ภาพรวม ของ ธาตุหลังยูเรเนียม

ในบรรดาธาตุที่มีเลขอะตอมตั้งแต่ 1 ถึง 92 ทุกธาตุ ยกเว้นสี่ธาตุ (เทคนีเชียม, โพรมีเทียม, แอสทาทีน และแฟรนเซียม) สามารถถูกพบได้โดยง่ายเป็นปริมาณมากบนโลก โดยพบเป็นไอโซโทปเสถียร หรือมีครึ่งชีวิตยาวนานมาก หรือถูกสร้างขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ทั่วไปจากการสลายของยูเรเนียม

อย่างไรก็ตาม ธาตุทั้งหมดที่มีเลขอะตอมสูงกว่านั้น ถูกพบครั้งแรกในห้องปฏิบัติการ ยกเว้นเนปทูเนียมและพลูโตเนียม ธาตุเหล่านี้ล้วนแต่เป็นธาตุกัมมันตรังสี โดยมีครึ่งชีวิตสั้นกว่าอายุของโลกมาก ดังนั้นอะตอมใด ๆ ของธาตุเหล่านี้ หากเกิดขึ้นขณะที่โลกก่อตัวขึ้นนั้น จึงได้สลายตัวไปนานแล้วนับตั้งแต่ตอนนั้น ในหินซึ่งอุดมไปด้วยยูเรเนียมมีเนปทูเนียมและพลูโตเนียมเจือปนอยู่ในปริมาณเล็กน้อย และธาตุทั้งสองนี้ได้รับการผลิตขึ้นอีกเล็กน้อยระหว่างการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในชั้นบรรยากาศ เนปทูเนียมและพลูโตเนียมซึ่งผลิตขึ้นนั้นมาจากการจับนิวตรอนในแร่ยูเรเนียมพร้อมกับการสลายให้อนุภาคบีตาอีกสองรอบ (238U239U239Np239Pu)

ธาตุหลังยูรเนียมซึ่งสามารถถูกพบบนโลกปัจจุบันเป็นธาตุที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น ไม่ว่าจะโดยเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หรือเครื่องเร่งอนุภาค ครึ่งชีวิตของธาตุเหล่านี้มีแนวโน้มลดลงเมื่อเลขอะตอมเพิ่มขึ้น แต่ยกเว้นบางธาตุ รวมไปถึงดุบเนียมและคูเรียมอีกหลายไอโซโทป ความผิดปกติในแนวโน้มดังกล่าวเพิ่มเติมยังได้รับการทำน่ายโดยเกล็นน์ ที. ซีบอร์ก และถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ "หมู่เกาะแห่งเสถียรภาพ"

ธาตุหลังยูเรเนียมหนักสามารถผลิตได้ยากและใช้ต้นทุนสูง และมูลค่าของมันจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามเลขอะตอม ในปี พ.ศ. 2551 อาวุธระดับยูเรเนียมมีมูลค่า 4,000 ดอลล่าร์สหรัฐต่อกรัม[1] ส่วนแคลิฟอร์เนียมมีมูลค่าอยู่ที่ 60,000,000 ดอลล่าร์สหรัฐต่อกรัม[2] เนื่องจากความยากในการผลิต จึงไม่มีธาตุชนิดใดที่หนักกว่าแคลิฟอร์เนียมมีการนำไปใช้ในทางอุตสาหกรรมหรือถูกผลิตขึ้นในปริมาณมาก

ธาตุหลังยูเรเนียมซึ่งยังไม่ถูกค้นพบ หรือถูกค้นพบแล้วแต่ยังไม่ได้มีการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ จะใช้ระบบชื่อธาตุของ IUPAC ไปพลางก่อน การตั้งชื่อธาตุหลังยูเรเนียมนี้เป็นแหล่งที่มาของการโต้เถียงกัน