ประวัติ ของ นมบัญเจาะ

โสมเพ็ญ ขุทรานนท์ (2557) และองค์ บรรจุน (2564) อธิบายตรงกันว่า ชื่อ นมบัญเจาะ ประกอบด้วยคำว่า นม (នំ, นํ) มาจากคำว่า "ขนม (จีน)" ในภาษาไทย ส่วนคำว่า บัญ (បញ, บญฺ) คือคำว่า "แป้ง" ในภาษาเวียดนาม และคำว่า เจาะ (ចុក, จุก) เป็นภาษาเขมร แปลว่า "จับ" เพราะชาวเขมรในอดีตในมือเปิบอาหาร[4][5] ส่วนศาสตราจารย์ คุณบรรจบ พันธุเมธา อธิบายว่า บัญเจาะ แปลว่า ป้อน[6] อย่างไรก็ตามชาวเขมรในปัจจุบันนิยมรับประทานนมบัญเจาะด้วยการใช้ตะเกียบเป็นสำคัญ[7]

องค์ บรรจุน อธิบายอีกว่า นมบัญเจาะเป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากสยามในช่วงที่กัมพูชาตกเป็นประเทศราชนานถึง 400 ปี แม้สยามจะรับเอาวัฒนธรรมเขมรเข้าไปในราชสำนัก ในทางกลับกันสยามก็ได้ถ่ายเทวัฒนธรรมของตนแก่เขมรด้วย โดยอาหารเขมรที่รับอิทธิพลจากสยามมักเป็นอาหารที่ทำจากกะทิ กะปิ และน้ำปลา[5] เพราะในสำรับอาหารเขมรดั้งเดิม กะทิเป็นตัวบ่งบอกว่าอาหารชนิดนั้นเป็นของหวานมิใช่ของคาว[4] โดยมีอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากสยาม เช่น ซ็อมลอ-คะติฮ์ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับแกงเขียวหวานของไทย และนมบัญเจาะ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับขนมจีนน้ำยาของไทย[4][5] ถือเป็นการเปลี่ยนทัศนคติในการใช้กะทิสำหรับอาหารหวานไปโดยสิ้นเชิง[8] นอกจากนี้ยังมีขนมที่ได้รับอิทธิพลจากไทยไปจำนวนมาก ซึ่งชาวเขมรเรียกว่า "ของกินสยาม" เช่น ทองหยิบ ฝอยทอง ตะโก้ เม็ดขนุน วุ้นกะทิ สังขยาฟักทอง และข้าวเหนียวสังขยา เป็นต้น[6]

แหล่งที่มา

WikiPedia: นมบัญเจาะ https://grantourismotravels.com/nom-banh-chok-ferm... https://www.matichonacademy.com/content/food-story... https://www.movetocambodia.com/food/khmer-noodles-... https://www.posttoday.com/aec/news/277740 https://arit.chandra.ac.th/archives/doc/fable/23.p... https://www.silpa-mag.com/culture/article_8932 https://aecnewstoday.com/2017/num-banh-chok-more-t... https://www.matichonacademy.com/content/recipes/ar... http://km-ir.arts.tu.ac.th/files/original/9cbafc5d... https://www.rfa.org/english/news/cambodia/noodles-...