พฤติกรรมและนิเวศวิทยา ของ นกกระติ๊ดขี้หมู

สังคม

นกกระติ๊ดขี้หมู เป็นนกสังคม สามารถรวมฝูงได้มากถึง 100 ตัว นกแต่ละตัวสื่อสารกันด้วยการร้องในหลายรูปแบบ ได้แก่ เสียงหวีดสั้น ๆ เสียงหลายแบบในทำนอง จิ๊ตตี้ - จิ๊ตตี้ - จิ๊ตตี้ และเสียงจิ๊บที่สูงแหลม[24][20] [23] บางครั้งพวกมันสะบัดหางและปีกในแนวตั้งหรือแนวนอนในขณะที่กระโดด การเคลื่อนไหวสะบัดหางอาจพัฒนามาจากการเคลื่อนไหวโดยเจตนา การเคลื่อนไหวสะบัดหางในเวอร์ชันที่เกินจริงอาจผ่านการทำ พิธี แล้ว ในฐานะสัญญาณทางสังคมการสะบัดหางในสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกหลายชนิดทำหน้าที่เป็นสัญญาณบ่งชี้เจตนาที่จะบินและช่วยให้ฝูงอยู่ด้วยกัน [25]

เมื่ออยู่รวมเป็นฝูง นกกระติ๊ดขี้หมูจะนั่งเกาะข้างกันอย่างใกล้ชิดกัน นกตัวนอกสุดมักจะเอนตัว (พิง) เข้าหาศูนย์กลาง บางครั้งนกในฝูงจะแต่งขน (ไซ้ขน) ให้กันและกัน โดยนกตัวที่ชี้ชวนจะแสดงตัวโดยการเชิดคางออกไป การไซ้ขนแก่กันนี้มักจะจำกัดบริเวณเฉพาะใบหน้าและลำคอ[23] นกกระติ๊ดขี้หมูมักไม่ค่อยเป็นศัตรูกัน แต่ในบางครั้งก็จะทะเลาะกันโดยปราศจากการแสดงท่าใด ๆ

นกกระติ๊ดขี้หมูจะเปล่งเสียงเพื่อสื่อสารกับฝูงของมันเสียงของนกกระติ๊ดขี้หมู

การผสมพันธุ์

ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงฤดูฝน (ส่วนใหญ่เป็นเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมในอินเดียและเอเชียอาคเนย์) แต่อาจแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ การศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่าการส่องสว่างในวันที่ยาวนานและความชื้นสูงกระตุ้นการเจริญเติบโตของอวัยวะสืบพันธุ์[26] เสียงร้องของนกตัวผู้มีความนุ่มนวลแต่ซับซ้อนและหลากหลาย ซึ่งได้ยินเฉพาะในระยะใกล้ เสียงร้องสามารถระบุว่าเป็นเพลงที่มักเริ่มด้วย ชุดเสียงโทนสูง ตามด้วยเสียงกังวานแบบโทนเดียวซ้ำ ๆ และจบลงด้วยการทอดเสียงอย่างคลุมเครือ ขณะเปล่งเสียงร้องนกตัวผู้จะนั่งในท่าที่เรียกว่าท่าโน้มตัว (slope) และขนที่หัวพองออก[23]

ท่าโน้มตัวมี 2 ประเภทคือ แบบก่อนการผสมพันธุ์ และแบบธรรมดา พฤติกรรมก่อนการมีเพศสัมพันธ์ของนกกระติ๊ดขี้หมู ยังรวมถึงลำดับของท่าทาง คือ ท่าแรกตัวผู้หรือตัวเมียจะร่วมกันเล่นวัสดุทำรัง ทันทีที่นกจัดเรียงวัสดุทำรังในจะงอยปากเรียบร้อยนกก็จะเริ่มบินไปรอบ ๆ ในเส้นทางแบบสลับฟันปลา (ซิกแซก) เมื่อนกเข้าหากันตัวผู้จะโค้งเข้าหาตัวเมียและไซ้จะงอยปากของมัน จากนั้นตัวผู้จะส่งเสียงร้องประกอบกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ตัวเมียจะชวนให้ผสมพันธุ์โดยแสดงการสั่นหาง[20] [23]

ไข่ของนกกระติ๊ดขี้หมู (Lonchura punctulata) MHNT

โครงสร้างรังของนกกระติ๊ดขี้หมูเป็นรูปโดมทรงกลมขนาดใหญ่ที่ถักสานกันอย่างหลวม ๆ จากใบหญ้า ฟาง ดอกหญ้า[27] ไม้ไผ่ หรือใบไม้แห้งที่มีใบยาวเรียวอื่น ๆ มีทางเข้าด้านข้าง และภายในรังบุด้วยวัสดุอ่อนนุ่มเช่น ดอกหญ้า ปุยของต้นธูปฤาษี ขนนก เป็นต้น[3] และมักสร้างรังไว้บนง่ามกิ่งไม้ โดยมีพุ่มไม้เป็นที่กำบังฝนหรือใต้ชายคาบ้าน ช่องทางเข้ารังจะหันหน้าไปในทิศทางที่ลมพัดบ่อยที่สุด[28] ทำรังสูงจากพื้นราว 1.5 - 9 เมตร[3]

การศึกษาทางตอนใต้ของอินเดียพบว่าต้นไม้ที่นกกระติ๊ดขี้หมูชอบทำรังคือ Toddalia asiatica, Gymnosporia montana และ Acacia chundra โดยเฉพาะต้นที่เตี้ยเป็นพุ่ม ทรงพุ่มปกคลุมถึงระดับต่ำ ในทางตอนเหนือของอินเดียนกกระติ๊ดขี้หมูชอบทำรังบนต้น Acacia nilotica ที่มักขึ้นโดด ๆ ในพื้นที่นอกเมือง และยังชอบทำรังบนต้นThuja orientalis และPolyalthia longifolia ในสวนที่อยู้ในเมือง[29]

นกกระติ๊ดขี้หมูนกคู่ผัวเมียช่วยกันสร้างรัง หากแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์สามารถทำรังวางไข่ได้ตลอดทั้งปี แต่ช่วงที่พบว่ามีการทำรังวางไข่สูงอยู่ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม[30] (ฤดูร้อนและฤดูฝน) แม่นกวางไข่ครั้งละ 1-8 ฟองต่อรัง จำนวนไข่ที่พบบ่อยที่สุดคือ 4 ถึง 6 ฟอง อาจมากที่สุดถึง 10 ฟอง เปลือกไข่สีขาว ขนาด 16.4 - 11.6 มม. พ่อแม่นกช่วยกันกกไข่ 10 ถึง 16 วัน[31][32] ลูกนกจึงฟัก เป็นตัวลูกนกแรกเกิดซึ่งยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ (altricial) และพ่อแม่นกช่วยกันเลี้ยงลูกนกอีก 13-15 วัน ลูกนกจึงบินออกจากรัง[30]

แหล่งที่มา

WikiPedia: นกกระติ๊ดขี้หมู http://www.birds.cornell.edu/clementschecklist/dow... http://sora.unm.edu/sites/default/files/journals/a... http://sora.unm.edu/sites/default/files/journals/w... http://chopo.pntic.mec.es/biolmol/publicaciones/Es... //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/10322509 //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/11007643 //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/14722748 //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/29852621 //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/4734745 http://www.airies.or.jp/publication/ger/pdf/08-01-...