เที่ยวเมืองเชียงตุงและแคว้นสาละวิน ของ บ._บุญค้ำ

หนังสือ "เที่ยวเมืองเชียงตุงและแคว้นสาละวิน" ได้รับการตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2499 ที่โรงพิมพ์รัตนสุวรรณ จังหวัดพิษณุโลก โดยความช่วยเหลือในการจัดจำหน่ายของสำนักพิมพ์คลังวิทยา โดยมี "เหม เวชกร" เป็นผู้ออกแบบปกและเป็นการตีพิมพ์เพียงครั้งเดียวเท่านั้น หนังสือ "เที่ยวเมืองเชียงตุงและแคว้นสาละวิน" เป็นมากกว่าหนังสือเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั่วไป เนื้อหาของหนังสือมีเรื่องราวต่างๆ ที่ได้จากเอกสารประวัติศาสตร์เชียงตุงที่เป็นต้นตอ มีรายละเอียดที่ชัดเจน น่าสนใจและเพลิดเพลิน โดยเฉพาะเรื่อง "ละว้าสร้างบ้าน" ชาวละว้าที่สมัยนั้นยังต้องออกล่าหัวมนุษย์ หนังสือแบ่งออกเป็น 11 บทและภาคผนวก มีภาพถ่ายประกอบมากเกือบ 80 ภาพ ทั้งที่ถ่ายเองและถ่ายทอดจากหนังสืออื่น มีรายการอ้างอิงทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ 11 รายการ นับเป็นหนังสือหายากที่เป็นที่ต้องการของผู้ที่สนใจหรือ "คอหนังสือ" ด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และประเพณีของชนเผ่า รวมทั้งด้านมานุษยวิทยาโดยเฉพาะในพื้นที่เชียงตุง แคว้นสาละวินไปถึงเชียงรุ้งในช่วง 60-80 ปีก่อน ดังนั้น แม้ถึงปัจจุบัน ก็ยังมักผู้ตามหาและสอบถามถึงนามปากกา บ. บุญค้ำ ผู้แต่งหนังสือนี้อยู่เนืองๆ ว่าเป็นผู้ใด

นอกจากนี้ บ. บุญค้ำ ยังได้เขียนบทความและหนังสืออื่นแต่ไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย โดยเฉพาะเรื่อง "เล่ห์การเมือง" ซึ่งตีพิมพ์ประมาณ พ.ศ. 2492 อันเป็นเหตุให้ตำรวจสันติบาลยุคนั้นบุกค้นบ้านที่พะเยาและจับคนในบ้าน 3-4 คนไปตั้งข้อหา "กบฏเชียงราย" (ภายหลังได้รับการปล่อยตัว) นอกจากนี้ บ. บุญค้ำ ยังแต่งบทละครเรื่อง "เจ้าชายเขมรัฐและเจ้าหญิงแสนหวี" พร้อมทั้งเพลงประกอบออกแสดงเร่หาเงินบำรุงโรงเรียน "บุญนิธิ" ที่ท่านตั้งขึ้นที่อำเภอพะเยา (ปัจจุบันเป็นจังหวัด)

บ่วงบรรจถรณ์

บ่วงบรรจถรณ์ เป็นหนังสือนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ใช้หนังสือ "เที่ยวเมืองเชียงตุงและแคว้นสาละวิน" เป็นแนวทางหลักในการเดินเรื่อง โดยเฉพาะช่วงเวลา สถานที่และผู้คน ประพันธ์โดย กีรตี ชนา ตีพิมพ์โดยสนักพิมพ์อรุณ พ.ศ. 2544 ขนาด 708 หน้า หนังสือเล่มนี้ได้รับการนำไปทำบทละครโทรทัศน์เรื่องเดียวกัน กำกับโดยนพดล โกมารกุล ออกแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์สีช่อง 7 เมื่อ พ.ศ. 2545 ได้รับความนิยมสูง ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้ต้องการอ่านและตามหาหนังสือ "เที่ยวเมืองเชียงตุงและแคว้นสาละวิน" ต้นตอ รวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับผู้แต่งดังกล่าว