พฤติกรรมและนิเวศวิทยา ของ นกตะขาบอินเดีย

นกตะขาบอินเดียกำลังอาบแดด

นกตะขาบอินเดียมักไม่อยู่รวมกันเป็นฝูง และมักพบอยู่ตามลำพังหรือเป็นคู่[17] เป็นนกหวงถิ่น แต่ในขณะอพยพอาจแสดงพฤติกรรมหาอาหารเป็นฝูงโดยไม่มีการรุกรานนกอื่น นกตะขาบอินเดียมักลาดตระเวนอาณาเขตของตนโดยบินบนยอดไม้หรือสูง 10–15 เมตร และเมื่อพบผู้บุกรุกจะทำการการบินม้วนตัวลงมายังผู้บุกรุกอย่างรวดเร็วเพื่อขับไล่ ความสามารถในการบินม้วนตัวกลางอากาศได้ ในภาษาอังกฤษจึงเรียกมันว่า "Roller" ซึ่งแปลว่า "ลูกกลิ้ง" หรือ"นักม้วนตัว"[34]

นกตะขาบอินเดียมักใช้ไซร้ขนประมาณสองสามนาทีแล้วจึงบินไปรอบ ๆ บริเวณที่หากิน มักชอบเกาะสายไฟฟ้าหรือสายโทรเลข มีการสังเกตการเกาะบนต้นไม้และพุ่มไม้มักอยู่ในระดับความสูง 3–9 เมตร จากจุดที่มันบินลงไปหาแมลงบนพื้น นอกจากนี้ยังเกาะบนยอดไม้ที่สูงกว่า[35] นกตะขาบอินเดียมักบินผาดแผลงด้วยการบินควงสว่านและบินหมุนตัว[10]

มักชอบบินโฉบเข้าหาพื้นที่ที่มีไฟป่าเนื่องจากควันเหล่านั้นช่วยไล่แมลงจำนวนมากให้ปรากฏตัว[18] มีการสังเกตพฤติกรรมการติดตามรถไถของนกตะขาบอินเดียในการหาเหยื่อจำพวกสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่ถูกรถพลิกหน้าดินขึ้นมา ในแหล่งการเกษตรทางตอนใต้ของอินเดียพบว่าความหนาแน่นของนกที่มารวมกันตามรถไถประมาณ 50 ตัวต่อตารางกิโลเมตร[35][36][37]

นกตะขาบอินเดียที่สร้างรังมีกแสดพฤติกรรมก้าวร้าวต่อสัตว์ผู้ล่าที่เป็นไปได้ว่าเข้ามารบกวน เช่นไล่กาป่าอินเดีย (Corvus culminatus) ออกจากพื้นที่ทำรัง และได้รับการบันทึกหลายครั้งว่า สามารถบินไล่อีแร้งอียิปต์ (Neophron percnopterus) และบินโฉบไล่มนุษย์

จากการศึกษาตรวจพบปรสิตเซลล์เม็ดเลือดแดง Haemoproteus coraciae[38] และปรสิตในเลือด Leucocytozoon ในเนื้อเยื่อปอดของนกตะขาบอินเดีย[39] รวมทั้งพยาธิ Hadjelia srivastavai, Cyrnea graphophasiani[40], Habronema tapari [41]และ Synhimantus spiralis[42]

การอพยพ

โดยทั่วไปไม่อพยพโดยเฉพาะประชากรที่อาศัยในช่วงทางตะวันออกของเขตการกระจายพันธุ์ รูปแบบการอพยพยังไม่เป็นที่เข้าใจมากนัก ในโอมานมีการอพยพตลอดทั้งปี แต่ดูเหมือนจะพบได้บ่อยในฤดูหนาวมากกว่าฤดูร้อน[18]

การผสมพันธุ์

ลูกกลิ้งอินเดียทำรังในโพรงหรือรอยแยกในอาคาร

ฤดูผสมพันธุ์ นกตัวผู้และตัวเมียโตเต็มวัยเริ่มจับคู่[18]ในช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน ซึ่งอาจเร็วกว่าเล็กน้อยในอินเดียตอนใต้[10] ในระหว่างการเกี้ยวพาน นกคู่รักจะแสดงการเกี้ยวพานทางอากาศซึ่งได้แก่ การบินขึ้นในมุมชัน, บินขึ้น ๆ ลง ๆ , ตีลังกา, บินปักหัวลงในแนวดิ่ง, โฉบ และบินควงสว่าน ซึ่งมาพร้อมกับการเปล่งเสียงร้อง จากนั้นทั้งคู่จะเกาะคอนและแสดงการเกี้ยวพานให้กันและกันด้วยท่าโก้งโค้ง ลู่ปีกลง และรำแพนหาง และอาจมีการไซร้ขนให้คู่ของตัว (allopreening)[10][17]

พื้นที่ทำรังมักจะเป็นรูโพรงที่มีอยู่แล้วของต้นไม้ ซากต้นปาล์ม หรือโพรงของอาคาร และแม้แต่รูในแอ่งโคลนหรือโพรงเก่าของนกอื่นเพื่อวางไข่ นกสามารถขุดโพรงได้หากเป็นวัสดุเนื้ออ่อน เช่น ไม้ผุ ปูรังบาง ๆ ด้วยฟางหรือหญ้าที่ด้านล่างของโพรง[17] ในอุทยานแห่งชาติ Bandhavgarh ได้รับการบันทึกว่า มีการสร้างรังที่ความสูง 3 เมตร ในต้นสาละ และสูง 7.5 เมตร เหนือพื้นดินในต้นหว้า[43]

แต่ละครอก อาจมีไข่ 3-5 ฟอง[44] ไข่มีสีขาวและทรงรี โดยมีขนาดเฉลี่ยยาว 33 มิลลิเมตร กว้าง 27 มิลลิเมตร ไข่ถูกฟักโดยตัวเมียเป็นหลักทันทีที่วางไข่ฟองแรก และผลัดกันฟัก (asynchronously hatching) หลังจากวันที่ 17 ถึง 19 นกตัวอ่อนเมื่อแรกฟักไม่มีขน เริ่มงอกขนเมื่อวันที่ 30 ถึง 35[17]

อาหารและการหาอาหาร

นกตะขาบอินเดียกำลังกินตั๊กแตน

นกตะขาบอินเดียบินลงมาที่พื้นเพื่อจับแมลงและแมงเช่น ตั๊กแตน, จิ้งหรีด, แมลงหางหนีบ, ผีเสื้อกลางคืน, บุ้ง, ต่อ, ด้วง, แมลงปอและแมงมุม สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก[17][45] นกตะขาบอินเดียชื่นชอบฝูงแมลงเม่า (ปลวกมีปีก) ซึ่งบางครั้งสามารถพบเห็นนกตะขาบอินเดียหนาแน่นมากถึง 40 ตัวเกาะอยู่บนสายไฟที่ยาวเพียง 70 เมตร เพียงเพื่อกินแมลงเม่า[46]

อาหารโดยส่วนใหญ่คือ แมลงปีกแข็ว เช่น ด้วง เป็นประมาณร้อยละ 45 ของอาหารที่กินทั้งหมด รองลงมาเป็นตั๊กแตนและจิ้งหรีดประมาณร้อยละ 25[35]

โดยทั่วไปนกตะขาบ (ได้แก่นกตะขาบทุ่ง และนกตะขาบอินเดีย) นับว่าเป็นนกล่าเหยื่อที่พิเศษกว่านกล่าเหยื่ออื่น ๆ เช่น นกอีเสือ นกกระเต็น หรือนกแซงแซว จากการที่มันสามารถล่าเหยื่อที่นกชนิดอื่น ๆ ไม่กล้าแตะต้องเนื่องจากมีพิษได้ อย่างเช่น ตั๊กแตนหรือผีเสื้อกลางคืนที่มีสีเตือนภัย แมงป่อง ตะขาบหรืองูพิษเป็นต้น[44]

นกตะขาบอินเดียมักรวมฝูงกับนกบัสตาร์ดอินเดีย (Ardeotis nigriceps) เพื่อจับแมลงที่ถูกไล่ออกมาจากการขุดคุ้ยของนกบัสตาร์ดอินเดียซึ่งเป็นนกที่มีขนาดใหญ่มาก[47] ในรัฐทมิฬนาฑู พบว่าเป็นอาหารหลักโดยการจิกคุ้ยเหยื่อบนพื้นผิวต่าง ๆ (gleaning) ตามด้วยการหาอาหารบนพื้นดิน และในอากาศ นกตะขาบอินเดียอาจดำลงไปในน้ำเป็นครั้งคราวเพื่อจับกบและปลาขนาดเล็ก แบบเดียวกับนกกระเต็น[18][48] การหาอาหารอาจมีขึ้นแม้ในยามพลบค่ำ โดยอาจใช้ประโยชน์จากสิ่งช่วยต่างๆ เช่น แมลงที่ดึงดูดด้วยแสงไฟ[49] นกตะขาบอินเดียจะล่าเหยื่อตั้งแต่ตอนเช้าจนกระทั่งพลบค่ำ หรือแม้กระทั่งในเวลากลางคืน

แหล่งที่มา

WikiPedia: นกตะขาบอินเดีย http://www.chiangmaizoo.com/web25/encyclopedia/ani... http://topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstoc... //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/18453241 //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/29631051 http://www.ias.ac.in/jarch/procb/2/00000076.pdf http://knowindia.gov.in/knowindia/national_symbols... http://www.telangana.gov.in/about/state-symbols http://www.birdsofthailand.net/product/73/%E0%B8%9... http://datazone.birdlife.org/species/factsheet/227... http://www.boldsystems.org/index.php/TaxBrowser_Ta...