การตั้งถิ่นฐาน ของ ประวัติศาสตร์จังหวัดภูเก็ต

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

การค้นหาหลักฐานร่องรอยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ในภูเก็ต ไม่ได้พบหลักฐานที่อยู่อาศัย เช่น ถ้ำหรือเพิงผา คงพบแต่เครื่องมือหิน โดยเฉพาะขวานหินขัดหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าขวานฟ้าแต่มีลักษณะไม่สมบูรณ์นัก ที่ได้พบจากเหมืองแร่และใต้พื้นดินที่ทับถมกันมานาน ในเรื่องถิ่นที่อยู่อาศัยในเกาะภูเก็ตนั้นมีความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิศาสตร์มากกว่าพังงาและกระบี่ ซึ่งถ้ำหรือเพิงผาอาจถูกลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทำลายจนไม่เหลือหลักฐาน

ชนเผ่าดั้งเดิมของภูเก็ตนั้น นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีส่วนใหญ่มีความเห็นว่าชนเผ่าดั้งเดิมที่พบเห็นได้ในปัจจุบันในคาบสมุทรมลายูได้แก่ ชาวซาไก (Sakai) และชาวเลหรือชาวน้ำ (C'hau Nam) ชาวซาไกซึ่งมีลักษณะคล้ายพวกเซมัง (Semang) ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ทางตะวันตกของคาบสมุทรมลายู สันนิษฐานว่าชาวซาไกได้เดินทางมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณเกาะถลาง (ภูเก็ต) ต่อมาได้มีชนชาติมอญจากพะโคมาอยู่ในดินแดนแถบนี้คือ พวกเซลัง (Selang หรือ Salon) กลุ่มคนพวกนี้ชำนาญในการดำน้ำ จึงเรียกว่าชาวน้ำ (C'hau Nam) กลุ่มคนพวกนี้ยังอาศัยอยู่ในหลายเกาะแถบอันดามันจนถึงปัจจุบัน แต่ชาวซาไกปัจจุบันไม่พบในจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากชาวเผ่านี้รักสงบกลัวคนแปลกหน้า ฉะนั้นเมื่อมีคนต่างเผ่า ต่างหน้าตา อพยพเข้ามาอาศัยมากขึ้น ชาวซาไกก็หนีถอยร่นเข้าป่าลึก ในที่สุดข้ามเขาไปอยู่ในแผ่นดินใหญ่ฟากตะวันออกได้แก่ ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส ทำให้ภูเก็ตคงเหลือแต่ชาวเลที่ยังคงดำรงชีวิตอยู่ แต่ตามหลักฐานอาจมีชาวมอญ ชาวอินเดีย ชาวไทย ชาวจีนและชาวพม่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภูเก็ตด้วยเนื่องจากลักษณะบ้านเรือนในโบราณมีลักษณะเช่นเดียวกับบ้านชาวมอญที่เมืองมะริด และอาจสมรสกันจนเกิดเป็นชนรุ่นใหม่

ยุคอาณาจักรตามพรลิงก์ และอาณาจักรศิริธรรมนคร (ศรีวิชัย)

ตราประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช แสดงภาพตราสิบสองนักษัตรล้อมพระบรมธาตุเจดีย์

อาณาจักรตามพรลิงก์และอาณาจักรศิริธรรมนครมีความสำคัญต่อภูเก็ตค่อนข้างมาก เนื่องจากศูนย์กลางของอาณาจักรอยู่แถบภาคใต้มีอำนาจครอบคลุมคาบสมุทรมลายูโดยตลอดเป็นเวลาถึง 600 ปีระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-18 แต่ไม่มีโบราณวัตถุของสมัยศรีวิชัยในภูเก็ต แต่ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในแถบนี้อย่างมั่นคง

หลักฐานทางโบราณคดีเช่น ตำนาน พงศาวดาร ตลอดจนประวัติศาสตร์ ได้กล่าวถึงตำนานเมืองนครศรีธรรมราชก็ได้ระบุว่าในบรรดาเมืองสิบสองนักษัตรของนครศรีธรรมราชโบราณนั้น"เมืองตะกั่วถลาง"เป็นเมืองลำดับที่ 11 ชื่อว่า"เมืองสุนัขนาม"หรือเมืองประจำปีจอ มีตราประจำเมืองเป็นรูปสุนัข และผู้ปกครองภูเก็ตสมัยนั้นได้ถือรูปสุนัขมายกย่องนับถือ ซึ่งเมืองนี้อาจตั้งอยู่ที่อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต มีตำบลหนึ่งทางตะวันตกชื่อว่า ตำบลกมลา แต่ชาวบ้านโบราณเรียกว่า "บ้านกราหม้า" มีความหมายว่าหมู่บ้าน"ตราหมา"ซึ่งตรงกับตราประจำเมือง"สุนัขนาม"ในอดีต

จากหมู่บ้านกมลามามีพื้นที่ราบกว้างใหญ่ติดต่อเข้าสู่ภูเก็จฝั่งตะวันออก ในระหว่างฟากตะวันตกกับฟากตะวันออกของที่ราบนี้ มีหมู่บ้านชื่อว่า"บ้านมานิค"ซึ่งมาจากคำภาษาทมิฬโบราณ แปลว่า ทับทิม หรือ แก้ว มีการสันนิษฐานว่าเป็นชื่อผันแปรมาจากคำว่า "มนิกกิมัม"ในจารึกภาษาทมิฬที่พบจากอำเภอตะกั่วป่าใกล้ๆกับเทวรูปในศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไวษณพนิกายซึ่งถูกทิ้งอยู่ในเขาพระนารายณ์นานมาแล้ว คำว่า "มนิกกิมัม"แปลว่า"เมืองทับทิม" หรือ "เมืองแก้ว"

หลังจากนั้น ทมิฬโจฬะได้เข้าครอบครองอาราจักรตามพรลิงก์ จากพ.ศ. 1586 จนถึง พ.ศ. 1602 เป็นเวลาประมาณ 34 ปี กษัตริย์แห่งตามพรลิงก์สามารถขับไล่พวกทมิฬโจฬะออกไปได้สำเร็จ แล้วตั้งศิริธรรมนครขึ้นเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของอาณาจักรไทยภาคใต้ สามรถดำรงอิสรภาพนานประมาณ 220 ปีก็ต้องสูญเสียเอกราชให้แก่อาณาจักรสุโขทัยในปีพ.ศ. 1823

สมัยอาณาจักรสุโขทัย

พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งอาณาจักรสุโขทัย

พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งอาณาจักรสุโขทัยทรงแผ่พระราชอาณาเขตออกกว้างขวางครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางได้เป็นส่วนใหญ่ แล้วแผ่อำนาจลงมาทางใต้ และมีชัยชนะเหนืออาณาจักรศิริธรรมนครในพ.ศ. 1825


ภูเก็จ ซึ่งเป็นบริวารของนครศรีธรรมราชในลักษณะของ"เมืองประเทศราช" กล่าวคือ ทางสุโขทัยมิได้ส่งเชื้อพระวงศ์หรือข้าราชการลงมาปกครองหากแต่ปล่อยให้เจ้านครศรีธรรมราชปกครองอยู่เช่นเดิม โดยต้องจัดส่ง"ส่วย"เป็นเครื่องราชบรรณาการต่อกรุงสุโขทัยอย่างสม่ำเสมอมิให้ขาดตอน "ส่วย"ซึ่งมีความสำคัญในสมัยนั้นจากนครศรีธรรมราชและภูเก็จก็คือ ดีบุก ที่สุโขทัยต้องการมากสำหรับการหล่อพระพุทธรูปและเทวรูปทองสัมฤทธิ์ ทองสัมฤทธิ์ที่ใช้หล่อพระพุทธรูปและเทวรูปต่างๆนั้นต้องใช้ดีบุกผสมกับทองแดงหรือทองคำ สุโขทัยสามารถชนะนครศรีธรรมราชก็เท่ากับว่าได้แหล่งดีบุกแหล่งใหญ่เข้าไว้ในอำนาจการสร้างศิลปะทางปฏิมากรรมด้วยทองสัมฤทธิ์จึงขยายตัวอย่างรวดเร็วและอย่างมีคุณค่า

ผลจากการที่สุโขทัยเข้าปกครองภาคใต้ หรือศิริธรรมนครและเมืองบริวารในฐานะเมืองประเทศราช จากพ.ศ. 1823 - พ.ศ. 1921รวมเวลาประมาณ 98 ปี ทำให้ได้แลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมระหว่างภาคใต้และภาคอื่นๆในอาณาจักรทำให้มีการผสมผสานกลมกลืนกัน เป็นพื้นฐานให้สามรถรวมกันเข้าเป็นอาณาจักรไทยในเวลาต่อมา ภูเก็จหรือเกาะถลางในสมัยนั้นเป็นที่รู้จักและสนใจของชาวไทย ตลอดจนชาวต่างชาติมากขึ้นด้วย ทำให้เกิดการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ทั้งในด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และสังคมในเวลาต่อมา

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์อินเดีย ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติการบินไทย ประวัติศาสตร์เทคโนโลยี