ลัทธิชาตินิยมและรัฐนิยม ของ ประเทศไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง

ฝ่ายทหาร ซึ่งขณะนี้นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเรือนเสรีนิยม นำโดยปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทำงานรวมกันอย่างสมานฉันท์เป็นเวลาหลายปี แต่เมื่อหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2481 ความร่วมมือนี้กลับพังลง และการครอบงำของทหารกลายมาเด่นชัดขึ้น หลวงพิบูลสงครามเป็นผู้เลื่อมใสเบนิโต มุสโสลินี และรัฐบาลของเขาเริ่มมีลักษณะฟาสซิสต์บางประการ ต้น พ.ศ. 2482 คู่แข่งทางการเมือง 40 คน ทั้งนิยมพระมหากษัตริย์และนิยมประชาธิปไตย ถูกจับกุม และหลังจากการพิจารณาคดีที่เป็นแผนหลอกลวง 18 คนถูกประหารชีวิต นับเป็นการประหารชีวิตทางการเมืองครั้งแรกในสยามในรอบกว่าศตวรรษ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระยาทรงสุรเดช ต่างเสด็จลี้ภัย หลวงพิบูลสงครามเริ่มการรณรงค์ซึ่งเป็นการปลุกปั่นต่อชนชั้นธุรกิจชาวจีน โรงเรียนและหนังสือพิมพ์จีนถูกปิด และมีการเพิ่มภาษีต่อธุรกิจจีน

จอมพล ป. พิบูลสงครามและหลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) โฆษกด้านอุดมการณ์ของรัฐบาล ลอกเทคนิคการโฆษณาชวนเชื่อที่ฮิตเลอร์และมุสโสลินีใช้เพื่อสร้างลัทธิผู้นำ ด้วยตระหนักถึงพลังของสื่อมวลชน ทั้งสองจึงใช้การผูกขาดการแพร่สัญญาณวิทยุของรัฐบาลเพื่อให้ประชาชนสนับสนุนรัฐบาล คำขวัญของรัฐบาลซึ่งเป็นที่นิยมมีการออกอากาศอย่างต่อเนื่องทางวิทยุและมีการปิดประกาศทางหนังสือพิมพ์และป้ายโฆษณา ภาพของหลวงพิบูลสงครามสามารถพบเห็นได้ทุกหนแห่งในสังคม ขณะที่พระบรมฉายาลักษณ์ของอดีตพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงวิจารณ์ระบอบเผด็จการ ถูกห้าม ในขณะเดียวกัน เขาผ่านกฎหมายเผด็จการออกมาจำนวนหนึ่งซึ่งให้อำนาจแก่รัฐบาลแทบไร้ข้อจำกัดในการจับและตรวจพิจารณาสื่ออย่างสมบูรณ์ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง หนังสือพิมพ์ได้รับคำสั่งให้พิมพ์แต่ข่าวดีที่ส่งมาจากแหล่งข่าวฝ่ายอักษะ ขณะที่ความคิดเห็นเสียดสีเกี่ยวกับสถานการณ์ภายในประเทศถูกห้าม

ป้ายประกาศนโยบายรัฐนิยมในเรื่องการแต่งกาย

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2482 จอมพล ป. พิบูลสงครามได้เปลี่ยนชื่อประเทศจาก สยาม มาเป็น ไทย[1] หมายถึง "ดินแดนของเสรีชน" (land of the free) ซึ่งนับเป็นท่าทีชาตินิยม เป็นการแสดงนัยเอกภาพของประชาชนที่พูดภาษาไททั้งหมด รวมทั้งภาษาลาวและภาษาฉาน แต่ไม่รวมภาษาจีน คำขวัญของรัฐบาลได้เปลี่ยนเป็น "ประเทศไทยสำหรับคนไทย" (Thailand for the Thai) อีกทั้งจอมพล ป. ได้ประกาศนโยบาย มหาอาณาจักรไทย โดยเป็นนโยบายขยายดินแดนของไทย มีแนวความคิดจะรวม ประเทศลาว กัมพูชา รัฐฉาน ในพม่า มณฑลยูนนาน และ เวียดนาม เข้าเป็นส่วนหนึ่งของไทย

การทำให้ทันสมัยยังเป็นอีกแก่นหนึ่งที่สำคัญในชาตินิยมไทยใหม่ของหลวงพิบูลสงคราม ตั้งแต่ พ.ศ. 2482 ถึง 2485 เขาออกประกาศรัฐนิยม 12 ฉบับ นอกเหนือจากการกำหนดให้คนไทยทุกคนเคารพธงชาติ รู้จักเพลงชาติ และพูดภาษาไทยสำเนียงภาคกลางแล้ว รัฐนิยมดังกล่าวยังกระตุ้นให้คนไทยทำงานหนัก ติดตามข่าวสารปัจจุบัน และแต่งกายแบบตะวันตก ห้ามผู้ชาย นุ่งโสร่ง โจงกระเบน ผู้หญิงเลิกนุ่งผ้าซิ่น สไบ รัฐบาลได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารมาตรวจตราตามสถานที่ต่างๆ มีการใช้กรรไกรมาตัดโจงกระเบนสำหรับผู้ที่ขัดขืนทิ้ง อีกทั้งจะมีคำสั่งห้ามกินหมาก โดยให้เจ้าหน้าที่ไปตัดทำลายต้นหมาก บางครั้งถึงขั้นจุดไฟเผาสวนหมาก ด้านการดนตรีได้มีคำสั่งให้นักดนตรีไทยห้ามนั่งเล่นดนตรี ต้องยืนเล่น และต้องมีใบอนุญาตเล่นดนตรีไทย หากขัดขืนก็จะถูกยึดเครื่องดนตรี

จนถึง พ.ศ. 2484 การเยาะเย้ยผู้พยายามส่งเสริมจารีตประเพณีไทยเป็นการผิดกฎหมาย โครงการดังกล่าวยังครอบคลุมถึงวิจิตรศิลป์ด้วย การแสดงและภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามและการทหารที่มีเนื้อหาชาตินิยมอย่างดุเดือดได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐบาล ความรักชาติมีสอนในโรงเรียนและเป็นแก่นไม่รู้จบในเพลงและการเต้นรำต่าง ๆ

ในขณะเดียวกัน หลวงพิบูลสงครามพยายามอย่างแข็งขันเพื่อขจัดอิทธิพลของผู้สนับสนุนพระมหากษัตริย์จากสังคม วันหยุดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ (royal holiday) แต่โบราณ ถูกแทนที่ด้วยเหตุการณ์แห่งชาติใหม่ และมีการยกเลิกบรรดาศักดิ์ไทยของชนชั้นสูง แม้แต่สถาบันสงฆ์ก็ยังได้รับผลกระทบเมื่อสถานภาพธรรมยุตินิกายที่ได้รับการอุปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์ถูกลดระดับลง

ขณะเดียวกัน โรงภาพยนตร์ทุกแห่งได้รับคำสั่งให้แสดงภาพของเขาในตอนจบการแสดงทุกครั้งราวกับเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ และผู้ชมถูกคาดหวังว่าจะลุกขึ้นยืนและโค้งคำนับ ลัทธิบูชาบุคคลที่กำลังเติบโตขึ้นของหลวงพิบูลสงครามอีกด้านหนึ่ง คือ การกลายมาปรากฏชัดในการตกแต่งอย่างเป็นทางการ เขาเกิดในปีระกา และสัญลักษณ์นี้เริ่มใช้แทนกงล้อ คล้ายกับการที่สีเขียว (สีประจำวันพุธอันเป็นวันเกิดของเขา) ก็ถูกใช้ในการตกแต่งเช่นกัน

แหล่งที่มา

WikiPedia: ประเทศไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง http://www.csmngt.com/thailand_history.htm http://www.mansell.com/pow_resources/camplists/dea... http://www.winbookclub.com/bookdetail.php?bid=2 http://www.ww2f.com/topic/12620-vichy-versus-asia-... http://www.ibiblio.org/pha/timeline/411208ewp.html http://www.matichon.co.th/news/521630 http://www1.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2484/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2486/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2489/A/...