กำแพงเพชรภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรสุโขทัยและราชวงศ์สุพรรณภูมิ ของ นครรัฐกำแพงเพชร

หลักฐานทางประวัติศาสตร์

นครรัฐกำแพงเพชรช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20 อาจตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรสุโขทัยและราชวงศ์สุพรรณภูมิแห่งอาณาจักรอยุธยา จากการตีความหลักฐานปฐมภูมิ ได้แก่ จารึกวัดบูรพาราม[23] จารึกวัดตาเถรขึงหนัง[4] และจารึกกฎหมายลักษณะโจร[5]

การขยายอำนาจของอาณาจักรสุโขทัย

หลังจากสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แห่งอาณาจักรอยุธยาเสด็จสวรรคต พระมหาธรรมราชาที่ 2 แห่งอาณาจักรสุโขทัยทรงประกาศชัยชนะเหนือดินแดนโดยรอบซึ่งปรากฏในจารึกวัดบูรพาราม[18][24] แม้ว่าจะไม่ปรากฏชื่อเมืองกำแพงเพชรในการพรรณนาถึงอาณาเขตของสุโขทัยเนื่องจากจารึกลบเลือน แต่มีการกล่าวถึงเมืองกำแพงเพชรในจารึกวัดตาเถรขึงหนังว่า ในปี พ.ศ. 1947 มีการนิมนต์พระสงห์จากกำแพงเพชรมาช่วยควบคุมการสร้างวัดศรีพิจิตรกิรติกัลยารามที่เมืองสุโขทัย ทำให้มีการสันนิษฐานว่า นครรัฐกำแพงเพชรในช่วงเวลานั้นมีสถานะเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนา[2]

ข้อสันนิษฐานจากจารึกกฎหมายลักษณะโจร

พระนครนี้สิทธิสมเด็จบพิตร (มหาราชบุตร)...........ราชศรีบรมจักรพรรดิราชทานได้เสด็จขึ้นเสวย.......ภิรมย์ สมดังพระราชมโนรถทดแทนแดนพระธรรมราชสีมานี้ดุจตาวติงสา พระองค์ท่านเสด็จในกําแพงเพชรบุรีศรีวิมลาสน์ด้วยพระราชศฤงคาร...

— จารึกกฎหมายลักษณะโจร[5] ด้านที่ 1 ช่วงต้น

จารึกกฎหมายลักษณะโจรกล่าวถึงการขึ้นเสวยราชย์ของกษัตริย์พระองค์หนึ่งที่เมืองกำแพงเพชร ทรงพระนามศรีบรมจักรพรรดิราช และมีขุนนางและเจ้าเมืองต่างๆมาเข้าเฝ้า เช่น เมืองศรีสัชนาลัย เมืองนครไทย และเมืองไตรตรึงษ์ เนื่องจากตัวเลขปีศักราชในจารึกชำรุด ทำให้สามารถตีความได้ว่าอาจเป็นปี พ.ศ. 1856, 1916 หรือ 1976 แต่โดยทั่วไป ปีดังกล่าวถูกสันนิษฐานว่า ตรงกับปี พ.ศ. 1940[22] โดยวันในสัปดาห์จะไม่ตรงกับที่ระบุในจารึก[24]

จากการศึกษาตำแหน่งที่ตั้งเมืองกำแพงเพชรและรูปแบบศิลปกรรม ทำให้มีการเสนอว่า นครรัฐกำแพงเพชรเป็นฐานอำนาจของราชวงศ์สุพรรณภูมิแห่งอาณาจักรอยุธยา[22] และศรีบรมจักรพรรดิราชอาจเป็นบุคคลเดียวกับสมเด็จพระอินทราชา[22][2] นอกจากนี้ จารึกกฎหมายลักษณะโจรได้รับการเสนอว่า อาจถูกทำขึ้นในปี พ.ศ. 1964 โดยมีวันในสัปดาห์คลาดเคลื่อนเล็กน้อยเช่นเดียวกับ พ.ศ. 1940 และศรีบรมจักรพรรดิราชอาจหมายถึง สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2[24] ในทางตรงกันข้าม ศรีบรมจักรพรรดิราชยังได้รับการสันนิษฐานว่า อาจหมายถึง พระยารามแห่งสุโขทัยที่ทรงอาจได้รับมอบหมายให้มาปกครองเมืองในลักษณะที่คล้ายกับประเพณีการสถาปนาพระมหาอุปราชของอาณาจักรอยุธยา[25]

แหล่งที่มา

WikiPedia: นครรัฐกำแพงเพชร https://web.archive.org/web/20240117142855/https:/... https://web.archive.org/web/20231022223607/https:/... https://web.archive.org/web/20230530140325/http://... https://web.archive.org/web/20221003151250/https:/... https://web.archive.org/web/20230327231353/https:/... https://web.archive.org/web/20231210080609/https:/... https://web.archive.org/web/20231211063623/https:/... https://web.archive.org/web/20240530051502/https:/... https://web.archive.org/web/20231210095721/https:/... https://web.archive.org/web/20221003080700/https:/...