อนุกรมวิธาน ของ นกกระติ๊ดขี้หมู

นกกระติ๊ดขี้หมูเป็นหนึ่งในนกจำนวนมากหลายชนิดที่คาโรลัส ลินเนียสขึ้นทะเบียนสายพันธุ์ไว้ใน Systema Naturae ฉบับที่ 10 ปี พ.ศ. 2301 (ค.ศ. 1758) โดยขณะนั้นได้รับการตั้งชื่อทวินามว่า Loxia punctulata ต่อมา Sykes ระบุให้เป็นสกุล Lonchura และเปลี่ยนชื่อทวินามเป็น Lonchura punctulata ในปี พ.ศ. 2366[2]

นกกระติ๊ดขี้หมู เป็นนกกระติ๊ด 1 ใน 8 ชนิดที่พบในประเทศไทย นกกระติ๊ดขี้หมูเป็นนกประจำถิ่นของประเทศไทยที่พบบ่อยมาก และเป็นนกในวงศ์นกกระติ๊ดที่พบบ่อยที่สุดในจำพวกนกกระติ๊ดด้วยกัน[3]

ชนิดย่อย

นกกระติ๊ดขี้หมูเป็นชนิดของนกกระติ๊ดที่มีมากถึง 11 ชนิดย่อยที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ซึ่งในจำนวนนี้ได้รวมถึงการระบุสายพันธ์ุย่อยที่พบในที่ราบของอนุทวีปอินเดียไว้ด้วย ซึ่งได้แก่ ปากีสถาน อินเดีย เนปาล บังกลาเทศ และศรีลังกา ชื่อ lineoventer เดิมใช้สำหรับระบุเป็นสายพันธ์ุเฉพาะของประชากรนกนกกระติ๊ดขี้หมูในอินเดีย (Lonchura lineoventer)

นกกระติ๊ดขี้หมูชนิดย่อยในที่อื่น ๆ ได้แก่ subundulata พบในทางทิศตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย, yunnanensis พบทางตอนใต้ของประเทศจีน, topela พบในประเทศไทย, cabanisi ในฟิลิปปินส์ และ fretensis ในสิงคโปร์และสุมาตรา กลุ่มประชากรนกกระติ๊ดขี้หมูชนิดย่อยบนเกาะ ได้แก่ nisoria ในบาหลี ลอมบอก ซุมบาวา, particeps บนเกาะสุลาเวสี, baweana บนเกาะบาวีน, sumbae บนเกาะซุมบา, blasii ในฟลอเรส ติมอร์ และทานิมบาร์[4] และ holmesi บอร์เนียวตะวันออกเฉียงใต้[5]

  • L. p. punctulata (Linnaeus, 1758)[6] นกกระติ๊ดขี้หมูลายตาข่าย (Lonchura punctulata punctulata) – กระจายพันธุ์ในบริเวณประเทศปากีสถานตอนเหนือ, อินเดีย (ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), เขตที่ราบต่ำเตไร (Terai Region) ของประเทศเนปาล และศรีลังกา[7] ชนิดย่อย L. p. punctulata นี้ได้ถูกนำเข้าไปเป็นนกกรงในหลายประเทศ เช่น อัฟกานิสถาน คาบสมุทรอาหรับ ปวยร์โตรีโก ฮิสปันโยลา และบางส่วนของสหรัฐอเมริกา[7]
  • L. p. subundulata (Godwin-Austen, 1874) – กระจายพันธุ์ในบริเวณประเทศภูฏาน, บังกลาเทศ, อินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ (อัสสัม) และพม่าตะวันตก[8]
  • L. p. yunnanensis (Parkes, 1958) – พบในบริเวณประเทศจีนทางตะวันตกเฉียงใต้ (ทิเบตตะวันออกเฉียงใต้ เสฉวนใต้ ยูนนาน) และพม่าตอนเหนือ - ตะวันออกเฉียงเหนือ[9]
  • L. p. topela (Swinhoe, 1863) – กระจายพันธุ์ในบริเวณทางตอนใต้ของประเทศพม่า, ไทย, ประเทศจีนทางตะวันออกเฉียงใต้ (หมู่เกาะไหหลำ กวางตุ้ง เจ้อเจียง และเกาะไต้หวัน), ประเทศลาว, กัมพูชา และเวียดนาม[10]
  • L. p. fretensis (Kloss, 1931) – ในบริเวณคาบสมุทรมาเลย์ตอนใต้ สิงคโปร์ เกาะสุมาตรา และหมู่เกาะนียัซ ยังพบทางภาคใต้ตอนล่างของไทย เช่น จังหวัดสงขลา ซึ่งชนิดย่อยนี้ลายเกล็ดจะเข้มและออกดำมากกว่า ลำตัวด้านบนสีจะอ่อนกว่า มีเส้นขนสีขาวแซมเล็กน้อยที่หัว[11]
  • L. p. cabanisi (Sharpe, 1890) – อาศัยอยู่ในในบริเวณประเทศฟิลิปปินส์ (เกาะลูซอน, มินโดโร, คาเลาอิต, ปาลาวัน, ปาเนย์, เนโกรส, เซบู, มินดาเนา) และตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว (ชายฝั่งตะวันตกของรัฐซาบาห์ของมาเลเซีย และประเทศบรูไน)[12]
  • L. p. nisoria (Temminck, 1830) – กระจายพันธุ์หมู่เกาะซุนดาน้อยฝั่งตะวันตก (รวมเกาะลมบก และเกาะซุมบาวา) และเกาะบาหลีของอินโดนีเซีย แต่อาจพบได้ในบริเวณเกาะบอร์เนียวตอนใต้ (กาลีมันตันตะวันตก และกาลีมันตันใต้) เกาะชวา
  • L. p. holmesi (Restall, 1992) – พบบนบริเวณเกาะบอร์เนียวตะวันออกเฉียงใต้ ของอินโดนีเซีย[13]
  • L. p. particeps (Riley, 1920) – ในบริเวณเกาะสุลาเวสีของอินโดนีเซีย[14]
  • L. p. baweana (Hoogerwerf, 1963) – คาดว่ามีประชากรน้อยมากและกระจายพันธุ์ในบริเวณประเทศหมู่เกาะ Bawean ซึ่งอยู่ใกล้กับเกาะชวาไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ของอินโดนีเซีย[15]
  • L. p. sumbae (Mayr, 1944) – พบเห็นได้บนเกาะซุมบา และหมู่เกาะอื่นในจังหวัดนูซาเติงการาตะวันออก (หมู่เกาะซุนดาน้อยฝั่งตะวันออกต่อกับเกาะติมอร์ด้านตะวันตก) ของอินโดนีเซีย[16]
  • L. p. blasii (Stresemann, 1912) – กระจายพันธุ์ในบริเวณจังหวัดนูซาเติงการาตะวันออก และจังหวัดมาลูกูของอินโดนีเซีย ครอบคลุมหมู่เกาะโมลุกกะตอนใต้ หมู่เกาะทานิมบาร์ และเกาะอัมบน ในทะเลบันดา เกาะโฟลเร็ซทางตะวันออก ต่อไปยังหมู่เกาะติมอร์ ของอินโดนีเซีย และติมอร์เลสเต[17]

ชื่ออื่น

นกกระติ๊ดขี้หมู มีชื่อสามัญอื่นเรียกในภาษาต่าง ๆ ได้แก่

ชื่อภาษาอังกฤษในทางการค้าที่นักเลี้ยงนกรู้จักดี เช่น nutmeg mannikin, spice finch และ nutmeg finch

ชื่อภาษาจีน: 斑文鸟 (Bān wén niǎo)

ชื่อภาษาอินโดนีเซีย: bondol peking หรือ pipit peking (ชื่อในภาษาชวา emprit peking หรือ prit peking; ภาษาซุนดา piit peking หรือ manuk peking)

ชื่อภาษามาเลย์: pipit pinang

ชื่อภาษาตากาล็อก: mayang paking

ชื่อภาษาเวียดนาม: di đá

ชื่อภาษาอัสสัม: ফুটুকী টুনি (phuṭuka ṭuni)

ชื่อภาษาทมิฬ: புள்ளிச் சில்லை (puḷḷic cillai)

ชื่อภาษาพม่า: စာဝတီပြောက်ငှက် (hcar wate pyawwat nghaat)

แหล่งที่มา

WikiPedia: นกกระติ๊ดขี้หมู http://www.birds.cornell.edu/clementschecklist/dow... http://sora.unm.edu/sites/default/files/journals/a... http://sora.unm.edu/sites/default/files/journals/w... http://chopo.pntic.mec.es/biolmol/publicaciones/Es... //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/10322509 //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/11007643 //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/14722748 //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/29852621 //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/4734745 http://www.airies.or.jp/publication/ger/pdf/08-01-...