ประวัติศาสตร์ช่วงต้น ของ นครรัฐกำแพงเพชร

หลักฐานทางประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ช่วงต้นของนครรัฐกำแพงเพชรปรากฏผ่านหลักฐานรูปแบบตำนาน ได้แก่ ตำนานพระพุทธสิหิงค์[13] โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ชินกาลมาลีปกรณ์[14] และรัตนพิมพวงษ์[15] ซึ่งสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 21[16] โดยทั้งหมดมีเนื้อหาใกล้เคียงกัน

นครรัฐกำแพงเพชรในตำนานพุทธศาสนา

ในรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ 1 แห่งอาณาจักรสุโขทัย สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งอาณาจักรอยุธยาทรงยึดเมืองสองแคว (เมืองชัยนาทในชินกาลมาลีปกรณ์[17]) ทำให้พระมหาธรรมราชาที่ 1 ทรงต้องส่งบรรณาการเพื่อไถ่เมืองคืน เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงคืนเมืองสองแควให้แล้ว พระมหาธรรมราชาที่ 1 เสด็จไปประทับที่เมืองสองแควและทรงตั้งพระเจ้าญาณดิศ[note 1]เป็นกษัตริย์แห่งกำแพงเพชร เหตุการณ์นี้ได้รับการสันนิษฐานว่า ควรเกิดขึ้นหลัง พ.ศ. 1904 ไทยสากล[note 2][18] กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานโดยอ้างอิงตำนานพระพุทธสิหิงค์ว่า นครรัฐกำแพงเพชรได้ปกครองหัวเมืองตลอดฝั่งแม่น้ำปิงเพื่อเป็นฐานอำนาจให้กับอยุธยา[19]

ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 พระเจ้าญาณดิศทรงทำอุบายส่งพระมารดาไปถวายสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 จนได้รับพระพุทธสิหิงค์จากอยุธยา ต่อมาท้าวมหาพรหม พระอนุชาในพญากือนาแห่งอาณาจักรล้านนาทรงได้ลงมาขอพระพุทธสิหิงค์ไปจากกำแพงเพชร สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ทรงจะยกทัพมาช่วยแต่ไม่ทันเวลา ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่บันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับพระพุทธสิหิงค์ในทำนองเดียวกัน โดยให้เนื้อหาเพิ่มเติมว่าท้าวมหาพรหมทรงชักชวนให้สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 เสด็จขึ้นไปตีเมืองลำปาง[20] ตรงกับเหตุการณ์ปี พ.ศ. 1929 ไทยสากลในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ[18]

ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับพระเจ้าญาณดิศ

พระเจ้าญาณดิศได้รับการเสนอว่า อาจเป็นบุคคลเดียวกับพระยาศรีเทพาหูราช จากสมมุติฐานว่า พระมารดาของพระเจ้าญาณดิศเป็นบุคคลเดียวกับพระขนิษฐาในพระมหาธรรมราชาที่ 1 ในชินกาลมาลีปกรณ์ และเป็นบุคคลเดียวกับมหาเทวีในจารึกวัดช้างล้อม[21] โดยพระนางอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1[22] นอกจากนี้ พระเจ้าญาณดิศยังได้รับการเสนอว่า อาจเป็นบุคคลเดียวกับขุนสามแก้วเจ้าเมืองสองแควในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ จากสมมุติฐานว่า พระนาม ติปัญญา ในชินกาลมาลีปกรณ์มีความหมายเดียวกับนาม สามแก้ว[18]

แหล่งที่มา

WikiPedia: นครรัฐกำแพงเพชร https://web.archive.org/web/20240117142855/https:/... https://web.archive.org/web/20231022223607/https:/... https://web.archive.org/web/20230530140325/http://... https://web.archive.org/web/20221003151250/https:/... https://web.archive.org/web/20230327231353/https:/... https://web.archive.org/web/20231210080609/https:/... https://web.archive.org/web/20231211063623/https:/... https://web.archive.org/web/20240530051502/https:/... https://web.archive.org/web/20231210095721/https:/... https://web.archive.org/web/20221003080700/https:/...