เริ่มสงคราม ของ ประเทศไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง

ดูบทความหลักที่: การบุกครองไทยของญี่ปุ่น
ภาพจำลองเหตุการณ์การรบของยุวชนทหารที่เชิงสะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร

หลังการเข้ามามีบทบาทของญี่ปุ่นในเหตุการณ์นี้ เป็นที่คาดหมายว่า ญี่ปุ่นจะยาตราทัพเข้าสู่ประเทศไทยแน่ในอนาคต[3][4][5] ขณะเดียวกัน จอมพล ป. ประกาศให้ประเทศไทยเป็นกลาง[ต้องการอ้างอิง] และได้รณรงค์ให้ประชาชนปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ และการเสริมสร้างเศรษฐกิจระดับต้น ๆ อย่างเข้มแข็ง เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เช่นการออกพระราชบัญญัติสงวนอาชีพบางประเภท ที่ส่วนมากเป็นงานฝีมือ เฉพาะแก่คนไทย เป็นต้น[ต้องการอ้างอิง]

ทูตทหารบกของกลุ่มประเทศตะวันตกประจำกรุงเทพมหานครแจ้งต่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้เร่งรัดปรับปรุงกองทัพ เพื่อรับมือกับสถานการณ์สงครามขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับทั้งมีความเห็นว่าควรหลีกเลี่ยงการสู้รบกับกองทัพญี่ปุ่น เพราะจะทำให้เกิดความสูญเสียอย่างหนัก และประเทศไทยจะหวังพึ่งชาติอื่นไม่ได้เลย ก่อนกองทัพญี่ปุ่นจะบุกเอเชียอาคเนย์ 2 เดือน บรรดาทูตทหารตะวันตกประจำประเทศไทยได้แจ้งให้ทราบเป็นการลับเฉพาะว่า ญี่ปุ่นจะบุกอินโดจีนผ่านประเทศไทยทางด้านอรัญประเทศ เพื่อมุ่งไปโจมตีพม่า และจะมีกำลังหนึ่งกองพลตรึงอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ส่วนอีกสี่กองทัพใหญ่จะกระจายขึ้นตามฝั่งทะเลภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ไปถึงโกตาบารู ซึ่งเป็นแผนการที่แน่นอน[ต้องการอ้างอิง]

มีความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะรุกรานประเทศของท่านในเร็ววันนี้ ถ้าท่านถูกโจมตีจงป้องกันตนเอง การธำรงไว้ซึ่งอิสรภาพและอธิปไตยอันสมบูรณ์ของประเทศไทยคือผลประโยชน์ของบริเตน และเราจะถือว่าการโจมตีต่อท่านเสมือนเป็นการโจมตีขึ้นแก่ตัวเรา— ข้อความจาก นายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิล ถึงจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ลงวันที่ 8 ธันวาคม 1941[6]

บรรยากาศโดยทั่วไปทั้งในพระนครและต่างจังหวัด ประชาชนต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ในเหตุการณ์สงครามที่อาจเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้ เพลงปลุกใจจำนวนมากได้ถูกเปิดขึ้นโดยสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โดยส่วนมากจะเป็นเพลงมาร์ชของเหล่าทัพต่าง ๆ[ต้องการอ้างอิง]

ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ตั้งแต่เวลาประมาณ 02.00 น. กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี ปัตตานีและบางปู สมุทรปราการ และบุกเข้าประเทศไทยทางบกที่อรัญประเทศ กองทัพญี่ปุ่นสามารถขึ้นบกได้โดยไม่ได้รับการต่อต้านที่บางปู ส่วนทางภาคใต้และทางอรัญประเทศมีการต่อสู้ต้านทานอย่างหนักของทหารไทย ประชาชนทั่วไปและอาสาสมัครที่เป็นเยาวชน ที่เรียกว่า ยุวชนทหาร ในบางจังหวัด เช่นการรบที่สะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร กล่าวคือ กลุ่มยุวชนทหารและกองกำลังผสมทหารตำรวจซึ่งกำลังจะต่อสู้ปะทะกันอยู่ที่สะพานท่านางสังข์ โดยที่กลุ่มยุวชนทหารนั้นมีผู้บังคับการคือร้อยเอกถวิล นิยมเสน ในระหว่างการสู้รบร้อยเอกถวิลนำกำลังยุวชนทหารออกมาปะทะกองทหารญี่ปุ่น แม้ร้อยเอกถวิลจะถูกทหารญี่ปุ่นยิงเสียชีวิต แต่ยุวชนทหารยังคงสู้ต่อไปจนกระทั่งรัฐบาลสั่งหยุดยิง เมื่อเวลา 11.00 น. โดยประมาณ เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นทราบว่ากลุ่มยุวชนทหารหลายคนเป็นเพียงนักเรียนมัธยมศึกษา จึงส่งหนังสือเชิดชูความกล้าหาญมายังกระทรวงกลาโหม และร้อยเอกถวิล นิยมเสน ได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นพันโท ส่วนการเชิดชูเกียรติของยุวชนทหารผู้เสียชีวิตและผู้ร่วมต่อสู้ในครั้งนั้น มีอนุสาวรีย์ยุวชนทหารอยู่ที่ริมสะพานท่านางสังข์ เป็นรูปยุวชนทหารพร้อมกับอาวุธปืนยาวติดดาบปลายปืน ในท่าเฉียงอาวุธ ยืนอยู่บนแท่น สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2524[ต้องการอ้างอิง]

ต่อมารัฐบาลได้ประกาศกฎอัยการศึก ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เวลา 20.45 น.[7]โดยใช้บังคับทั่วประเทศไทย โดยมี จอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ กฎอัยการศึกใช้ต่อเนื่องและยกเลิกในวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2489 เวลา 6.00 น.[8]โดยมีหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ซึ่งในระยะแรกกองทัพญี่ปุ่นยังไม่อาจบุกเข้ามาได้ ทางญี่ปุ่นเองได้ประกาศว่า ไม่ต้องการยึดครองประเทศไทยแต่จะขอใช้ไทยเป็นทางผ่านไปยังพม่าและอินเดีย เท่านั้น การต่อสู้ทำท่าว่าจะยืดเยื้อต่อไป จนกระทั่งอัครราชทูตญี่ปุ่นเดินทางมาพบนายกรัฐมนตรีเมื่อเวลาประมาณ 07.55 น. พร้อมกับคำขู่ว่า ญี่ปุ่นได้เตรียมเครื่องบินทิ้งระเบิดไว้ 250 ลำที่ไซ่ง่อน เพื่อจะมาทิ้งระเบิดกรุงเทพมหานคร ถ้าไทยไม่ยอมให้ผ่าน มีกำหนดเวลา 10.30 น. [9] รัฐบาลไทยเห็นว่า ไม่อาจต้านทานกองกำลังญี่ปุ่นได้นาน จึงยอมยุติการต่อสู้ และประกาศทางวิทยุให้ทุกฝ่ายหยุดยิง เมื่อเวลา 10.00 น. ในวันที่ 11 ธันวาคม และในวันที่ 17 ธันวาคม รัฐบาลไทยโดยจอมพล.ป ได้รับคำปรึกษาจากทูตทหารเยอรมันให้ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นเนื่องจากสถานการณ์ทางการรบของญี่ปุ่นกำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบ จนในที่สุดในอีก 4 วันต่อมา รัฐบาลไทยได้ทำพิธีลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในวันที่ 21 ธันวาคม ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และในวันที่ 25 มกราคม สถานการณ์ผลจากสงครามทวีความรุนแรงขึ้นอัครราชทูตญี่ปุ่นได้ชักชวนรัฐบาลไทยให้ร่วมลงนามเป็นพันธมิตรทางการทหารกับฝ่ายอักษะอย่างเต็มตัวโดยมีการลงนามโดยผ่านสถานทูตญี่ปุ่นและเยอรมันประจำกรุงเทพมหาครและได้ยกเลิกความสัมพันธ์กับประเทศกลุ่มฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งหมด[3]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ประเทศไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง http://www.csmngt.com/thailand_history.htm http://www.mansell.com/pow_resources/camplists/dea... http://www.winbookclub.com/bookdetail.php?bid=2 http://www.ww2f.com/topic/12620-vichy-versus-asia-... http://www.ibiblio.org/pha/timeline/411208ewp.html http://www.matichon.co.th/news/521630 http://www1.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2484/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2486/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2489/A/...