ฟอสซิลนอติลอยด์ในประเทศไทย ของ นอติลอยด์

มีการพบหอยงวงช้างในประเทศไทยเป็นสกุลและชนิดใหม่ของโลกคือ Siamnautilus ruchae Ishibashi et al., 1994เป็นหอยงวงช้างอยู่ในวงศ์ Tainoceratidae จากหินดินดานเนื้อประสานปูนของหมวดหินห้วยทาก ยุคเพอร์เมียนตอนกลาง บริเวณเชิงดอยผาพลึง อำเภองาว จังหวัดลำปาง เป็นชนิดใหม่ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ นางรุจา อิงคะวัต เฮลมเก้

มีขนาดปานกลาง ขดม้วนมีคลาวิบนผิวเรียงกันเป็น 4 แถว แถวของคลาวิบนบ่าด้านข้างล้ำไปทางด้านบนมีขนาดใหญ่กว่าแถวของคลาวิบนบ่าทางด้านสะดือ แต่แถวของคลาวิบนบ่าด้านข้างล้ำไปทางด้านบนแถวเดียวเท่านั้นที่เรียงรายต่อเนื่องไปจนถึงผิวของห้องลำตัว ตัวหอยมีขนาดปานกลางด้วยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 9 ซม. ขดม้วนในแนวด้านข้าง ด้านบนโค้งและเรียบ สะดือแคบมีขนาดประมาณหนึ่งในสี่ของขนาดเปลือกหอยทั้งหมด ผิวเปลือกมีคลาวิรูปวงรีเรียงเป็นแถวจำนวน 4 แถวทางด้านข้างของเปลือกหอยมีขนาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปทางด้านห้องลำตัว คลาวิมีขนาดชัดเจนทางด้านข้างเยื้องไปทางด้านบนเรียงรายต่อเนื่องจนไปสิ้นสุดบนผิวของห้องลำตัว ส่วนคลาวิอีก 3 แถวที่เหลือไม่พบบนผิวของห้องลำตัว (ดูภาพประกอบ - วิฆเนศ ทรงธรรม และคณะ 2549)

หมายเหตุ: ชิ้นส่วนตัวอย่างที่พบมีลักษณะเหมือนกับ Hefengnautilus pernodosus Xu โดยมีปุ่มปมเรียงเป็นแถวทางด้านข้าง แต่ชนิดหลังนี้มีลักษณะเป็นปุ่มปมแทนที่จะเป็นคลาวิ นอกจากนี้ Tylonautilus permicus บรรยายโดย Hayasaka (1957) จากหมวดหินทากากูรายามายุคเพอร์เมียนตอนกลาง จังหวัดฟูกูชิมา ประเทศญี่ปุ่นมีลักษณะเหมือนกับตัวอย่างที่พบนี้โดยมีปมเรียงเป็นแถวจำนวน 4 หรือ 5 แถวซึ่งโดดเด่นชัดเจนบนห้องด้านนอก