การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ของ ประยูร_ภมรมนตรี

ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น พลโทประยูร ได้เข้าร่วมด้วย ด้วยถือเป็นคณะราษฎรสายพลเรือน โดยถือเป็นผู้ริเริ่มแนวความคิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองคู่กับนายปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เนื่องจากไปศึกษายัง ณ ประเทศฝรั่งเศสเหมือนกัน จึงถือได้ว่าเป็นคณะราษฎรคู่แรกก็ว่าได้[14]

โดยก่อนจะเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศส พลโทประยูรได้ทำการรักษาตัวจากวัณโรคจนหายดีแล้วจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนที่จะเดินทางไปสู่กรุงปารีส ซึ่งเป็นเมืองที่จะเข้ารับการศึกษา ได้แวะเดินทางเข้าสู่เมืองลียงเพื่อพบกับ นายควง อภัยวงศ์ หรือหลวงโกวิทอภัยวงศ์ เพื่อนนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส เพื่อที่นายควงจะแนะนำพลโทประยูรให้รู้จักกับนายปรีดีโดยจดหมายแนะนำตัว เพราะนายปรีดีขณะนั้นเป็นเสมือนผู้นำของนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส ทั้งคู่จึงได้รู้จักกันและคบหากันจนสนิทสนมกันในที่สุด อีกทั้งในการประชุมครั้งแรกของคณะราษฎร ที่บ้านพักเลขที่ 9 ถนนซอมเมอราร์ด กรุงปารีส ที่ติดต่อกันนานถึง 4 คืน 5 วัน ในต้นปี พ.ศ. 2470 นั้นก็เป็นบ้านพักของพลโทประยูรเอง และเริ่มต้นการประชุมในวันครบรอบวันเกิดปีที่ 30 ของพลโทประยูรอีกด้วย [15]

ในระหว่างที่คณะราษฎรทั้งหมดได้เดินทางกลับสู่ประเทศไทย พลโทประยูร ยังได้เป็นผู้ที่ชักชวนและประสานกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่และบุคคลอื่น ๆ ให้มาเข้าร่วมด้วยกับคณะราษฎร[5] และเมื่อมีการวางแผนการปฏิวัติ ทั้งหมดก็ได้หารือแผนการทั้งหมดที่บ้านพักของ พลโทประยูรบ้าง และบ้านพักของพระยาทรงสุรเดชบ้าง สลับกันไป โดยในเช้าวันที่ทำการเปลี่ยนแปลงนั้น พลโทประยูรรับหน้าที่ตัดสายโทรศัพท์และสายโทรเลข ที่สำนักงานใหญ่กรมไปรษณีย์โทรเลข เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งพระนคร โดยปฏิบัติการคู่กับนายควง อภัยวงศ์ ในฐานะที่ทั้งคู่รับราชการในกรมไปรษณีย์โทรเลข จึงถือเป็นผู้เชี่ยวชาญ โดยเริ่มกันตั้งแต่เวลา 04.00 น. และต้องให้เสร็จทันในเวลา 05.00 น. ท่ามกลางการคุ้มครองของทหารเรือและพลเรือนกลุ่มหนึ่งของคณะราษฎรราว 10 คนเท่านั้น[16] และจากนั้น พลโทประยูร ยังเป็นผู้ทำการควบคุมองค์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเสด็จจากวังบางขุนพรหมในฐานะองค์ประกัน ภายใต้การควบคุมของ พันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ ให้เข้าประทับยังพระที่นั่งอนันตสมาคมด้วย ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงมีปฏิสันธานบางประการกับ พลโทประยูรด้วยถึงการกระทำในครั้งนี้ [17]

จากนั้น พลโทประยูร ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการราษฎรและยังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ในเวลาต่อมาอีกหลายกระทรวงด้วยกัน

ในเหตุการณ์ที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา มีความเห็นแย้งเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจที่นำเสนอโดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งทำให้พระยามโนปกรณ์ ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีปิดรัฐสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 นั้น มีสมาชิกคณะราษฎรสนับสนุนพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เช่น พระยาทรงสุรเดช, พระยาฤทธิอัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ มีชื่อของ พลโทประยูร ร่วมอยู่ด้วย[18]

ใกล้เคียง

ประยูร ภมรมนตรี ประยูร สุรนิวงศ์ ประยูร จินดาศิลป์ ประยูร ยมเยี่ยม ประยูร อุลุชาฎะ ประยูร จรรยาวงษ์ ประยูร กาญจนดุล ประยูรศักดิ์ เมืองสุรินทร์ ประยูร ศรีจันทร์ ประยูร อภัยวงศ์

แหล่งที่มา

WikiPedia: ประยูร_ภมรมนตรี http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_... http://www.hellomukdahan.com/district/sarit-thanar... http://www.ryt9.com/s/bmnd/1303850 http://www.sahathaihotel.com/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0... http://kpi.ac.th/kpith/pdf/%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B... http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%9E%E0... http://www.dailynews.co.th/article/349/120815 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2486/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2494/A/...