นกตะกรุม
นกตะกรุม

นกตะกรุม

นกตะกรุม (อังกฤษ: Lesser adjutant stork) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Leptoptilos javanicus เป็นนกน้ำขนาดใหญ่ในวงศ์นกกระสา (Ciconiidae) มีถิ่นที่อยู่อาศัยในทวีปเอเชียทางตอนใต้ ตั้งแต่อินเดีย, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงจีนตอนใต้ และเกาะชวามีรูปร่างคล้ายคลึงกับนกตะกราม แต่มีขนาดเล็กกว่า และไม่มีถุงใต้คอ ขณะยืนมีความสูงบนหัวประมาณ 110-120 เซนติเมตร ความกว้างของปีกทั้งสองข้างประมาณ 210 เซนติเมตร ลำตัวด้านบนสีดำเหลือบเป็นมัน ใต้ท้องสีออกขาว มีจุดเด่น คือ ส่วนหัวและลำคอเป็นหนังสีเหลืองแกมแดง มีขนเป็นเส้น ๆ ขึ้นกระจายอยู่ห่าง ๆ ทำให้แลดูล้านเลี่ยน จะงอยปากมีขนาดใหญ่สีออกเหลืองเลอะ ซึ่งในฤดูผสมพันธุ์จะมีแต้มสีแดงตรงบริเวณโคนปาก แข้งและเท้าสีน้ำตาลแกมเขียวจนถึงสีคล้ำเกือบดำ นกอายุน้อยขนสีดำค่อนข้างด้าน บนส่วนหัวและลำคอมีขนปกคลุมมากกว่านกโตเต็มวัยนกตะกรุม เป็นนกที่หากินสัตว์เล็ก ๆ ตามแหล่งน้ำเป็นอาหาร เช่น กุ้ง, หอย, ปู, ปลา รวมถึงสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอย่าง งู หรือ กบ, เขียด แต่จะไม่กินซากสัตว์เหมือนนกตะกราม มีพฤติกรรมทำรังบนยอดไม้สูง ตามป่าชายเลนหรือป่าริมน้ำร่วมกับนกตะกรามและนกกระทุง วางไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง ในช่วงปลายปี คือ เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนกตะกรุม เป็นนกที่หาได้ยากมากในประเทศไทย เดิมเคยมีรายงานพบที่ จังหวัดศรีสะเกษ, ราชบุรี, ชุมพร, ตรัง, ประจวบคีรีขันธ์ และนราธิวาส และมีรายงานการทำรังแพร่ขยายพันธุ์ที่บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ที่จังหวัดพัทลุง และป่าพรุ ในเขตจังหวัดนราธิวาส ในปี พ.ศ. 2522 แต่ปัจจุบันนี้ เหลือเพียงฝูงสุดท้ายแล้วที่เกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา อันเป็นเกาะที่เงียบสงบ ห่างไกลจากการถูกรบกวนโดยมนุษย์[2] [3] และมีรายงานพบ 2 ตัวที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เมื่อปลายปี พ.ศ. 2556[4]ปัจจุบัน นกตะกรุมเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535[4]