ประวัติศาสตร์ ของ นครเชียงใหม่

ล้านนา เดิมเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองมาตั้งแต่พุทธศตวรรศที่ 19 มีอาณาเขตกว้างขวาง ในยุคทองของอาณาจักรล้านนานั้น มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไปจนถึง รัฐไทใหญ่, สิบสองปันนา, ล้านช้าง, พม่า และ สุโขทัย การขยายอำนาจของอาณาจักรล้านนาทำให้เกิดความขัดแย้งกับอาณาจักรอยุธยา จนเกิดสงครามกันหลายครั้ง ถึงแม้ยามล้านนาอ่อนแอ ก็ไม่เคยตกเป็นประเทศราชของอยุธยาอย่างแท้จริง

อาณาจักรล้านนารุ่งเรืองอยู่สองร้อยกว่าปี ก็ตกเป็นประเทศราชของพม่า ซึ่งเป็นช่วงเวลายาวนานกว่าสองร้อยกว่าปีเช่นกัน จนกระทั่งผู้นำของเมืองเชียงใหม่และลำปาง ได้เข้าขอความช่วยเหลือทางทหารต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี จนสามารถขับไล่พม่าจากล้านนาไปได้ ล้านนาก็เป็นขัณฑสีมาของธนบุรีมานับแต่นั้น

ล้านนาในฐานะประเทศราชของสยาม

ดูเพิ่มที่: 57 หัวเมืองล้านนา

ภายหลังการกอบกู้เอกราชของล้านนาโดยการนำของพระเจ้ากาวิละ แต่เดิมพระองค์เป็นพระยานครลำปาง สืบเชื้อสายมาแต่พระยาไชยสงคราม (ทิพย์ช้าง) องค์ปฐมวงศ์ราชวงศ์ทิพย์จักร และเจ้าอนุชารวม 7 องค์ ภายใต้การสนับสนุนทัพหลวงใน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แล้ว ล้านนาจึงได้เข้ามาอยู่ในฐานะประเทศราชของกรุงธนบุรีตั้งแต่นั้น

หลังจากสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว ด้วยความสัมพันธ์ในฐานะพระญาติระหว่างราชวงศ์จักรีและราชวงศ์ทิพย์จักร เนื่องด้วยเจ้าศรีอโนชา พระขนิษฐาในพระเจ้ากาวิละ ได้เป็นพระอัครชายาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กอปรกับพระเจ้ากาวิละและเจ้านายฝ่ายเหนือได้ถวายความจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรีมาแต่ก่อนสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงสู้ขับไล่ข้าศึกพม่าให้พ้นแผ่นดินล้านนา ขยายขอบขัณฑสีมาอาณาจักรออกไปอย่างกว้างใหญ่ ได้กวาดต้อนผู้คนและสิ่งของจากหัวเมืองน้อยใหญ่ที่หนีภัยสงครามในช่วงที่พม่ายึดครอง และทรงสร้างบ้านแปงเมืองอาณาจักรล้านนาใหม่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนามพระยากาวิละขึ้นเป็น พระบรมราชาธิบดี เป็นพระเจ้าประเทศราชปกครองเมืองเชียงใหม่และ 57 หัวเมืองล้านนา

พระเจ้ากาวิละได้ทรงส่งพระญาติเจ้านายบุตรหลานไปปกครองหัวเมืองล้านนา อันประกอบด้วย นครเชียงใหม่, นครลำปาง และนครลำพูน รวมถึง เมืองพะเยา และเมืองเชียงราย โดยมีนครเชียงใหม่เป็นราชธานี มีอิสระในการปกครองราชอาณาจักร โดยนครประเทศราช มีหน้าที่สำคัญดังนี้

  1. ทุก 3 ปี เจ้าหลวงเชียงใหม่, ลำพูน และ ลำปาง ต้องส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองและเครื่องบรรณาการ ถวายไปยังราชสำนักสยามที่กรุงเทพฯ ของที่ถวายก็ตามแต่อัธยาศัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของที่ราชสำนักสยามต้องใช้ในโอกาสพิธีการสำคัญ เช่น ราชพิธีพระศพ อาทิ ขี้ผึ้ง ผ้าขาว งาช้าง เครื่องเขิน และไม้ซุง เป็นต้น[1]
  2. สร้างรายได้แก่เมืองแม่ ด้วยการส่งส่วยและของถวายเป็นสินค้าที่สำคัญของท้องถิ่นที่ตลาดภายในและนอกต้องการ เช่น ไม้สักและของป่า
  3. ส่งกำลังหรือเสบียงตลอดจนการสนับสนุนอื่น ๆ ในยามสงคราม เช่นในยามศึก ทำหน้าที่ดูแลรักษาชายแดน และส่งข่าวความเคลื่อนไหวจากพม่า

เมืองเชียงใหม่เปนเมืองขึ้นกรุงเทพก็จริง แต่เปนประเทศราช กฎหมายแผ่นดินแลธรรมเนียมบ้านเมืองเขาก็ใช้ตามนิใสเขา ไม่ได้เอากฎหมายที่กรุงเทพไปใช้ เมืองเหล่านี้กฎหมายเขาแรงนัก ทำผิดก็ฆ่าเสียง่ายๆ... แล้วก็เปนบ้านป่าเมืองดง ธรรมเนียมเมืองนั้นก็เปนทำเนียมป่าทำเอาตามชอบใจ[2]

เหตุการณ์ในรัชสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์

แผนที่นครประเทศราชล้านนาภายหลังเสียดินแดนแก่อังกฤษและฝรั่งเศส
  หัวเมืองนครเชียงใหม่
  หัวเมืองนครลำพูน
  หัวเมืองนครลำปาง
  หัวเมืองนครแพร่
  หัวเมืองนครน่าน

ก่อนรัชสมัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2411 มีศาสนาจารย์แมคกิลวารีและครอบครัวมิชชันนารีได้อพยพขึ้นมาศัยอยู่ที่นครเชียงใหม่ ตั้งจุดประกาศศาสนาโดยเริ่มจัดการศึกษาแบบตะวันตก โดยมี นางโซเฟีย รอยซ์ แมคกิลวารี ได้เริ่มให้มีการศึกษาสำหรับสตรีครั้งแรกในปี พ.ศ. 2418

ต่อมาในปี พ.ศ. 2422 นางสาวแมรี แคมป์เบลล์ และ เอ็ดนา โคล ได้มาจัดระเบียบโรงเรียนสตรี บริเวณเชิงสะพานนวรัฐ จนกลายมาเป็นโรงเรียนดาราวิทยาลัยในปัจจุบัน ส่วนการศึกษาสำหรับเด็กชายนั้น ได้มีการจัดตั้ง "โรงเรียนเด็กชายวังสิงห์คำ" ขึ้นที่บริเวณที่เรียกว่า วังสิงห์คำ เมื่อ พ.ศ. 2431 โดยมีศาสนาจารย์ เดวิด จี.คอลลินส์ เป็นผู้ก่อตั้ง ต่อมาเป็นโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย โรงเรียนดังกล่าวระยะแรกนั้น ใช้ภาษาอังกฤษและภาษาไทยถิ่นเหนือ ในการเรียนการสอน มีการพิมพ์ตำราด้วยอักษรธรรมล้านนา ในขณะที่ตัวหนังสือแป้นนั้นมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2379 แล้ว

ในช่วงเดียวกันนี้ บริษัททำป่าไม้ ซึ่งทยอยเข้ามาที่เมืองเชียงใหม่ เช่น บริษัทบริติชบอร์เนียว (British Borneo, เข้ามาในราว พ.ศ. 2407) บริษัทบอมเบย์ เบอร์มา (Bombay Burma, เข้ามาในราว พ.ศ. 2432) และ บริษัทสยามฟอเรสต์ (Siam Forest) เป็นต้น ได้นำเอาลูกจ้างชาวพม่า กะเหรี่ยง และชาวพื้นเมืองอื่น ๆ เข้ามาทำงาน ดังนั้นจึงมีชาวอังกฤษและผู้ติดตามเข้ามาในล้านนามากขึ้น ทำให้เกิดการฟ้องศาลที่กรุงเทพฯ หลายคดี จากหลักฐานพบว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2401–2416 มีคดีความจำนวน 42 เรื่อง ตัดสินยกฟ้อง 31 คดี ส่วนอีก 11 คดีนั้นพบว่าเจ้านายทำผิดจริง จึงตัดสินให้จ่ายค่าเสียหายรวม 466,015 รูปี หรือ 372,812 บาทสยาม (เทียบเท่าราคาเรือรบอย่างดีสองลำ) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในขณะนั้นคือ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ได้ทรงขอชำระเพียงครึ่งเดียวก่อน ส่วนที่เหลือจะทรงชำระภายใน 6 เดือน แต่กงสุลอังกฤษไม่ยินยอม เรียกร้องให้พระเจ้านครเชียงใหม่ชำระทั้งหมด หรือมิฉะนั้นต้องจ่ายค่าดอกเบี้ย ซึ่งราชสำนักกรุงเทพฯ ก็ไม่ยินยอมด้วยเช่นกัน ดังนั้น พระเจ้าอินทวิชยานนท์ จึงทรงจ่ายค่าเสียหาย 150,000 รูปี (120,000 บาทสยาม) และราชสำนักกรุงเทพฯ ให้ทรงยืมอีก 310,000 รูปี (248,000 บาทสยาม) โดยต้องชำระคืนภายใน 7 ปี พร้อมทั้งดอกเบี้ยในรูปไม้สัก 300 ท่อนต่อปี

การรวมเข้ากับสยาม

ในปี พ.ศ. 2369 พม่าได้เสียดินแดนหัวเมืองมอญให้แก่อังกฤษ ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับล้านนา จึงมีชาวอังกฤษข้ามเข้ามาค้าขายและสัมปทานป่าไม้ในล้านนาจำนวนหนึ่ง เมื่ออังกฤษได้เข้าครอบครองดินแดนพม่าทางตอนล่าง อิทธิพลของอังกฤษก็ได้ขยายเข้าใกล้ชิดกับล้านนามากขึ้น มีชาวพม่าซึ่งอยู่ในบังคับของอังกฤษเข้ามาทำป่าไม้ในล้านนาจำนวนมาก ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการจัดสรรที่ดิน อังกฤษจึงเรียกร้องให้รัฐบาลกลางเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ในปี พ.ศ. 2416 ราชสำนักกรุงเทพฯ จึงได้ส่ง "พระนรินทรราชเสนี (พุ่ม ศรีไชยยันต์)" ไปเป็นข้าหลวงดูแลสามหัวเมืองใหญ่ประจำที่นครเชียงใหม่ เพื่อควบคุมดูแลปัญหาในนครเชียงใหม่ นครลำปาง และนครลำพูน แต่ก็ยังมิสามารถแก้ไขปัญหาได้ ขณะนั้นหัวเมืองขึ้นของพม่าเป็นจำนวนมากต่างประกาศเป็นอิสระ และได้ยกกำลังเข้าโจมตีหัวเมืองชายแดนล้านนา ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นนี้เกินกำลังที่เชียงใหม่ และเมืองบริวารจะจัดการได้ ในขณะนั้นสถานการณ์ภายในเมืองเชียงใหม่ก็มีปัญหา เนื่องจากพระเจ้าอินทวิชยานนท์ทรงชราภาพขาดความเข้มแข็งในการปกครอง เจ้านายชั้นสูงเริ่มแก่งแย่งชิงอำนาจกัน

พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7

ในขณะเดียวกันอังกฤษก็ได้ขยายอิทธิพลเข้าสู่ล้านนา มีข่าวลือในกรุงเทพว่าสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรจะทรงรับเจ้าดารารัศมี เจ้าราชธิดาองค์เล็กในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ไปเป็นพระราชธิดาบุญธรรม เมื่อข่าวลือทราบถึงพระกรรณใน พ.ศ. 2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร (เวลานั้นดำรงตำแหน่งเทียบได้กับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในภาคพายัพ) โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์ และอัญเชิญพระกุณฑล (ตุ้มหู) และพระธำมรงค์เพชรไปพระราชทานเป็นของขวัญแด่เจ้าดารารัศมี โดยมีรับสั่งว่า การพระราชทานของขวัญดังกล่าวเพื่อเป็นการหมั้นหมาย หลังจากนั้น 3 ปี เจ้าดารารัศมี จึงได้โดยเสด็จพระราชบิดาลงมาถวายตัวในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 (ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 3 ปีจอ อัฐศก จุลศักราช 1248) ซึ่งต่อมาภายหลัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานสถาปนาพระอิสริยยศเป็น "พระราชชายา" ทั้งนี้ ยังได้โปรดเกล้าฯ พระราชทาน เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ถวายแด่พระเจ้าอินทวิชยานนท์[3] อันเป็นการแสดงนัยยะว่าทรงนับเนื่องเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ในพระบรมราชวงศ์จักรี ด้วยพระกุศโลบายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสายสัมพันธ์ความรักระหว่าง 2 พระองค์ที่เกิดขึ้นภายหลัง ถือเป็นส่วนสำคัญให้เกิดความจงรักภักดีในหมู่เจ้านายฝ่ายเหนือ และประชาชนล้านนา ต่อราชสำนักกรุงเทพฯ ในขณะที่ทรงดำเนินพระราชกุศโลบายปฏิรูปการปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนืออย่างค่อยเป็นค่อยไป

ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2442 ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล โดยมีมณฑลพายัพ หรือ มณฑลลาวเฉียง และมณฑลมหาราษฎร์ เป็นมณฑลในอาณาจักรล้านนา โดยราชสำนักกรุงเทพฯ ส่งข้าหลวงขึ้นมาช่วยให้คำแนะนำเจ้านายฝ่ายเหนือในการบริหารราชการ ได้มีการแต่งตั้ง ตำแหน่งเสนากรมขึ้นมาใหม่ 6 ตำแหน่ง โดยให้คงตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครอยู่ แต่ลดอำนาจลง และในที่สุดในปี พ.ศ. 2442 ล้านนาได้รับการปฏิรูปการปกครองเป็นแบบ มณฑลเทศาภิบาล เป็นการยกเลิกฐานะหัวเมืองประเทศราช และผนวกดินแดนล้านนาที่อยู่ใต้การปกครองของเชียงใหม่มาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม โดยมีเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้ายคือเจ้าแก้วนวรัฐ พระเชษฐาในพระราชชายา เจ้าดารารัศมี

การส่งข้าหลวงและข้าราชการกรุงเทพเข้ามาควบคุมเชียงใหม่ในระยะเริ่มต้น มีความลำบากด้านการสื่อสาร เพราะภาษาและวัฒนธรรมไม่ใคร่จะถูกกัน ชาวเชียงใหม่มักถูกผู้ที่มาจากกรุงเทพเรียกอย่างดูถูกว่า "ลาว" และมีการนำพฤติกรรมไปล้อเลียน เช่น "ลาวกินข้าวเหนียวยืนเยี่ยวอย่างควาย"[4] การกระทำเช่นนี้ทำให้คนเชียงใหม่คลั่งแค้น จึงมีการประดิษฐ์คำด่าสวนกลับว่า "ไทยกิ๋นข้าวจ้าว ง่าวเหมือนหมา" นอกจากนี้ คนเชียงใหม่ยังพูดถึงคนกรุงเทพและภาคกลางด้วยความหมั่นไส้ว่า "ไอ่ไทยตูดดำ"[4]