การสวดสาธยาย ของ ธชัคคปริตร

ธชัคคปริตร หรือธชัคคสูตร ได้รับการจัดให้เป็นพระปริตร หรือบทสวดเจ็ดตำนาน และบทสวดสิบสองตำนาน และรวมอยู่ในภาณวารหรือหนังสือบทสวดมนต์หลวง เชื่อถือกันว่ามีอานุภาพป้องกันยักขภัยและโจรภัย เป็นต้น และมีอานุภาพแผ่ไปได้ถึงแสนโกฏิจักรวาล [11] [12]

นอกจากนี้ ในอรรถกถาสารัตถปกาสินียังเล่าถึงอิทธิฤทธิ์ของพระปริตรนี้ไว้ว่า มีชายหนุ่มคนหนึ่งกำลังฉาบปูนขาวที่ทีฆวาปิเจดีย์ เกิดพลัดตกจากเชิงเวทีชั้นบนลงมาในโพรงพระเจดีย์ "ภิกษุสงฆ์ยืนอยู่ข้างล่าง จึงกล่าวว่า นึกถึงธชัคคปริตซิคุณ เขาตกใจ กลัวตายจึงกล่าวว่า ธชัคคปริตช่วยผมด้วย ดังนี้ อิฐ 2 ก้อนหลุดจากโพรงเจดีย์ตั้งเป็นบันไดให้เขาทันที คนทั้งหลายก็หย่อนบันไดเถาวัลย์ที่อยู่ข้างบน อิฐที่บันไดนั้นก็ตั้งอยู่ตามเดิม" [13]

คุณของพระปริตรนี้ยังปรากฏในบทขัด ความว่า "ยสฺสานุสฺสรเณนาปิ อนฺตลิกฺเขปิ ปาณิโน/ปติฏฺฐมธิคจฺฉนฺติ ภูมิยํ วิย สพฺพทา/สพฺพูปทฺทวชาลมฺหา ยกฺขโจราทิสมฺภวา/คณนา น จ มุตฺตานํ/ปริตฺตนฺตมฺภณาม เหฯ" กล่าวคือ "สัตว์ทั้งหลายย่อมได้ที่พึ่งทุกเวลาแม้ในอากาศ เช่นเดียวกับได้ที่พึ่ง ณ พื้นแผ่นดิน/อีกทั้งสัตว์ทั้งหลายที่รอดพ้นจากข่าย/แห่งอุปัททวะทั้งมวลอันเกิดแต่ยักษ์และโจรเป็นต้นจนนับมิถ้วน/เพราะระลึกถึงพระปริตรใดโดยแท้/ เราทั้งหลายจงสวดพระปริตรนั้น กันเถิด" [14]

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระวินิจฉัยว่า "ในการสวดมนต์เมื่อมีเวลามาก หรือในพิธีใหญ่ที่ต้องการให้สวดพระสูตรเต็มก็สวดพระสูตรเต็ม ในการสวดมนต์ทั่วไป สวดจำเพาะอนุสสรณปาฐะ คือปาฐะที่เป็นอนุสสรณะ คือเป็นเครื่องระลึกถึงคุณแห่งพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็คือสวด อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทโธ เป็นต้น ต่อด้วย สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม เป็นต้น ต่อด้วย สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ เป็นต้น ก็คือสวดจำเพาะพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เท่านั้น อันนำสวดด้วยคำว่า อนุสสรณปาฐะ คือ เป็นปาฐะบาลี หรือถ้อยคำที่แสดงอนุสสรณะ คือคำที่สำหรับระลึกถึง ก็หมายถึงระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อันเป็นเนื้อหาสำคัญของพระสูตรนี้ กับสวดตอนท้ายพระสูตรอันเรียกว่านิคมคาถา ที่แปลว่าคาถาตอนท้าย ตั้งต้นด้วยคำว่า อรญฺเญ รุกฺขมูเล วา เป็นต้น ที่แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลายอยู่ในป่า หรือที่โคนไม้ หรือในเรือนว่างเรือนเปล่า ดั่งนี้เป็นต้น" [15]