กำแพงเพชรในฐานะประเทศราชของอาณาจักรอยุธยา ของ นครรัฐกำแพงเพชร

การปกครองเมืองเหนือของอาณาจักรอยุธยา

อาณาจักรสุโขทัยตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรอยุธยาอีกครั้งในรัชสมัยของสมเด็จพระอินทราชาและสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 แห่งอาณาจักรอยุธยา พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณและตำนานมูลศาสนาระบุว่า สุโขทัยและดินแดนโดยรอบ ซึ่งถูกเรียกโดยรวมว่า เมืองเหนือ ถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ สองแคว สุโขทัย เชลียง และกำแพงเพชร[26] พระราชพงศาวดารไทยที่ชำระในสมัยรัตนโกสินทร์ระบุทั้ง 4 เมืองให้เป็น 4 ใน 16 ประเทศราชของอาณาจักรอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แต่เนื่องจากข้อมูลประเทศราชเหล่านี้ขัดแย้งกับหลักฐานอื่น ทำให้ได้รับการสันนิษฐานว่า ถูกเพิ่มเติมเข้ามาในพงศาวดารในภายหลัง อาจตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระอินทราชา[18][27]

พระยาแสนสอยดาว

จารึกลานเงินเสด็จพ่อพระยาสอย[28]กล่าวถึงการเสวยราชย์ของกษัตริย์[29]แห่งกำแพงเพชรในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 1963[30] โดยพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณออกพระนามว่า พระยาแสนสอยดาว[31] จากพระนามของพระยาแสนสอยดาวและการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดี ทำให้มีการเสนอว่า นครรัฐกำแพงเพชรในช่วงเวลานี้อาจมีความเกี่ยวข้องกับอาณาจักรล้านนา[2]

พระยาแสนสอยดาวถูกกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณในเหตุการณ์สถาปนาพระยาบาลเมืองแห่งสองแควขึ้นเป็นพระมหาธรรมราชาที่ 4 ทำให้มีการจัดมหรสพเฉลิมฉลองที่เมืองสองแคว ซึ่งพระยาแสนสอยดาวทรงได้มาช่วยงานด้วย เมืองกำแพงเพชรถูกกล่าวถึงอีกครั้งในสงครามตีเมืองตายทองโดยกองกำลังผสมจากเมืองเหนือและอาณาจักรอยุธยา ซึ่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ได้เสด็จมาประทับที่กำแพงเพชรในระหว่างสงคราม

ต่อมาในปี พ.ศ. 1977/1978 ไทยสากล เจ้าอินต๊ะแก่นท้าวกษัตริย์แห่งนครรัฐน่านทรงถูกพระอนุชาชิงเมือง จึงเสด็จหนีไปพึ่งอาณาจักรอยุธยาผ่านทางเมืองเชลียง[31][32] ในปีต่อมา สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 โปรดให้เมืองเหนือทั้งสี่ นำโดยพระยาเชลียงรวมกำลังเข้าตีเมืองน่านเพื่อสนับสนุนเจ้าอินต๊ะแก่นท้าวขึ้นเป็นกษัตริย์ภายใต้อำนาจของอยุธยา ในระหว่างการเกณฑ์ไพร่พลนั้นเมืองไตรตรึงษ์ขัดขืนคำสั่งของพระยาเชลียง พระยาแสนสอยดาวจึงทรงรับหน้าที่เข้าตีเมืองไตรตรึงษ์แต่ไม่สำเร็จ ทำให้พระยาเชลียงทรงยกทัพมาช่วยจนได้เมืองไตรตรึงษ์[31] จากนั้นพระยาเชลียงและเจ้าอินต๊ะแก่นท้าวทรงนำกองทัพเมืองเหนือรบชนะกองทัพน่าน ทำให้เจ้าอินต๊ะแก่นท้าวทรงได้ครองเมืองน่านอีกครั้ง[33][32]

พระนามพระยาแสนสอยดาวยังปรากฏในตำนานมูลศาสนาฝ่ายวัดสวนดอก โดยระบุว่า เมื่อคณะสงฆ์วัดป่าแดงนำพุทธศาสนานิกายใหม่เข้ามาเผยแผ่ที่กำแพงเพชร พระยาแสนสอยดาวทรงไม่อนุญาตให้คณะสงฆ์วัดป่าแดงบวชประชาชน[34]

การผนวกนครรัฐกำแพงเพชรของอาณาจักรอยุธยา

ในต้นรัชกาลพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา เกิดความขัดแย้งระหว่างพระองค์และพระอนุชา เจ้าเมืองเทิงจึงลอบส่งหนังสือไปชักชวนสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ขึ้นมายึดล้านนา จนนำไปสู่สงครามตีเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 1985/1986 ไทยสากล[18] นครรัฐกำแพงเพชรและเมืองเหนืออื่นๆ มีส่วนร่วมในการตีเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ หนึ่งในพระยาผู้ปกครองได้เข้าชนช้างกับแม่ทัพเมืองพะเยา[note 3] แต่ไม่สามารถเอาชนะได้ ทำให้พระยายุทธิษเฐียรแห่งสองแควต้องเข้าช่วยเหลือ[20][35] ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ อยุธยาและล้านนาทำสงครามแย่งชิงเมืองเหนือหลายครั้ง ในปี พ.ศ. 2004 ไทยสากล เมืองเชลียงยอมสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรล้านนา และแนะนำให้พระเจ้าติโลกราชเข้าตีเมืองกำแพงเพชร กองทัพล้านนาเข้าตีกำแพงเพชรไม่สำเร็จจึงถอยทัพกลับไป[18]

ในขณะที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงทำสงครามกับอาณาจักรล้านนา พระองค์ได้ทรงผนวกเมืองเหนือเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา โดยลดสถานะจากประเทศราชเป็นเมืองพญามหานคร ในสงครามระหว่างอาณาจักรอยุธยาและอาณาจักรล้านนาในปี พ.ศ. 2000 ไทยสากล[18] ปรากฏผู้ปกครองเมืองกำแพงเพชรนามว่า ขุนเปกจัด[20] หรือ ขุนเพชรรัตน์[35] มีตำแหน่งเป็นผู้กินเมืองกำแพงเพชร ต่อมาเมืองกำแพงเพชรถูกระบุเป็นเมืองพญามหานครของอาณาจักรอยุธยาอย่างเป็นทางการในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งได้รับการสันนิษฐานว่า ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2011 ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ[36][note 4]

แหล่งที่มา

WikiPedia: นครรัฐกำแพงเพชร https://web.archive.org/web/20240117142855/https:/... https://web.archive.org/web/20231022223607/https:/... https://web.archive.org/web/20230530140325/http://... https://web.archive.org/web/20221003151250/https:/... https://web.archive.org/web/20230327231353/https:/... https://web.archive.org/web/20231210080609/https:/... https://web.archive.org/web/20231211063623/https:/... https://web.archive.org/web/20240530051502/https:/... https://web.archive.org/web/20231210095721/https:/... https://web.archive.org/web/20221003080700/https:/...