ลักษณะเด่น ของ บิวอิคก์

สัญลักษณ์โล่สามอัน

สัญลักษณ์โล่บนรถยนต์บิวอิคก์

  • สัญลักษณ์โล่เดี่ยว
    ปี ค.ศ. 1937

  • สัญลักษณ์โล่เดี่ยว
    ปี ค.ศ. 1942

  • สัญลักษณ์โล่เดี่ยว
    ปี ค.ศ. 1947

  • สัญลักษณ์โล่สามอัน
    ปี ค.ศ. 1959

  • สัญลักษณ์โล่สามอัน
    ปี ค.ศ. 1990

  • สัญลักษณ์โล่สามอัน
    ปี ค.ศ. 2002

สัญลักษณ์โล่สามอัน (อังกฤษ: Trishield) ของบิวอิคก์มีรากฐานมาจากตราประจำตระกูลของเดวิด ดันบาร์ บิวอิคก์ ผู้ก่อตั้งบริษัท ซึ่งตรานั้นมีลักษณะเป็นโล่สีแดงที่มีเส้นทแยงมุมสีเงินและฟ้าลายตารางหมากรุกตัดผ่านจากบนซ้ายไปล่างขวา โดยมีกวางตัวผู้อยู่ครึ่งบนและกางเขนที่มีรูอยู่ตรงกลางอยู่ครึ่งล่าง บิวอิคก์เริ่มใช้ตราสัญลักษณ์โล่เดี่ยวบนกระจังหน้ารถเมื่อปี ค.ศ. 1937 ตรานี้ถูกปรับปรุงใหม่ในปี ค.ศ. 1960 สัญลักษณ์โล่เดี่ยวกลายเป็นโล่สามอันสีแดง ขาว และน้ำเงิน เพื่อแสดงถึงรถบิวอิคก์ เลอเซเบอร์ อินวิคตา และอิเล็กตรา ซึ่งยังถูกผลิตอยู่ในยุคนั้น สัญลักษณ์โล่หายไปหลังจากที่บิวอิคก์เริ่มใช้เหยี่ยวเป็นสัญลักษณ์แทนในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 บิวอิคก์ได้นำสัญลักษณ์โล่สามอันมาใช้ใหม่ แม้ลวดลายและรายละเอียดจะหายไป สัญลักษณ์โล่ก็ยังคง "สีแห่งความรักชาติ" ไว้อยู่เหมือนเดิม ในยุคปัจจุบัน สัญลักษณ์โล่สามอันของบิวอิคก์ก็ยังคงหมายถึงรถทั้งสามคันที่บิวอิคก์กำลังผลิตอยู่ แต่ได้ถูกออกแบบใหม่โดยใช้สีเพียงสีเดียวและให้มีรูปทรงที่หนักแน่นกว่าเดิม

ช่องลมเวนทิพอร์ต

ช่องลมเวนทิพอร์ตบนรถบิวอิคก์ เซนจูรี ปี ค.ศ. 1957

บิวอิคก์เริ่มเพิ่มช่องลมสามหรือสี่ช่องไว้ข้างบนบังโคลนตรงหลังล้อหน้าในปี ค.ศ. 1949 จุดกำเนิดของลักษณะการออกแบบนี้เริ่มต้นมาจากรถแต่งของ เน็ด นิกเคิลส์ นักออกแบบรถบิวอิคก์ ในรถแต่งของเขา เขาได้เสริมช่องลมบนรถของเขาและเพิ่มไฟกระพริบเข้าไปในแต่ละช่อง โดยมีหัวเทียนพิเศษกำหนดจังหวะเพื่อเลียนแบบเปลวไฟที่พุ่งออกมาจากท่อไอเสียของเครื่องบินรบ เมื่อนำมารวมกับสัญลักษณ์เครื่องเล็งเป้าการทิ้งระเบิด (อังกฤษ: bombsight mascot) ซึ่งเริ่มใช้ในปี ค.ศ. 1946 ช่องลมเวนทิพอร์ต (อังกฤษ: VentiPorts) ทำให้คนขับเสมือนอยู่หน้าแผงควบคุมของเครื่องบินรบสมมติ ไฟกระพิบนั้นไม่ได้ถูกใช้ในรถที่ผลิตขึ้นจริง ช่องลมเวนทิพอร์ตจึงเป็นเพียงของตกแต่งที่ใช้การไม่ได้จริง ทำให้หลายคนเรียกช่องลมเหล่านี้ว่า "รูหนู"

ช่องลมเหล่านี้ถูกเรียกว่า "เวนทิพอร์ต" เนื่องจากแผ่นพับโฆษณาของปี ค.ศ. 1949 ได้กล่าวไว้ว่าช่องลมเวนทิพอร์ตสามารถช่วยระบายอากาศภายในห้องเครื่อง มีข้อเสนอให้ช่องลมเวนทิพอร์ตสามารถระบายลมออกจากห้องเครื่องได้โดยใช้วิธีการว่า เมื่อลมไหลผ่านกระจังหน้ารถเข้าสู่ห้องเครื่อง ลมจะถูกเพิ่มความดันโดยพัดลมหม้อน้ำรถยนต์ แล้วก็ออกทางช่องลมเวนทิพอร์ต วิธีการนั้นอาจถูกใช้จริงในต้นปี ค.ศ. 1949 แต่หลังจากรุ่นปีนั้นไม่นานช่องลมเหล่านี้ก็ถูกอุดและใช้การไม่ได้เหมือนเดิม นับแต่นั้นมา ช่องลมเวนทิพอร์ตได้ปรากฏบนรถยนต์บิวอิคก์เป็นระยะ ๆ และถูกใช้ในรถบิวอิคก์ทั้ง 5 รุ่นในปัจจุบัน (รถบิวอิคก์ เวอราโน รีกัล ละครอส อ็องคอร์ และอ็องเคลฟ สำหรับรุ่นปี ค.ศ. 2014)

ในช่วงแรก ๆ หลังการเปิดตัวช่องลมเวนทิพอร์ต จำนวนช่อง (3 หรือ 4) แสดงถึงขนาดของเครื่องยนต์สูบแถวเรียง 8 สูบของรถคันนั้น ด้วยเหตุที่ว่าความแตกต่างของความจุเครื่องยนต์ในเครื่องยนต์แถวเรียง 8 สูบนั้นทำให้เครื่องยนต์ยาวกว่าเครื่องยนต์สูบวี 8 สูบธรรมดา รถบิวอิคก์ โรดมาสเตอร์ (ซึ่งเป็นรถรุ่นเดียวในขณะนั้นที่ใช้เครื่องยนต์แบบที่ยาวกว่าปกติ) จึงต้องใช้โครงกระจังหน้ารถที่ยาวกว่าปกติเพื่อจุเครื่องยนต์เข้าไปได้ ช่องลมเวนทิพอร์ตที่เพิ่มมาอีกช่องจึงสอดคล้องกันกับความยาวเพิ่มเติมของส่วนหน้ารถด้วย หลังจากที่เครื่องยนต์สูบวี 8 สูบซึ่งใช้เนื้อที่น้อยกว่ามาแทนที่เครื่องยนต์แถวเรียงในปี ค.ศ. 1953 ความแตกต่างในความยาวของส่วนหน้ารถจึงหายไป แต่อย่างไรก็ตาม ธรรมเนียมนี้ก็ยังคงถูกใช้อยู่ ดังนั้น เมื่อรถบิวอิคก์ เซนจูรี ซึ่งใช้โครงรถที่มีขนาดเล็กของรถบิวอิคก์ ซูเปอร์ ถูกเปิดตัวอีกรอบในปี ค.ศ. 1954 มันจึงได้รับช่องลมเวนทิพอร์ต 4 ช่องเพื่อแสดงถึงความจุเครื่องยนต์ที่มากกว่า อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 1955 รถบิวอิคก์ ซูเปอร์ ซึ่งใช้โครงรถที่มีขนาดใหญ่ของรถบิวอิคก์ โรดมาสเตอร์ ได้รับช่องลมเวนทิพอร์ตเพิ่มขึ้นจาก 3 เป็น 4 ช่องแม้ว่าจะมีความจุเครื่องยนต์ที่น้อยกว่า ในทำนองเดียวกัน รถบิวอิคก์ อินวิคตาซึ่งมาแทนที่รถบิวอิคก์ เซนจูรีในปี ค.ศ. 1959 มีโครงรถที่เล็กกว่ากับความจุเครื่องยนต์ที่มากกว่า แต่กลับถูกลดช่องลมเวนทิพอร์ตจาก 4 เป็น 3 ช่อง จึงสามารถกล่าวได้ว่าในสมัยนั้น จำนวนช่องลมเวนทิพอร์ตบ่งบอกขนาดของโครงรถ ไม่ใช่ขนาดของเครื่องยนต์ รถบิวอิคก์เกือบทั้งหมดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949 จนถึง ค.ศ. 1957 (ยกเว้นรถบิวอิคก์ สกายลาร์ค ปี ค.ศ. 1953 - 1954) และบางรุ่น(เช่นรถบิวอิคก์ ไวลด์แคท ริเวียรา และเซนจูเรียน) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 จนถึง ค.ศ. 1981 ล้วนมีช่องลมเวนทิพอร์ตหมด

ในปี ค.ศ. 2003 ช่องลมเวนทิพอร์ตได้ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ในรถบิวอิคก์ พาร์ค แอฟวะนิว หลังจากที่รถพาร์ค แอฟวะนิวถูกยกเลิกในปี ค.ศ. 2005 บิวอิคก์ได้นำช่องลมเวนทิพอร์ตกลับมาใช้ใหม่ในรถบิวอิคก์ ลูเซิร์นสำหรับปี ค.ศ. 2006 โดยให้รุ่นที่ใช้เครื่องยนต์สูบวี 6 สูบมีช่องลมเวนทิพอร์ต 3 ช่อง และให้รุ่นที่ใช้เครื่องยนต์สูบวี 8 สูบมี 4 ช่อง เพื่อให้สอดคล้องกับระบบจำนวนช่องลมดั้งเดิมที่ใช้กันบนรถบิวอิคก์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949 จนถึง ค.ศ. 1954

ช่องลมเวนทิพอร์ตรูปแบบใหม่มีลักษณะที่ดูทันสมัยและขอบเหลี่ยมกว่า เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับช่องลมทรงคล้ายวงรีที่ถูกใช้ตกแต่งบนรถบิวอิคก์มายาวนานหลายปี ปัจจุบัน ช่องลมเวนทิพอร์ตได้ถูกใช้อย่างกว้างขวางบนรถยนต์ในยี่ห้อบิวอิคก์อีกครั้ง โดยถูกใช้ทั้งบนรถบิวอิคก์ ลูเซิร์น บนรถยนต์เอนกประสงค์สมรรถนะสูง บิวอิคก์ อ็องเคลฟ ซึ่งเป็นที่นิยม บนส่วนนูนของฝากระโปรงของรถบิวอิคก์ ละครอสรุ่นปี ค.ศ. 2010 และบนรถบิวอิคก์ รีกัลรุ่นปี ค.ศ. 2012 โดยมีช่องลมเพียง 2 ช่อง ซึ่งหมายถึงเครื่องยนต์ 4 สูบในรถยนต์

ช่องลมเวนทิพอร์ตทรงใหม่ถูกใช้บนรถบิวอิคก์รุ่นปี ค.ศ. 2014 ทุกคัน

แถบสวีปสเปียร์

แถบสวีปสเปียร์บนรถบิวอิคก์ สกายลาร์ค ปี ค.ศ. 1953

ลักษณะการออกแบบของบิวอิคก์อีกอย่างที่ถูกใช้ระหว่างช่วงคริสต์ทศวรรษ 1940 ตลอดจนคริสต์ทศวรรษ 1970 คือแถบสวีปสเปียร์ (อังกฤษ: Sweepspear) ซึ่งเป็นแถบเส้นโค้งที่วิ่งเป็นแนวยาวบนด้านข้างของรถ แถบสวีปสเปียร์ปรากฏครั้งแรกบนรถบิวอิคก์ โรดมาสเตอร์ ริเวียราหลังคาแข็งในรูปแบบส่วนเสริม โดยที่เป็นแถบเหล็กชุบโครเมียมหรือเหล็กกล้าเส้นยาวที่เริ่มจากหน้ารถเป็นเส้นตรงและค่อย ๆ โค้งงอจนเกือบติดพื้นรถตรงหน้าล้อหลัง แล้วก็โค้งรอบล้อหลังครึ่งล้อก่อนที่จะตรงไปจบที่ไฟท้ายรถ แถบสวีปสเปียร์เคยถูกเรียกว่า "ส่วนเสริมรถริเวียรา" ในช่วงแรก ภายหลัง แถบสวีปสเปียร์ก็เริ่มถูกใช้บนรถโรดมาสเตอร์เปิดประทุนในช่วงเกือบสิ้นรุ่นปี แถบสวีปสเปียร์ได้รับความนิยมสูงมากจนในปี ค.ศ. 1951 แถบสวีปสเปียร์กลายเป็นมาตรฐานบนรถบิวอิคก์ทุกคัน ในคริสต์ทศวรรษ 1950 ผู้คนกำลังนิยมรถสองสีเป็นอย่างมาก แถบสวีปสเปียร์จึงถูกใช้คั่นระหว่างสีทั้งสองสี หลังจากนั้น แถบเส้นโค้งส่วนมากก็เป็นเพียงแถบไวนิลหรือส่วนนูนที่ถูกหล่อลงบนแผ่นเหล็กดังรอยนูนบนรถต้นแบบ บิวอิคก์ อินวิคตา ปี ค.ศ. 2008 และรถบิวอิคก์ ละครอส รุ่นปี ค.ศ. 2010

ครีบหางทรงสามเหลี่ยม

ครีบหางทรงสามเหลี่ยมบนรถบิวอิคก์
อิเล็กตรา 225 ริเวียรา ปี ค.ศ. 1959

บิวอิคก์รุ่นปี ค.ศ. 1958 เริ่มถูกขายในเดือนกันยายน ค.ศ. 1957 หลังจากที่ยุคอวกาศเริ่มต้นได้เพียงไม่นานด้วยการปล่อยดาวเทียมสปุตนิก 1ในวันที่ 4 ตุลาคม ของปีนั้น บิวอิคก์รุ่นนี้ถูกให้ชื่อว่าเป็น "ราชาแห่งโครม" (อังกฤษ: "the king of chrome") และมีครีบหางรูปทรงคล้ายปีกของยานอวกาศ ในปี ค.ศ. 1959 ครีบหางทรงสามเหลี่ยม (อังกฤษ: Delta Fin) ซึ่งถูกออกแบบให้สอดคล้องกับอากาศพลศาสตร์ได้เริ่มถูกใช้บนรถบิวอิคก์ ครีบหางนี้ทำให้การจอดรถยากขึ้นและบดบังทัศนวิสัยของคนขับ ในปี ค.ศ. 1960 ครีบหางนี้ถูกทำให้ทู่ลงจนหายไปในปี ค.ศ. 1961 ร่องรอยของครีบหางทรงสามเหลี่ยมสามารถถูกพบเห็นได้บนรถบิวอิคก์ เลอเซเบอร์ ปี ค.ศ. 2000 - 2005 โดยเป็นเพียงส่วนที่นูนขึ้นมาทางด้านข้างของรถ

รูปทรงไฟท้ายรถ

ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 ไฟท้ายรถของรถบิวอิคก์ส่วนมากจะมีลักษณะเป็นรูปร่างกลม ๆ คล้ายลูกปืนที่ถูกเรียงไว้เป็นชั้น ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1960 รถเกือบทุกรุ่นเริ่มใช้ไฟท้ายรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ยาวขึ้น จนรถบิวอิคก์ สกายลาร์คและอิเล็กตรา รุ่นปี ค.ศ. 1965 ได้ใช้ไฟท้ายที่ยาวครอบคลุมทั้งความกว้างของท้ายรถ หลังจากนั้น ไฟท้ายรถกว้าง ๆ ก็ได้กลายเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพของบิวอิคก์ตั้งแต่นั้นมา

กระจังหน้ารถแบบดั้งเดิม

กระจังหน้ารถของรถบิวอิคก์ ซูเปอร์
ริเวียรา
ปี ค.ศ. 1950 แสดงให้เห็นถึงเหล็กซี่ที่ยื่นออกมาหน้ากันชนกระจัง "ดอลลาร์ กริน" และสัญลักษณ์โล่สามอันบนรถบิวอิคก์ เลอเซเบอร์

ลักษณะการออกแบบของบิวอิคก์ที่ถูกใช้มาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1940 และได้ถูกนำกลับมาใช้ใหม่หลายครั้งที่สุด เป็นกระจังหน้ารถรูปวงรีในแนวนอนที่มีเหล็กชุบโครเมียมเป็นซี่ ๆ นูนออกมา บางครั้ง ลักษณะการออกแบบนี้ก็ถูกเรียกว่า "ดอลลาร์ กริน" (อังกฤษ: "dollar grin") โดยเฉพาะบนรถบิวอิคก์ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1950 เพราะมีเหล็กซี่ที่หนาและเป็นมันวาวมาก และมีลักษณะคล้ายกับฟัน รถรุ่นปี ค.ศ. 1950 เป็นจุดสูงสุดของเหล็กซี่เหล่านี้ โดยมี "ฟัน" ยื่นออกมาหน้ากันชน จึงเผยถึง "รอยยิ้ม" ของรถรุ่นปี ค.ศ 1950 ในปี ค.ศ. 1951 เหล็กซี่เหล่านี้ได้ถูกดันกลับไปหลังกันชนเหมือนเดิม รถบิวอิคก์ในปัจจุบันใช้กระจังหน้ารถที่มีลักษณะเป็นการนำกระจังแบบดั้งเดิมมาออกแบบใหม่ โดยเรียกกันว่า "กระจังหน้ารถแบบน้ำตก"

กระจังหน้ารถแบบน้ำตก

ในยุคปัจจุบัน บิวอิคก์ได้นำกระจังหน้ารถแบบน้ำตก (อังกฤษ: Waterfall Grille) กลับมาใช้ใหม่ ดังที่เห็นบนรถต้นแบบบิวอิคก์ เวไลท์ ปี ค.ศ. 2004 และถูกใช้ในการผลิตครั้งแรกบนรถบิวอิคก์ ลูเซิร์น สำหรับรุ่นปี ค.ศ. 2006 กระจังหน้ารถแบบน้ำตกมีส่วนคล้ายกับกระจังหน้ารถของรถบิวอิคก์ในคริสต์ทศวรรษ 1980 เช่นบนรถบิวอิคก์ แกรนด์ เนชันแนล

เครื่องยนต์เนลเฮด

เครื่องยนต์บิวอิคก์สูบวี 8 สูบ หรือที่เรียกกันว่าเนลเฮด (อังกฤษ: Nailhead) เนื่องจากมีลิ้นไอดีและไอเสียที่ค่อนข้างเล็ก ทำให้มีลักษณะคล้ายตะปู เครื่องยนต์นี้เป็นที่นิยมในหมู่นักแต่งรถมากในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 ตลอดจนคริสต์ทศวรรษ 1960 เพราะมีฝาครอบวาล์วที่ถูกติดไว้ในแนวตรง โดยเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์สูบวี 8 สูบธรรมดาซึ่งมีฝาครอบวาล์วที่ถูกติดไว้ในแนวเฉียง เครื่องยนต์เนลเฮดนั้นกะทัดรัดกว่าและสะดวกในการบำรุงรักษามากกว่าเครื่องยนต์สูบวี 8 สูบธรรมดา

ในปี ค.ศ. 1967 บิวอิคก์ได้สร้างประวัติศาสตร์อย่างเงียบ ๆ โดยการใช้เครื่องยนต์สูบวี 8 สูบที่ธรรมดายิ่งขึ้น ซึ่งเลิกใช้การออกแบบ "เนลเฮด" แต่มีสมรรถนะสูงกว่า สำหรับรถรุ่นปี ค.ศ. 1967 บิวอิคก์ได้เปลี่ยนชื่อรถสมรรถนะสูง "แกรน สปอร์ต" (ระวังสับสนกับรถ "ซูเปอร์ สปอร์ต" ของเชฟโรเลต) เป็น "จีเอส" ในปี ค.ศ. 1970 มันถูกนำโดยรถจีเอส 455 สเตจ 1 ที่ใช้เครื่องยนต์ 455 ลูกบาศก์นิ้ว (7.5 ลิตร) ด้วยรายการเหมาเพิ่มสมรรถนะ "สเตจ 1" เนื่องจากรถจีเอสใช้แพลตฟอร์ม "เอ-บอดี" เหมือนกับรถเชฟโรเลต เชเวล โอลด์สโมบิล คัทลัส โอลด์สโมบิล 442 พอนทิแอค จีทีโอ และพอนทิแอค เลอม็อง รถจีเอสจึงเป็นรถสมรรถนะสูงที่เกิดมาจากรถสกายลาร์คของบิวอิคก์ (ซึ่งก็ใช้แพลตฟอร์มเอ-บอดีเช่นกัน) และได้ลักษณะตัวรถที่สวยงามจากแพลตฟอร์มเอ-บอดี รถจีเอสถูกเสนอในทั้งรูปแบบรถหลังคาแข็งและรถเปิดประทุน

จีเอสเอ็กซ์

รถบิวอิคก์ สกายลาร์ค จีเอสเอ็กซ์
ปี ค.ศ. 1970

กลางปีนั้น บิวอิคก์ได้เปิดตัวรถรุ่นจีเอสเอ็กซ์ (อังกฤษ: GSX) ซึ่งเป็นรายการเหมาเพิ่มความสวยงามของรถ คล้ายกับรายการเหมา "จัดจ์" ของรถพอนทิแอค จีทีโอ สีรถเริ่มแรกในรายการเหมาจีเอสเอ็กซ์นั้นอยู่ในเฉดสีเหลืองและขาว โดยมีสีอื่น ๆ ตามมาทีหลังเพื่อให้เข้ากับฝากระโปรงรถสีดำซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของรถจีเอสเอ็กซ์ และลายสีดำด้านข้างที่คล้ายกับแถบสวีปเสปียร์เล็กน้อย รถจีเอสเอ็กซ์มาพร้อมกับเครื่องยนต์ 350 355 หรือ 455 สเตจ 1 และมีอุปกรณ์ติดตั้งเหมือนรถจีเอสทั่วไป อาทิ ช่องลมเข้าคู่บนฝากระโปรงรถที่มีระบบ "แรม-แอร์" ที่ใช้ได้จริง และท่อไอเสียคู่ การประเมินแรงม้าของเครื่องยนต์ 455 สเตจ 1 นั้นได้ค่าแรงม้า 360 แรงม้า (หรือบางแหล่งข้อมูลบอกว่า 370) ซึ่งค่อนข้างน้อย แต่มีแรงบิด 510 ลูกบาศก์ฟุต (690 นิวตันเมตร) ที่ 2200 รอบต่อนาที ซึ่งดีต่อการขับเคลื่อนรถที่ใช้เครื่องยนต์ 455 สเตจ 1 ซึ่งค่อนข้างหนัก ไป ¼ ไมล์ภายในเวลา 13.4 วินาที บิวอิคก์หยุดการผลิตรถจีเอสเอ็กซ์หลังรุ่นปี ค.ศ. 1972

รถต้นแบบ บิวอิคก์ จีเอสเอ็กซ์ คันเดิมนั้นรอดชีวิตมาได้จากวงจรการจัดแสดง มันเป็นรถที่ขับได้จริงที่ไม่ได้รอดชีวิตจากทั้งวงจรชีวิต "สร้าง-แสดง-ทำลาย" ของรถแสดงทั่วไปเพียงอย่างเดียว แต่รอดจากวงจรชีวิตของรถยนต์ธรรมดาด้วยเช่นกัน หลังจากที่ถูกขายโดยตัวแทนจำหน่ายหลังจากที่ถูกจัดแสดงอยู่ช่วงหนึ่ง รถคันนี้รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ โดยถูกซ่อมแซม ได้รับการจดทะเบียน และพร้อมขับบนท้องถนนแล้ว

ชื่อ "จีเอสเอ็กซ์" ถูกฟื้นฟูอีกครั้งในรูปแบบของรายการเหมาเพิ่มความสวยงามของรถบิวอิคก์ อะพอลโล ปี ค.ศ. 1974 รถบิวอิคก์ อะพอลโล จีเอสเอ็กซ์ มาพร้อมกับเครื่องยนต์เชฟโรเลตสูบแถวเรียง 6 สูบ ขนาด 250 ลูกบาศก์นิ้ว หรือเครื่องยนต์บิวอิคก์สูบวี 8 สูบ ขนาด 350 ลูกบาศก์นิ้ว ก่อนที่จะถูกยกเลิกการผลิตหลังจากหนึ่งปี โดยมียอดการผลิตอยู่ที่ประมาณ 1,500 คัน