ความแตกต่างระหว่างการบอกเฟสของดวงจันทร์ในปฏิทินจันทรคติไทยกับการสังเกตดวงจันทร์จริง ของ ปฏิทินจันทรคติไทย

เฟสของดวงจันทร์ที่ใช้เพื่อใช้จัดทำปฏิทินจันทรคติไทย ใช้เวลาเที่ยงคืน ในการคำนวณหาเฟสของดวงจันทร์เสมือน ที่ถือว่าโคจรรอบโลกด้วยอัตราเร็วคงที่ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับการสังเกตเห็นเฟสดวงจันทร์ในท้องฟ้าจริง (อาจคลาดเคลื่อนไปจากดวงจันทร์ได้ถึง 0.65 วัน)

  • จันทร์ดับ หรือวันเดือนดับ ในทางปฏิทินจันทรคติไทย หมายถึง คืนที่ดวงจันทร์เป็นเสี้ยวเล็กที่สุด ในรอบเดือนนั้น เนื่องจากความคลาดเคลื่อนของปฏิทินจันทรคติจึงทำให้พบวันจันทร์ดับนี้ได้ในคืนข้างแรม 14- 15 ค่ำ หรืออาจเป็นขึ้น 1-2 ค่ำ แต่ในทางดาราศาสตร์ จันทร์ดับ หรือ New Moon จะต้องเป็นวันที่ดวงจันทร์ขึ้นและตกพร้อมกับดวงอาทิตย์ หรือ ดวงจันทร์มีมุมห่าง 0 องศากับดวงอาทิตย์ จึงไม่สามารถสังเกตเห็นเสี้ยวของดวงจันทร์ได้
  • จันทร์เพ็ญ หรือวันเดือนเพ็ญ หรือวันเดือนเต็มดวง ปฏิทินจันทรคติไทย หมายถึง คืนที่ดวงจันทร์มีความสว่างเต็มดวงมากที่สุด ในรอบเดือนนั้น โดยหลักการแล้วจะไม่ใช่ทั้ง ข้างขึ้น หรือข้างแรม เพราะเป็นช่วงเวลาที่ดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง ระหว่างข้างขึ้นและข้างแรม ในปฏิทินจันทรคติไทย เนื่องจากความคลาดเคลื่อนของปฏิทินจันทรคติจึงทำให้พบวันเพ็ญในช่วงวันขึ้น 14-15 ค่ำ หรือช่วงวันแรม 1-2 ค่ำ ก็ได้ ส่วนในทางดาราศาสตร์นั้น จันทร์เพ็ญ หรือ Full Moon จะเป็นวันที่ดวงจันทร์อยู่ที่มุมห่าง 180 องศากับดวงอาทิตย์ จะสังเกตเห็นดวงจันทร์มีความสว่างเต็มดวง มีรูปร่างเป็นวงกลม ช่วงเวลาที่พบจันทร์เพ็ญนั้นมีโอกาศเกิดขึ้นในเวลากลางวันดังนั้นจึงอาจจะไม่สังเกตเห็นจันทร์เพ็ญนี้
  • จันทร์กึ่งดวง ไม่จำเป็นต้องเป็นวันขึ้น 8 ค่ำ หรือแรม 8 ค่ำ ซึ่งเป็นวันพระ อาจเป็นวันขึ้น 7 ค่ำ หรือแรม 7 ค่ำ ก็ได้

ปฏิทินจันทรคติไทยพบว่ามีความคลาดเคลื่อนจากการสังเกตดวงจันทร์ในท้องฟ้าจริง ซึ่งอาจจะเกิดจากความคลาดเคลื่อนในการคำนวณเฟสของดวงจันทร์ในปฏิทินจันทรคติไทย 2 ส่วน คือ ส่วนการทดวัน (ทางปฏิทิน) ซึ่งมีค่าได้ถึง 0.5วัน โดยเฉพาะในเดือน 6 ของปีอธิกวารเป็นช่วงที่รอทดวัน กับส่วนความเป็นวงรีของ วงโคจรของดวงจันทร์รอบโลก (ทางดาราศาสตร์) ซึ่งมีค่าได้ถึง 0.65 วัน อีกส่วนหนึ่ง