ประวัติศาสตร์ ของ ประเทศนาอูรู

นักรบชาวนาอูรูระหว่างสงครามกลางเมืองนาอูรูประมาณปี 1880

ชาวไมโครนีเซียและชาวพอลินีเซียเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นในนาอูรูอย่างน้อย 3,000 ปีที่แล้ว<[10] ตามธรรมเนียมแล้ว สามารถแบ่งผู้คนในนาอูรูได้เป็น 12 เผ่า ซึ่งแทนด้วยดาว 12 แฉกที่ปรากฏบนธงชาตินาอูรู[11] ประเพณีเดิมของชาวนาอูรูจะสืบตระกูลผ่านทางมารดา ชาวนาอูรูมีความชำนาญในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ: พวกเขาจะจับปลาอีบีจา นำปลาเหล่านั้นมาปรับตัวให้ชินกับสภาพแวดล้อมน้ำจืด และเลี้ยงดูปลาเหล่านี้ในลากูนบัวดา เพื่อเป็นแหล่งอาหารที่วางใจได้ นอกจากนี้มีพืชท้องถิ่นอื่นที่เป็นส่วนประกอบอาหารของพวกเขา เช่น มะพร้าวและเตยทะเล เป็นต้น[12][13] ชื่อ "นาอูรู" อาจมีที่มาจากศัพท์คำว่า Anáoero ในภาษานาอูรู อันมีความหมายว่าฉันไปชายหาด[14]

จอห์น เฟิร์น นักล่าวาฬชาวอังกฤษเป็นชาวยุโรปคนแรกที่เดินทางมาถึงเกาะนาอูรูในปี ค.ศ. 1798 โดยเขาได้ตั้งชื่อเกาะแห่งนี้ว่า "เกาะพลีแซนต์" (Pleasant Island) นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1830 เป็นต้นมา ชาวนาอูรูได้ติดต่อกับเรือล่าวาฬของชาวตะวันตก ซึ่งเรือล่าวาฬเหล่านี้จะแสวงหาน้ำจืดจากนาอูรูเพื่อเก็บไว้ใช้ในเรือ[13] ในช่วงระหว่างนี้กะลาสีเรือที่เลิกทำงานให้กับเรือล่าวาฬเริ่มเข้ามาอยู่อาศัยในนาอูรู ชาวเกาะได้เริ่มการแลกเปลี่ยนค้าขายกับชาวตะวันตกมากยิ่งขึ้น โดยชาวเกาะจะนำอาหารไปแลกเปลี่ยนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอาวุธสงคราม[15] อาวุธสงครามที่ได้มาจากชาวตะวันตกเหล่านี้ได้มีการนำมาใช้ในสงครามระหว่างชนเผ่าของนาอูรูในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1878 - 1888[16]

ในปี ค.ศ. 1888 เยอรมนีได้ผนวกเกาะนาอูรูเข้าเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะมาร์แชลล์ในอารักขา[17] การเข้ามาของเยอรมนีในครั้งนี้ช่วยให้สงครามกลางเมืองระหว่างชนเผ่าต่าง ๆ สิ้นสุดลง นอกจากนี้ยังมีการตั้งตำแหน่งพระมหากษัตริย์ในการปกครองเกาะแห่งนี้ โดยพระมหากษัตริย์ของนาอูรูที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือพระเจ้าโอเวอีดา คณะมิชชันนารีสอนศาสนาเริ่มเข้ามาในปี ค.ศ. 1888 โดยเป็นกลุ่มมิชชันนารีที่เดินทางมาจากหมู่เกาะกิลเบิร์ต[18][19] ชาวเยอรมันที่เข้ามาอาศัยในนาอูรูจะเรียกนาอูรูว่า Nawodo หรือ Onawero[20] จักรวรรดิเยอรมันเข้าปกครองนาอูรูอยู่ราว ๆ 3 ทศวรรษ โดยโรแบร์ต รัสช์ พ่อค้าชาวเยอรมันที่แต่งงานกับผู้หญิงชาวนาอูรูเป็นผู้บริหารของนาอูรูคนแรกในปี ค.ศ. 1890[18]

ในปี ค.ศ. 1900 อัลเบิร์ต ฟูลเลอร์ เอลลิส นักสำรวจแร่ได้ค้นพบแหล่งแร่ฟอสเฟตในนาอูรู[17] จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1906 บริษัทแปซิฟิกฟอสเฟตได้ทำข้อตกลงกับรัฐบาลของเยอรมนีในการเริ่มต้นทำกิจกรรมเหมืองแร่ฟอสเฟต โดยเริ่มการส่งออกฟอสเฟตไปขายยังต่างประเทศในปี ค.ศ. 1907[21] เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1ในปี ค.ศ. 1914 กองทัพออสเตรเลียได้ส่งกองกำลังเข้ายึดครองนาอูรู จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1919 ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และสหราชอาณาจักรได้ลงนามในข้อตกลงนาอูรู ซึ่งมีผลให้เกิดการสถาปนาคณะกรรมาธิการฟอสเฟตของอังกฤษ (British Phosphate Commission - BPC) โดยคณะกรรมาธิการนี้มีสิทธิ์ในการประกอบกิจการเหมืองฟอสเฟตในนาอูรู[22]

ในปี ค.ศ. 1920 เกิดการระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ ส่งผลให้ชาวนาอูรูร้อยละ 18 ล้มตายจากการระบาดในครั้งนี้[23] หลังจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 3 ปี สันนิบาตชาติได้ให้อำนาจออสเตรเลีย สหราชอาณาจักรและนิวซีแลนด์เป็นผู้ดูแลนาอูรูในฐานะดินแดนในอาณัติ[24] ในวันที่ 6 และ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1940 เรือเยอรมันสองลำได้จมเรือของฝ่ายสัมพันธมิตร 5 ลำบริเวณใกล้กับนาอูรู นอกจากการจมเรือแล้ว เรือเยอรมันทั้งสองลำได้สร้างความเสียหายให้กับบริเวณเหมืองแร่และสายพานลำเลียงฟอสเฟตอีกด้วย[25][26]

การยอมแพ้ของจักรวรรดิญี่ปุ่นบนเรือรบเดียมันตินา

จักรวรรดิญี่ปุ่นได้ส่งกองกำลังเข้ายึดครองนาอูรู ในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1942[26] หลังจากนั้นได้เกณฑ์แรงงานชาวญี่ปุ่น ชาวเกาหลี ชาวนาอูรูและชาวกิลเบิร์ตให้สร้างสนามบิน โดยในระยะเวลาต่อมา กองทัพอากาศของสหรัฐอเมริกาได้ทิ้งระเบิดสนามบินนี้ครั้งแรกในวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1943 เพื่อตัดการสนับสนุนเสบียงอาหารที่จะส่งไปยังนาอูรู การที่เสบียงอาหารมีน้อยลงเป็นผลให้กองทัพญี่ปุ่นต้องนำชาวนาอูรู 1,200 คนออกจากเกาะโดยส่งไปอยู่ที่เกาะชุกในหมู่เกาะแคโรไลน์[27] การที่นาอูรูโดนกองกำลังอเมริกาปิดล้อมมาอย่างยาวนาน นำไปสู่การยอมจำนนของผู้นำกองกำลังญี่ปุ่นบนเกาะนาอูรูคือฮิซะฮะชิ โซะเอะดะในวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1945 ต่อกองทัพออสเตรเลีย[28] การยอมจำนนของญี่ปุ่นในครั้งนี้ได้รับการยอมรับโดยพลจัตวาสตีเวนสัน ซึ่งเป็นผู้แทนของพลโทเวอร์นอน สตูร์ดี ผู้บัญชาการกองทัพออสเตรเลียที่ 1 บนเรือรบเดียมันตินา[29][30] หลังจากการบอมแพ้ของกองกำลังญี่ปุ่น ได้มีการส่งชาวนาอูรู 737 คนที่รอดชีวิตจากเกาะชุกกลับไปยังนาอูรู โดยเรือของคณะกรรมาธิการฟอสเฟตของอังกฤษที่ชื่อว่า Trienza ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1946[31] ในปี ค.ศ. 1947 สหประชาชาติได้มอบหมายให้ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และสหราชอาณาจักรเป็นผู้ดูแลเกาะนาอูรูในฐานะดินแดนในภาวะทรัสตี[32]

นาอูรูได้สิทธิ์ในการปกครองตนเองในเดือนมกราคม ค.ศ. 1966 และเมื่อการประชุมร่างรัฐธรรมนูญได้ผ่านไป 2 ปีหลังจากนั้น นาอูรูจึงได้ประกาศเอกราชในปี ค.ศ. 1968 โดยมีประธานาธิบดีแฮมเมอร์ ดีโรเบิร์ตเป็นประธานาธิบดีคนแรก[33] ในปี ค.ศ. 1967 ประชาชนชาวนาอูรูได้ร่วมกันซื้อทรัพย์สินของคณะกรรมาธิการฟอสเฟตของอังกฤษ ซึ่งนาอูรูได้สิทธิ์ในการบริหารจัดการกิจการเหมืองแร่ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1970 ภายใต้การบริหารของบริษัทนาอูรูฟอสเฟต[21] รายได้ของนาอูรูที่ได้จากการทำเหมืองแร่ส่งผลให้ประชาชนชาวนาอูรูมีมาตรฐานการครองชีพสูงที่สุดในกลุ่มประเทศแถบแปซิฟิก[34] ในปี ค.ศ. 1989 นาอูรูได้ฟ้องออสเตรเลียต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจากความล้มเหลวของออสเตรเลียในการแก้ไขความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ฟอสเฟตเมื่อครั้งที่ออสเตรเลียมีอำนาจบริหารกิจการต่าง ๆ ในนาอูรู[32][35]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ประเทศนาอูรู http://166.122.164.43/archive/2000/April/04-03-19.... http://www.sbs.com.au/news/article/2014/03/13/naur... http://www.austlii.edu.au/au/journals/ComJlLocGov/... http://www.cawcr.gov.au/projects/PCCSP/pdf/6._Naur... http://www.cawcr.gov.au/projects/PCCSP/pdf/6_PCCSP... http://www.dfat.gov.au/geo/nauru/nauru_brief.html http://trove.nla.gov.au/ndp/del/article/971354 http://www.islandsbusiness.com/news/nauru/1413/pre... http://upfront.scholastic.com/top_news/2011/11/a-s... http://www.thearda.com/internationalData/countries...