ภาพรวม ของ บอลลูนไฟ

บอลลูนไทป์บี เทียบกับขนาดของมนุษย์

บอลลูนไฟแบ่งได้เป็นสองชนิด ชนิดแรกมีชื่อว่า "บอลลูนไทป์บี" ได้รับการออกแบบโดยกองทัพเรือญี่ปุ่น มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 9.1 เมตร ผลิตด้วยไหมยาง โดยถูกใช้เพื่อตรวจวัดสภาพอุตุนิยมวิทยาเป็นหลัก และใช้เพื่อทดสอบว่าบอลลูนไฮโดรเจนสามารถลอยไปถึงทวีปอเมริกาได้หรือไม่[4] บอลลูนชนิดที่สองคือบอลลูนบรรทุกระเบิด มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เมตร และบรรจุไฮโดรเจนประมาณ 540 ลูกบาศก์เมตร บอลลูนไฟจะถูกปล่อยจากชายฝั่งตะวันออกของเกาะฮนชู แล้วลอยไปตามกระแสลมจนไปถึงทวีปอเมริกาเหนือ

ญี่ปุ่นปล่อยบอลลูนไฟครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1944 โดยบอลลูนเหล่านี้ถูกพบในรัฐอะแลสกา รัฐแอลเบอร์ตา รัฐแอริโซนา รัฐบริติชโคลัมเบีย รัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐโคโลราโด รัฐฮาวาย รัฐไอดาโฮ รัฐไอโอวา รัฐแคนซัส ประเทศเม็กซิโก รัฐมิชิแกน [5] รัฐมอนแทนา รัฐเนแบรสกา รัฐเนวาดา [6] รัฐนอร์ทดาโคตา รัฐออริกอน รัฐเซาท์ดาโคตา รัฐเท็กซัส [7] รัฐยูทาห์ รัฐวอชิงตัน รัฐไวโอมิง และ ดินแดนยูคอน

บอลลูนไฟมากกว่า 9,000 ลูกถูกปล่อยออกไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าบอลลูนประมาณ 10% (ประมาณ 900 ลูก) จะลอยไปถึงทวีปอเมริกา จนถึงปัจจุบัน นักวิจัยก็เชื่อว่าคำคาดการณ์นี้เป็นจริง [8] ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา มีการพบเห็นบอลลูนที่อเมริกาเหนือแค่ประมาณ 300 ลูกเท่านั้น โดยคาดว่ามีบอลลูนจำนวนมากตกอยู่ตามพื้นที่รกร้างทั่วอเมริกาเหนือ บอลลูนไฟลูกสุดท้ายถูกปล่อยเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ.1945 ก่อนที่ญี่ปุ่นจะยอมจำนนในไม่กี่เดือนถัดมา

แผนที่แสดงจำนวนบอลลูนไฟที่ถูกพบเห็นในทวีปอเมริกาเหนือ[9]
  • บอลลูนไฟที่ตกในรัฐแคนซัส
  • ภาพถ่ายบอลลูนไฟที่ถูกกำลังถูกยิงโดยเครื่องบินรบ P-38 ไลท์นิง
  • บอลลูนไฟจำลองขณะปล่อยถุงทราย