ชนชั้นทางสังคม ของ นครเชียงใหม่

โครงสร้างทางสังคมของประเทศราชฝ่ายเหนือ ประกอบด้วย 4 ชนชั้น[9] คือ:

  1. ชนชั้นปกครอง คือกลุ่มเจ้านายขุนนาง เจ้านายเหล่านี้มีลักษณะพิเศษต่างจากเชื้อพระวงศ์จักรีคือ ราชวงศ์ทางเหนือจะสืบเชื้อสายต่อๆกันไปไม่มีสิ้นสุด ไม่มีการลดฐานันดรเพื่อจำกัดจำนวนเจ้า นอกจากเจ้านายแล้ว ยังมีชนชั้นขุนนางซึ่งมียศลดหลั่นกันไปตั้งแต่ พญา เจ้าแสน เจ้าหมื่น เจ้าพัน นายร้อย นายห้าสิบ นายซาว นายสิบ นายจ๊าง นายม้า นายบ้าน ขุนนางได้รับอภิสิทธิ์ไม่ต้องเสียภาษี มีที่ดินเป็นของตัวเอง และไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานเหมือนไพร่ แต่ถ้าขุนนางทำผิดจะต้องรับโทษหนักกว่าไพร่[10]
  2. พระสงฆ์ พระสงฆ์ถือเป็นผู้นำทางจิตใจ เมื่อถึงยามคับขันพระสงฆ์ก็เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้ เช่นในช่วงพ.ศ. 2272-75 พระอธิการวัดชมภูเมืองนครลำปาง เป็นผู้นำกอบกู้บ้านเมืองจากพม่า[11] ประชาชนฝ่ายเหนือมีความยกย่องศรัทธาสถาบันสงฆ์มาก พระสงฆ์หลายองค์เป็นผู้นำการบูรณะสาธารณสถานต่างๆ
  3. ไพร่เมือง คือกลุ่มคนที่มีจำนวนมากสุดในสังคม รวมกันแล้วมีจำนวน 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด[12] ประกอบด้วยชนหลายเชื้อชาติ
  4. ทาส ในภาคเหนือมีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร นายทาสค่อนข้างอลุ้มอล่วยไม่กดขี่ บ้านเมืองเองก็มีกฎหมายคุ้มครองทาส หากนายทาสไม่เอาใจใส่ดูแลทาส เช่น ทาสป่วยแต่ไม่ยอมรักษา หรือนายคิดร้ายต่อทาส เป็นชู้กับเมียทาส ฯลฯ นายทาสต้องปล่อยทาสเป็นอิสระพร้อมทั้งเสียค่าสินไหมแก่ทาส[10] หากทาสไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถฟ้องร้องกับทางราชการได้ การที่ทาสมีความเป็นอยู่ดีเช่นนี้ ทำให้เกิดภาวะไพร่เมืองขายตัวเป็นทาสจำนวนมาก จนทางการต้องออกกฎหมายห้ามขุนนางรับไพร่บางประเภทเป็นทาส ทาสแบ่งเป็นสามประเภท[13] คือ:
    1. ทาสเชลย คือทาสที่ถูกกวาดต้อนมาจากการทำสงคราม
    2. ทาสสินไถ่ คือคนที่ขายตัวเองหรือถูกพ่อแม่ขายเป็นทาส[14]
    3. ข้าวัด คือทาสที่ถูกยกให้แก่วัดเพื่อรับใช้ภิกษุสงฆ์ วัดมีกรรมสิทธิ์เหนือตัวทาส