การนับช่วงเวลา ของ ปฏิทินจันทรคติไทย

การนับช่วงเวลาในปฏิทินจันทรคติไทย เป็นการนับโดยถือเอาการเปลี่ยนแปลงของดวงจันทร์เป็นหลัก ดังนี้

  • คืนเดือนดับ จะสังเกตไม่เห็นดวงจันทร์
  • คืนข้างขึ้น จะสังเกตเห็นดวงจันทร์เป็นรูปเสี้ยว นิดเดียวแล้วค่อยๆ โตขึ้นในแต่ละวันจนเต็มดวง
  • คืนเดือนเพ็ญ จะสังเกตเห็นดวงจันทร์สว่างเต็มดวงมากที่สุดในรอบเดือนจันทรคติ
  • คืนข้างแรม จะสังเกตเห็นดวงจันทร์ค่อยๆ แหว่งเป็นรูปเสี้ยวเล็กลงๆ จนในที่สุดดวงจันทร์ก็มืดทั้งดวง

การอ่านวันตามแบบจันทรคติจะอ่านเป็นตัวเลขโดยเริ่มที่วันอาทิตย์เป็นหนึ่ง และนับต่อไปตามลำดับจนถึงวันเสาร์นับเป็นเจ็ด และมีการกำหนดดิถีดวงจันทร์และตัวเลขเดือนกำกับอย่างย่อ โดยใช้สัญลักษณ์เป็นตัวเลข ดังตัวอย่าง ๖ ๓ฯ ๓ อ่านว่า วันศุกร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3

การนับวันทางจันทรคติตามหลักของปฏิทินราชการ (ซึ่งแตกต่างจากหลักของปฏิทินจันทรคติปักขคณนา) ได้กำหนดให้ เริ่มนับวันขึ้น 1 ค่ำ จนถึงขึ้น 15 ค่ำ แล้วจึงขึ้นวันแรม 1 ค่ำ ถึงวันแรม 14 ค่ำ ในเดือนคี่ และวันแรม 15 ค่ำ ในเดือนคู่ จึงทำให้เดือนคี่มี 29 วัน เดือนคู่มี 30 วันการนับเดือนทางจันทรคติ เริ่มต้นนับเดือนธันวาคมเป็นเดือน 1 เรียกว่าเดือนอ้าย มกราคมเป็นเดือนที่ 2 เรียกว่า เดือนยี่ และนับเดือน 3 เดือน 4 ไปจนถึงเดือน 12 ยกเว้นเขตภาคเหนือตอนบน หรือดินแดนล้านนาเดิม ที่มีการนับเดือนเร็วกว่า 2 เดือน กล่าวคือ ในวันลอยกระทง ตรงกับเดือน 12 ใต้ และตรงกับเดือน 2 เหนือ (12, 1, 2) ส่วนวันมาฆบูชา ตรงกับเดือน 3 ใต้ และ เดือน 5 เหนือ

การนับปีทางจันทรคติ นับตามเวลาการโคจรของดวงจันทร์รอบโลก 1 รอบ ใช้เวลา 29 วันครึ่งในเวลา 1 เดือน ถ้านับ 29 วัน เวลาจะขาดไป 12 ชั่วโมง แต่ถ้านับ 30 วัน เวลาจะเกินไป 12 ชั่วโมง จึงต้องนับ 59 วัน เป็น 2 เดือน โดยให้นับเดือนคี่มี 29 วัน และเดือนคู่มี 30 วัน โดยเดือนคี่เป็นเดือนต้น เดือนคู่เป็นเดือนรองถัดไป สลับจนครบ 12 เดือน แล้วเริ่มต้นใหม่ถ้านับวันปีทางจันทรคติจะมีเพียง 354 วัน ซึ่งมีวันน้อยกว่าปีทางสุริยคติถึง 11 วันต่อปี เมื่อรวม 3 ปี จะได้ 33 วัน ดังนั้นในทุกๆ 3 ปีทางจันทรคติ จะมีเดือน 8 สองหน คือจะมี 13 เดือน เรียกปีนั้นว่า ปีอธิกมาส