ประวัติ ของ ประธานรัฐสภาไทย

ตำแหน่งประธานรัฐสภานั้นเกิดขึ้นครั้งแรกภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 พร้อมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับแรกคือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 ได้กำหนดให้รัฐสภามีแค่สภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว[5][6] จึงถือว่าประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา[7]

ต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ได้กำหนดให้รัฐสภาประกอบไปด้วยพฤฒิสภา (วุฒิสภา) และสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในมาตรา 63 กำหนดไว้ว่า ให้ประธานพฤฒสภาเป็นประธานของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และให้ประธานสภาผู้แทนเป็นรองประธาน[8] ซึ่งรัฐธรรมนูญอีก 2 ฉบับต่อมาคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ก็ได้กำหนดให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภาเช่นกัน[9][10]

วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ทำการรัฐประหารตนเอง และได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 มาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับนี้รัฐสภามีเพียงแค่สภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น จึงทำให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา[11]

วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามแล้วนั้น และยังคงให้มีการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ต่อไป แต่ต่อมาจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ทำการรัฐประหารอีกครั้งและได้มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502แทน ซึ่งกำหนดให้ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นประธานรัฐสภา[12]

ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 ซึ่งได้กำหนดให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา[13] ต่อมาวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 จอมพลถนอม กิตติขจรได้ทำการรัฐประหารตนเอง ยกเลิกรัฐธรรมนูญ และประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ได้กำหนดให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นประธานรัฐสภา[14] หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งทำให้จอมพลถนอม กิตติขจรหมดอำนาจลง และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ได้กำหนดไว้ว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา[15] ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ฝ่ายนิติบัญญัติที่ประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา

ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ทำให้พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ทำการรัฐประหาร ยกเลิกรัฐธรรมนูญ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 กำหนดให้ประธานสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเป็นประธานรัฐสภา[16] ต่อมาพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ได้ทำการรัฐประหารอีกครั้งพร้อมยกเลิกรัฐธรรมนูญ และประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 กำหนดให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นประธานรัฐสภา[17] ในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2521 ได้มีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ซึ่งได้กำหนดให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา[18]

คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้ทำการรัฐประหาร ยกเลิกรัฐธรรมนูญ และประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 ซึ่งกำหนดให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นประธานรัฐสภา[19] ต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 กำหนดให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา[20] ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยแก้ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา[21] ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับถาวรต่อมาคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ก็ได้กำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภาเช่นกัน[22][23][3]

ในช่วงก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้เกิดการรัฐประหารขึ้น 2 ครั้งและมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวซึ่งรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับนั้นได้บัญญัติไว้ว่า ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา จึงทำให้ประธานสภานิติบัญญัติเป็นประธานรัฐสภา[24][25]

ใกล้เคียง

ประธานาธิบดีสหรัฐ ประธานรัฐสภาไทย ประธานาธิบดีเม็กซิโก ประธานาธิบดีเปรู ประธานาธิบดีลาว ประธานาธิบดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประธานศาลสูงสุดสหรัฐ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส

แหล่งที่มา

WikiPedia: ประธานรัฐสภาไทย http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%9B%E0... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2475/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2475/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2489/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2495/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2502/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2515/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2534/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2534/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2535/A/...