ประวัติ ของ นครวัด

พระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 ผู้สร้างนครวัด

นครวัดตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองเสียมราฐในปัจจุบัน ห่างออกไป 5.5 กิโลเมตรจากตัวเมือง แต่หากวัดจากเมืองหลวงก่อนหน้าซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทบาปวน นครวัดจะมีระยะห่างจากเมืองหลวงเดิมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยนครวัดจะตั้งอยู่ทางทิศใต้เยื้องไปทางทิศตะวันออกเล็กน้อย และถือเป็นปราสาทที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของบริเวณเมืองพระนคร

ตามตำนานแล้ว การก่อสร้างปราสาทนครวัดนั้นสร้างขึ้นตามคำสั่งของพระอินทร์ ซึ่งต้องการสร้างปราสาทนี้ให้เป็นวังที่ประทับของพระโอรสของพระองค์[7] ตามบันทึกในช่วงคริสศตวรรษที่ 13 ของนักเดินทางนามว่า โจว ตากวน ได้ระบุว่ามีผู้คนบางส่วนเชื่อกันว่าปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นโดยเทพแห่งสถาปัตยกรรมศาสตร์ในเวลาเพียงหนึ่งคืน[8]

การออกแบบในขั้นต้นและการก่อสร้างตัวปราสาทเริ่มต้นขึ้นในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 (ครองราชย์ในปี ค.ศ. 1113-1150) โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นปราสาทประจำพระองค์และประจำเมืองพระนคร เพื่ออุทิศให้แก่พระวิษณุ และเนื่องจากไม่มีการพบหลักฐานที่เป็นจารึกสมัยการก่อสร้างหรือจารึกสมัยใหม่ที่ระบุว่าได้มีการสร้างปราสาทขึ้น จึงไม่สามารถทราบชื่อดั้งเดิมของปราสาทได้ แต่อาจเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ปราสาทวิษณุโลก” ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งตามเทพองค์ประธานของปราสาท คาดกันว่าการก่อสร้างน่าจะหยุดลงไม่นานหลังการสวรรคตของพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 ทำให้ภาพสลักนูนต่ำบางส่วนนั้นยังแกะสลักไม่เสร็จสิ้น[9] ในปี 1177 หลังการสวรรคตของพระเจ้าสุรยวรรมันที่ 2 ราว 27 ปี เมืองพระนครถูกยึดครองโดยชาวจามที่เป็นศัตรูเดิมของชาวเขมร[10] ภายหลังจึงมีการฟื้นฟูอาณาจักรขึ้นมาอีกครั้งโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งได้สถาปนาเมืองหลวงและปราสาทประจำเมืองแห่งใหม่ขึ้นคือนครธมและปราสาทบายน ตามลำดับ ซึ่งอยู่ห่างจากนครวัดไปทางเหนือไม่กี่กิโลเมตร

ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 นครวัดได้ค่อยๆเปลี่ยนแปลงจากศูนย์กลางด้านจิตใจในศาสนาฮินดูไปเป็นศาสนาพุทธซึ่งก็ได้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน[3] นครวัดมีความแตกต่างจากปราสาทอื่นในเมืองพระนคร แม้ตัวปราสาทจะหมดความสำคัญลงไปหลังคริสศตวรรษที่ 16 แต่ตัวปราสาทกลับไม่เคยถูกทิ้งร้างอย่างสมบูรณ์เลย ซึ่งต่างจากปราสาทหลังอื่นๆในเมืองพระนคร ปราสาทแห่งนี้ได้รับการปกป้องจากการรุกล้ำของป่าเนื่องด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าคูน้ำรอบปราสาทนั้นได้สามารถทำหน้าที่ป้องกันตัวปราสาทได้[11]

หนึ่งในชาวตะวันตกคนแรกๆที่ได้พบเห็นนครวัดคือ แอนโตนิโอ ดา มาดาลีนา นักบวชชาวโปรตุเกส ผู้เดินทางมาถึงในปี 1586 และกล่าวเอาไว้ว่านครวัดคือ “สิ่งก่อสร้างที่น่าพิศวง ซึ่งไม่สามารถอธิบายมันออกมาผ่านปลายปากกาได้ ที่สำคัญคือ ปราสาทหลังนี้ไม่เหมือนสิ่งก่อสร้างใดๆบนโลกนี้เลย ปราสาทมียอดหลายยอด มีการตกแต่ง และมีความวิจิตรที่มีเพียงคนอัจฉริยะเท่านั้นที่จะสามารถสร้างสรรค์ออกมาได้เช่นนี้”[12]

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 นครวัดไม่ได้ถูกทิ้งร้างโดยสมบูรณ์ ยังคงทำหน้าที่เป็นวัดในศาสนาพุทธอยู่เช่นเดิม มีการค้นพบศิลาจารึกที่มีอายุอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 กว่า 14 หลักในบริเวณพื้นที่เมืองพระนคร ระบุถึงผู้แสวงบุญชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้แสวงบุญในศาสนาพุทธที่ได้มาตั้งชุมชนเล็กๆติดกับชาวเขมรท้องถิ่น[13] โดยในตอนนั้นชาวญี่ปุ่นที่มาเยือนนครวัดคิดว่าปราสาทแห่งนี้คือสวนของวัดเชตวันมหาวิหารอันเลื่องชื่อของพระพุทธเจ้า ซึ่งแท้จริงแล้วตั้งอยู่ในแคว้นมคธ ประเทศอินเดีย[14] โดยจารึกที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคือจารึกเรื่องราวของอูกนดายุ คาซูฟูสะ นักแสวงบุญผู้ได้เฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่เขมรที่นครวัดในปี ค.ศ. 1632[15]

ภาพวาดบริเวณทางเดินหลัก (causeway) เข้าสู่ของนครวัด วาดโดย อ็องรี มูโอ เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1860
ภาพร่างปราสาทนครวัด วาดโดย หลุยส์ เดอลาปอร์ต เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1880
ภาพบริเวณลานระเบียงแห่งเกียรติยศ (Terrace of Honor) ในปี ค.ศ. 2019 ก่อนเข้าสู่ภายในนครวัด

ในช่วงกลางของคริสต์ศตวรรษที่ 19 อ็องรี มูโอ นักสำรวจและนักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสได้เดินทางมาที่ปราสาทแห่งนี้ โดยมูโอได้ทำให้นครวัดเป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวตะวันตกผ่านบันทึกการเดินทางที่ได้รับการตีพิมพ์ของเขา เขาได้เขียนไว้ว่า

หนึ่งในปราสาทเหล่านี้ ซึ่งน่าจะเป็นคู่ปรับกับวิหารโซโลมอน ถูกสร้างสรรค์โดยมีเกลันเจโลแห่งยุคโบราณ อาจจะเป็นสถานที่ที่น่ายกย่องพอๆกับสิ่งก่อสร้างที่งดงามของพวกเรา ยิ่งใหญ่กว่าสิ่งใดๆที่กรีกหรือโรมันทิ้งเอาไว้ แต่ก็ช่างขัดแย้งอย่างน่าเศร้ากับดินแดนที่เสื่อมอำนาจจนกลายเป็นแดนป่าเถื่อนไปแล้ว[16]

เช่นเดียวกันกับชาวตะวันตกกลุ่มแรกที่พบเห็นนครวัด มูโอนั้นแทบจะไม่เชื่อว่าชาวเขมรจะสามารถสร้างปราสาทหลังนี้ได้ และได้กำหนดอายุสมัยของนครวัดเอาไว้อย่างผิดพลาด โดยระบุว่าน่าจะอยู่ในช่วงยุคสมัยเดียวกันกับกรุงโรม ประวัติที่แท้จริงของนครวัดได้รับจากเพียงแค่หลักฐานด้านรูปแบบการสร้างและจารึกที่ถูกรวบรวมขึ้นในระหว่างการเก็บกวาดและบูรณะพื้นที่ในช่วงหลังที่มีการดำเนินการในพื้นที่ทั้งหมดของเมืองพระนคร ในการบูรณะพื้นที่นั้นไม่มีการค้นพบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานหรือที่พักอาศัยทั่วไปเลย ทั้งนี้ยังรวมไปถึงอุปกรณ์ประกอบอาหาร อาวุธ หรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการแต่งกายซึ่งมักจะพบเจอในบริเวณเขตเมืองโบราณ แต่ถึงอย่างนั้น หลักฐานที่ค้นพบก็คือสิ่งก่อสร้างทั้งหลายนั่นเอง[17]

ในช่วงศตวรรษที่ 20 นั้น นครวัดมีความจำเป็นต้องได้รับการบูรณะเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นการกำจัดวัชพืชและกองดินเสียส่วนใหญ่[18] แต่งานบูรณะก็ต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศกัมพูชาและกองกำลังเขมรแดงก็ได้เข้ามาควบคุมประเทศตลอดในช่วงปีทศวรรษที่ 1970 ถึงทศวรรษที่ 1980 แต่ตลอดระยะเวลานั้น ตัวปราสาทก็ได้รับความเสียหายไม่มากนัก กองกำลังเขมรแดงที่ต้องพักแรมได้ใช้ไม้ทุกชนิดที่เหลืออยู่ในปราสาทเพื่อเป็นฟืน หนึ่งในโคปุระในพื้นที่นั้นถูกทำลายลงด้วยปลอกระเบิดของทหารฝั่งสหรัฐอเมริกา ในขณะที่การยิงตอบโต้กันของกองกำลังเขมรแดงและทหารเวียดนามก็ได้สร้างร่องรอยกระสุนเล็กน้อยบนภาพสลักนูนต่ำ ความเสียหายที่รุนแรงกว่าเกิดขึ้นภายหลังสงครามยุติลง โดยเหล่าหัวขโมยงานศิลปะที่ปฏิบัติการกันนอกประเทศไทย ซึ่งในช่วงปลายของทศวรรษที่ 1980 ถึงช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ได้อ้างสิทธิ์ครอบครองพระเศียรแทบทุกชิ้นที่สามารถตัดออกจากส่วนพระศอทั้งจากประติมากรรมและจากงานบูรณะได้[19]

ปราสาทแห่งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ที่มีอิทธิพลที่สุดของประเทศกัมพูชา และยังเป็นความภาคภูมิใจของชาติที่มีส่วนช่วยในเรื่องความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกาและประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทย ภาพลายเส้นของนครวัดยังถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของธงชาติกัมพูชามานับตั้งแต่ ค.ศ. 1863[20] ซึ่งเป็นธงรุ่นแรกที่ใช้ภาพของนครวัดบนตัวธง อย่างไรก็ตาม หากดูจากมุมมองทางด้านวัฒนธรรมข้ามชาติหรือแม้แต่ทางด้านประวัติศาสตร์ให้กว้างขึ้นก็จะพบว่านครวัดนั้นไม่ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของชาติกัมพูชาเพียงชาติเดียว แต่นครวัดยังถูกจดจำด้วยกระบวนการด้านวัฒนธรรมการเมืองที่เกิดจากมรดกที่ตกทอดมาของจักรวรรดิอาณานิคมฝรั่งเศส โดยได้มีการจัดแสดงปราสาทนครวัดที่จำลองไว้ในนิทรรศการของอาณานิคมฝรั่งเศสที่ปารีสและมาร์แซย์ระหว่างปี ค.ศ. 1889 ถึงปี ค.ศ. 1937[21] และความงดงามของนครวัดยังถูกจัดแสดงในรูปแบบแม่พิมพ์ปูนพลาสเตอร์ที่พิพิธภัณฑ์ของหลุยส์ เดอลาปอร์ตที่ชื่อว่าพิพิธภัณฑ์อินโดจีนแห่งตรอกาเดโร ซึ่งจัดแสดงอยู่ในวังพาริเซิน ตรอกาเดโล ให้ชาวฝรั่งเศสได้ชื่นชมในความเกรียงไกรของการแผ่ขยายอาณานิคมของตนตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1880 ถึงช่วงกลางทศวรรษที่ 20[22]

ตำนานเกี่ยวกับความงามด้านศิลปะของนครวัดและสิ่งก่อสร้างอื่นๆในเขตเมืองพระนคร ได้ส่งผลโดยตรงต่อการที่ฝรั่งเศสเลือกประเทศกัมพูชาเป็นรัฐในอารักขาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1863 และเริ่มบุกรุกสยาม เพื่อหวังเข้ามาควบคุมและจัดการโบราณสถานต่างๆ การกระทำดังกล่าวได้ส่งผลให้ประเทศกัมพูชาอ้างสิทธิ์ในการครอบครองดินแดนทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ คืนจากการครอบครองของสยามอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งดินแดนดังกล่าวได้อยู่ภายใต้การปกครองของสยามมานับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1351 หรือตั้งแต่ปี ค.ศ. 1431[23] ตามที่บันทึกบางชิ้นได้อ้างถึงกัมพูชาได้รับอิสรภาพคืนจากฝรั่งเศสในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1953 และได้เข้ามาดูแลปราสาทนครวัดมานับแต่นั้นเป็นต้นมา อาจกล่าวได้ว่านับตั้งแต่ช่วงที่ประเทศตกเป็นอาณานิคมเรื่อยมาจนถึงช่วงที่นครวัดได้รับการเสนอชื่อให้เป็นมรดกโลกของยูเนสโกในปี ค.ศ. 1992 ตัวปราสาทนครวัดนั้นเป็นส่วนสำคัญในโครงสร้างแห่งยุคสมัยใหม่ และช่วยเผยแพร่แนวคิดเรื่องมรดกทางวัฒนธรรมประเภทสิ่งปลูกสร้างได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป[24]

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2015 ได้มีการประกาศว่าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ได้ค้นพบกลุ่มซากปราสาทฝังอยู่ใต้ดิน ซึ่งยังไม่เคยมีการค้นพบมาก่อน โดยคาดว่ามีการสร้างและพังทลายลงในช่วงการก่อสร้างนครวัดเช่นเดียวกับป้อมปราการที่ทำจากไม้และสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ทางทิศใต้ที่ยังไม่รู้จุดประสงค์ของการสร้าง การค้นพบครั้งนี้ยังรวมไปถึงการค้นหลักฐานเรื่องการตั้งถิ่นที่อยู่ของผู้คนที่ไม่ได้หนาแน่นนัก รวมไปถึงการตัดถนนแบบตาราง สระน้ำ และคันดิน ซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่าบริเวณของปราสาทที่แม้จะมีการล้อมอาณาเขตด้วยคูน้ำและกำแพงนั้นก็อาจจะไม่ได้เป็นสถานที่ที่ถูกจำกัดเอาไว้ให้คนชนชั้นสูงที่เป็นนักบวชเพียงอย่างเดียวดังที่เคยสันนิษฐานไว้ในตอนแรก ทีมวิจัยยังได้ใช้ไลดาร์ ให้สัญญาณเรดาร์ทะลุทะลวงลงไปในพื้นดินและพื้นที่ขุดค้นที่สนใจเพื่อทำแผนที่ของนครวัดขึ้น[25]

แหล่งที่มา

WikiPedia: นครวัด http://sydney.edu.au/news-opinion/news/2015/12/09/... http://www.cambodia-travel.com/khmer/post-angkor.h... http://www.cambodianview.com/documents/articles/Br... http://www.grahamhancock.com/horizon/horizon_scrip... http://www.guinnessworldrecords.com/world-records/... http://www.theangkorguide.com/ http://www.theangkorguide.com/text/part-two/angkor... http://www.tourismcambodia.com/news/localnews/8637... http://www.veloasia.com/library/buckley/churning_m... http://www.voiceofangkor.com/