การสังเกตดวงจันทร์อย่างง่าย ของ ปฏิทินจันทรคติไทย

วันจันทร์เพ็ญ

วันจันทร์เพ็ญควรเป็นวันขึ้น 15 ค่ำเท่านั้น แต่เนื่องจากความคลาดเคลื่อนของปฏิทินจันทรคติจึงอาจเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ หรือแรม 1 ค่ำก็ได้ ผู้ที่เคยสังเกตดวงจันทร์เป็นประจำจะสามารถจำแนกดวงจันทร์วันเพ็ญกับดวงจันทร์ในวันขึ้น 14 ค่ำ หรือวันแรม 1 ค่ำได้

การดูจันทร์เพ็ญอย่างง่าย (วิธีหนึ่ง) ในเขตร้อน เช่นประเทศไทย ให้ดูเวลาที่ดวงอาทิตย์ตกดังนี้

1.ถ้าคืนนั้นเป็นจันทร์เพ็ญ จะเห็นดวงจันทร์กำลังขึ้นพอดี อยู่ฝั่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์

2.ถ้าดวงจันทร์อยู่สูงเกิน 7 องศา แสดงว่ายังไม่ถึงวันจันทร์เพ็ญ ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าดวงจันทร์ด้านล่างยังแหว่งอยู่ เป็นข้างขึ้น เช่น ขึ้น 14 ค่ำ (หรืออาจเป็นขึ้น 15 ค่ำก็ได้ในบางเดือน)

3.ถ้าดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้วราว 1/2 ชั่วโมง แต่ดวงจันทร์ยังไม่ขึ้นเลย และเมื่อดวงจันทร์ขึ้นแล้วให้สังเกตว่า ดวงจันทร์ด้านบนจะแหว่งไปเล็กน้อย กรณีนี้เป็นแรม 1 - 2 ค่ำ

วันจันทร์ดับอย่างง่าย

วันจันทร์ดับควรเป็นวันแรม 14-15 ค่ำเท่านั้น แต่เนื่องจากความคลาดเคลื่อนของปฏิทินจันทรคติวันจันทร์ดับอาจเป็นวันขึ้น 1 ค่ำได้ (มีโอกาส ราว 50%) การดูจันทร์ดับอย่างง่ายในเขตร้อน เช่นประเทศไทย ให้ดูเวลาที่ดวงอาทิตย์ตกดังนี้

1.ถ้าคืนนั้นดวงจันทร์ยังไม่ดับ จะไม่เห็นดวงจันทร์เลย เพราะดวงจันทร์ตกขอบฟ้าไปก่อนดวงอาทิตย์ เช่น วันแรม 13-14-15 ค่ำ

2.ถ้าคืนนั้นเป็นคืนจันทร์ดับพอดี อาจไม่เห็นดวงจันทร์ก็ได้ เพราะดวงจันทร์จะตกไล่เลี่ยกับดวงอาทิตย์ คือตกก่อนหรือหลังดวงอาทิตย์ไม่เกิน ครึ่งชั่วโมง เช่น แรม 14-15 ค่ำ ขึ้น 1 ค่ำ

3.ถ้าคืนนั้นเป็นคืนอมาวสี(จันทร์ดับ) คือ คืนถัดจากคืนจันทร์ดับ จะเห็นดวงจันทร์เป็นเสี้ยวบางๆ หงายท้อง และตกตามหลังดวงอาทิตย์ไป ราว 1/2 ชั่วโมง เช่น ขึ้น 2 ค่ำ อาจเป็นขึ้น 1 ค่ำก็ได้ ในบางเดือน)

วันจันทร์กึ่งดวง

รูปร่างดวงจันทร์ครึ่งดวงสังเกตได้ไม่ยาก อย่างไรก็ตามหากต้องดูให้ละเอียดขึ้น ให้สังเกตดังนี้1.การสังเกตดวงจันทร์ครึ่งดวงข้างขึ้น ให้ดูตอนที่ดวงอาทิตย์ตก ดวงจันทร์จะอยู่กลางฟ้า (ทางทิศใต้) พอดี ส่วนมากเป็นวันขึ้น 8 ค่ำ แต่อาจเป็นขึ้น 7 ค่ำก็ได้

2.การสังเกตดวงจันทร์ครึ่งดวงข้างแรม ให้ดูในตอนที่ดวงอาทิตย์ขึ้น ดวงจันทร์จะอยู่กลางฟ้า (ทางทิศใต้) พอดี ส่วนมากตรงกับวันแรม 8 ค่ำ แต่อาจเป็นแรม 7 ค่ำก็ได้

การดูจันทร์ดับ/เพ็ญจากอุปราคาจันทรุปราคา จะเกิดในคืนจันทร์เพ็ญเท่านั้น มักเป็นวันขึ้น 15 ค่ำและมีโอกาสเกิดในวันขึ้น 14 ค่ำได้ด้วย แต่มีโอกาสน้อยมาก แต่บางครั้งอาจเป็นแรม 1 ค่ำก็ได้ โดยเฉพาะถ้าขึ้นจันทรุปราคาในช่วงหัวค่ำ ส่วนสุริยุปราคา มักจะเกิดในวันจันทร์ดับ แต่ในบางครั้งเกิดในวันถัดไปก็ได้ โดยเฉพาะหากเกิดช่วงเช้า วันเกิดสุริยุปราคามักตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ หรือวันแรมสุดท้ายของเดือน