bird จำนวน 3 รอบ[102] ซึ่งจัดที่รอยัลพารากอน ฮอลล์

นอกจากนั้นในช่วงกลางปี พ.ศ. 2562 เขาได้รับเชิญให้ร่วมแสดงละคร "ในสวนฝัน ผสานใจภักดิ์จงรักนฤบดี" ณ ท้องสนามหลวง เนื่องในโอกาสมหา​มงคล​พระราชพิธี​บรม​ราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10​ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม​ โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม​ สำนัก​งานศิลปวัฒนธรรม​ร่วมสมัย ร่วมกับมูลนิธิ​ศาลาเฉลิม​กรุง​ และภาคีเครือข่าย​ชมรม ดารา นักแสดง​ ดำเนินการจัดแสดงละคร[103] โดยเขาถวายงานร้องเพลง "ลาวคำหอม" ซึ่งเป็นหนึ่งในบทเพลงไทยเดิมที่พระองค์ทรงโปรด[104] และในช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 ธงไชย ได้รับคัดเลือกให้เป็น "KOL" (Key Opinion Leader) หรือ Influencer Marketing จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทำหน้าที่ผู้นำทางความคิด สร้างแรงบันดาลใจ ส่งเสริมสังคมให้มีความรู้ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้าจากพลังงานที่สะอาด[105] อีกทั้งเป็นผู้ขับร้องบทเพลง "แสงของดวงตะวัน" ซึ่งใช้ประกอบโครงการดังกล่าว และธันวาคม 2562 เขาเป็นแขกรับเชิญพิเศษในคอนเสิร์ตการกุศล “7HD Charity Concert รักคือการให้” เพื่อช่วยเหลือเด็กเจ็บป่วยและเด็กพิการแต่กำเนิด ณ พารากอนฮอล ซึ่งกลับมาในบทบาทโกโบริ จากละคร "คู่กรรม" ที่เคยแสดงไว้ในปี พ.ศ. 2533 [106]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ธงไชย_แมคอินไตย์ http://morning-news.bectero.com/%E0%B9%80%E0%B8%A3... http://www.ch7.com/news/news_scoop7see_detail.aspx... http://www.chaiyaphumnews.com/index.php?option=com... http://www.daradaily.com/news/46913/read/ http://bkgolf.exteen.com/20080401/entry http://activity.gmember.com/awards2011/Birdthongch... http://news.gmember.com http://www.gmmgrammy.com/new2014/news/news-detail.... http://www.gmmgrammy.com/new2014/news/news-detail.... http://www.gmmgrammy.com/news/detail-news2012.asp?...